/

“สมัยก่อนแม่น้ำกว้างกว่านี้ แม่น้ำจะอยู่ติดตึกเลย ซุงลอยเต็มแม่น้ำ โดยส่วนใหญ่จะมาจอดตรงท่าเดชาฯ ตอนเป็นเด็ก ผมยังไปวิ่งเล่นบนซุงที่มันลอยแพมาเลย”

Start
204 views
12 mins read

“เมื่อก่อนผมอยู่ชุมชนป้อมหนึ่ง ใกล้ๆ ตลาดลาวในตัวเมืองนครสวรรค์ ที่เรียกว่าตลาดลาวนี่ไม่ใช่คนลาวหรอก แต่เป็นคนจากภาคเหนือล่องเรือขนสินค้ามาขาย บางส่วนก็มาตั้งรกรากที่ปากน้ำโพ คนจีนที่นี่เรียกคนเหนือว่าลาว ก็เลยเรียกตลาดลาว แต่หลังๆ มาก็กลายเป็นคนเชื้อสายจีนอยู่เสียเยอะ

ตลาดลาวอยู่ติดแม่น้ำปิง เดินเท้าไปไม่ไกลก็คือปากแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงพาสานบนเกาะยมนั่นแหละ พวกเราอยู่ทันเห็นสมัยที่ตรงนั้นเป็นศูนย์กลางของการขนส่งทางเรือ ตรงตลาดเทศบาลก็มีท่าเรือที่รับคนไปชุมแสง อีกสายไปก้าวเลี้ยว ขณะที่เรือที่สวนมาส่วนหนึ่งจะเป็นเรือขนข้าวสารไปส่งภาคเหนือ ถ้าใครจะเดินทางไปภาคเหนือ ก็มาขึ้นเรือหางยาวที่นี่ 

สมัยก่อนแม่น้ำกว้างกว่านี้ แม่น้ำจะอยู่ติดตึกเลย ซุงลอยเต็มแม่น้ำโดยส่วนใหญ่จะมาจอดตรงท่าเดชาฯ ตอนเป็นเด็ก ผมยังไปวิ่งเล่นบนซุงที่มันลอยแพมาเลย

ส่วนศูนย์กลางการค้าบนฝั่ง ต้องตึกเหลืองและตึกแดง อยู่ติดกับตรอกท่าเรือจ้าง คนขายของในนั้นเต็มไปหมด เขาก็เอาของที่ขนส่งกันทางเรือขึ้นฝั่งมาขาย ยังไม่มีห้างสรรพสินค้าอย่างทุกวันนี้

จนมีการสร้างถนนเชื่อมนครสวรรค์เข้ากรุงเทพฯ และมีการสร้างสะพานเดชาติวงศ์นั่นแหละ การคมนาคมขนส่งทางเรือจึงค่อยๆ หายไป นครสวรรค์จึงเปลี่ยนบทบาทจากศูนย์กลางขนส่งทางเรือ มาเป็นเมืองที่คนขับรถต้องแวะพักก่อนเดินทางขึ้นภาคเหนือ หรือคนจากภาคเหนือเดินทางลงภาคกลาง

พอเรียนจบ ผมก็ย้ายจากตัวเมืองไปบรรจุอยู่โรงเรียนรอบนอก จนใกล้เกษียณก็ย้ายกลับเข้ามา ตอนนี้อยู่ชุมชนหนองปลาแห้ง แล้วความที่ลูกไปเรียนมหาวิทยาลัยและรวดทำงานที่กรุงเทพฯ ก็เลยมีเวลามาทำอาสาสมัครชุมชน ไปๆ มาๆ ก็กลายเป็นประธานชุมชน เป็นมาได้ 3 สมัยแล้ว

ชุมชนหนองปลาแห้งมีอยู่ราว 160 ครัวเรือน แต่เดิมที่ดินตรงนี้เป็นวัดเก่าแก่ เลยเป็นที่ของสำนักพุทธศาสนา ลูกบ้านบางส่วนเป็นทหารเกษียณมาอยู่ บางส่วนเป็นพนักงานของบริษัทเสริมสุข เพราะชุมชนนี้อยู่ใกล้ทั้งค่ายทหาร (ค่ายจิรประวัติ) และโรงงานของเสริมสุข ที่ผมมาทำงานชุมชน เพราะผมเป็นครูมาก่อน มีความรู้ มีทักษะในการประสานงานกับราชการ ขณะเดียวกันก็มีเวลาพอ และก็ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องรายได้เพราะมีบำนาญอยู่แล้ว เลยอยากมาช่วยเหลือสังคม

ถ้าเฉพาะในชุมชนของเรา ผู้สูงอายุเยอะครับ เรามี 160 ครัวเรือน จำนวนผู้สูงอายุนี่ร้อยกว่าราย เด็กๆ แทบไม่มี คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ก็ไปทำงานต่างเมืองหมด แต่ในภาพรวมในเขตเทศบาล เราเริ่มเห็นคนรุ่นใหม่กลับเข้ามาบ้างแล้วนะ เป็นแนวโน้มที่ดี แต่ในระดับชุมชนเล็กๆ คณะกรรมการชุมชนอย่างพวกเราก็ต้องพึ่งพาสาธารณสุขบ่อยหน่อย เพราะต้องช่วยกันดูแลคนแก่

ที่ชอบเมืองนี้ เพราะผู้คนรักกันดี ยิ้มแย้มแจ่มใส เคารพซึ่งกันและกัน รวมถึงเชื่อในบรรพบุรุษ และเพราะเป็นแบบนี้ประเพณีตรุษจีนของเราจึงเข้มแข็งและมีชื่อเสียง หรือในระดับชุมชนที่ผมดูแล เห็นเงียบๆ แบบนี้ แต่ทุกคนให้ความร่วมมือดีมากเลยนะ ใครลำบากอะไร ก็พร้อมช่วยเหลือ มีจิตสาธารณะ อย่างเช้ามา ตี 5 คนในชุมชนบางส่วนเขาก็ตื่นขึ้นมากวาดถนน ทำความสะอาดซอยบ้านตัวเองกัน ก่อนจะรอใส่บาตรพระ เทศบาลเขายังมาชมเลยว่าชุมชนเราสะอาด

และวิถีชุมชนของเราแบบนี้ ยังปรากฏในหลายชุมชนทั่วเมืองนครสวรรค์นะ จริงอยู่ ถ้าในย่านการค้าใจกลางเมืองมันอาจจะไม่ค่อยมีแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต่างคนต่างอยู่ เขาก็สร้างความร่วมมือในแบบอื่นๆ โดยเฉพาะกับความร่วมมือกับทางเทศบาลในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับเมือง

ขณะเดียวกัน ผมเชื่อว่าคนในเมืองส่วนใหญ่ทราบดีว่าเมืองกำลังจะมีการพัฒนาครั้งใหญ่ในอีกไม่ช้า ทั้งศูนย์การค้า รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และอื่นๆ แต่ผมเชื่อว่า ถ้าคนนครสวรรค์ยังรักษาจุดเด่นด้านความร่วมมือและจิตสาธารณะแบบนี้ไว้ได้ เมืองของเราน่าจะเติบโตไปอย่างมีทิศทาง”  

ประสิทธิ์ พงษ์ไพบูลย์ และบุปผา พงษ์ไพบูลย์
ประธานชุมชนหนองปลาแห้ง และประธานอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) เทศบาลนครนครสวรรค์

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย