/

สิ่งที่ควรส่งเสริมให้คนลำปางเรียนรู้เป็นพิเศษ คือการเรียนรู้ที่จะร่วมมือกันเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

Start
471 views
16 mins read

“ลำปางเป็นเมืองที่มีต้นทุนที่ดีเลยนะครับ ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ ไปจนถึงความร่วมมือในด้านวิชาการ และภาคประชาสังคมที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเมืองมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ผมมองว่าพอต้นทุนเหล่านี้มันไม่ได้ถูกเชื่อมประสานร่วมกัน เมืองมันจึงค่อนข้างเดินช้ากว่าที่ควรจะเป็น

เช่นว่าพอรัฐโปรโมทให้เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว แต่เรากลับยังขาดโครงสร้างพื้นฐานมารองรับหรือกระทั่งการสื่อสารวิธีการท่องเที่ยวในเมืองเราก็ยังไม่มี คือถ้านักท่องเที่ยวไม่ได้ขับรถส่วนตัวมาเอง เขานั่งเครื่องบิน รถทัวร์ หรือรถไฟมา ถ้าไม่ใช่รถสองแถวที่วิ่งประจำ หรือมีเบอร์รถแท็กซี่ส่วนบุคคลที่มีค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว เขาก็ไม่มีทางเลือกอื่นเลย หรือถ้าเขาจะไปวัดพระธาตุลำปางหลวง หรือวัดเฉลิมพระเกียรติที่อยู่อำเภอแจ้ห่ม ผมเป็นคนลำปางเอง ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปได้ยังไงเลยนะครับ เช่นไปวัดเฉลิมพระเกียรติ คุณจะต้องนั่งประจำทางรถไปลงงาวซึ่งรถจะมาส่งคุณแค่ปากทาง จากนั้นก็ต้องนั่งประจำทางของที่นั่นเพื่อไปยังตีนดอยอีกต่อ แล้วก็เปลี่ยนมานั่งรถรับจ้างของชุมชนเพื่อขึ้นไปยังยอดดอย สรุปคุณจะไปสถานที่ที่เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คของจังหวัดโดยไม่ใช้รถส่วนตัว คุณต้องนั่งรถถึง 4 ต่อ แทนที่การใช้รถสาธารณะจะถูกกว่ารถส่วนตัว คุณกลับต้องจ่ายแพงและใช้เวลามากกว่าอีก

หรือลำพังแค่การเดินทางภายในเมือง ดีหน่อยที่เดี๋ยวนี้มี grab car มาให้บริการแล้ว แต่เมื่อก่อน ถ้าคุณไม่นั่งรถสองแถวที่มีเส้นทางจำกัด คุณก็แทบไปไหนไม่ได้เลยนะ จะเช่ารถมอเตอร์ไซค์ หรือลำพังแค่จักรยานก็ยังแทบหาไม่ได้ ตรงนี้แหละที่เมืองเรายังขาด ยังไม่นับรวมที่เมืองเราไม่มีโรงแรมในระดับบนเปิดให้บริการอีก ถ้าคุณจะมาเที่ยวลำปางด้วยตัวคุณเอง คุณจึงต้องเตรียมข้อมูลเยอะมาก หน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่สนับสนุนการท่องเที่ยวก็ดูเหมือนขาดการบูรณาการข้อมูลเหล่านี้ไว้ด้วยกัน สุดท้ายรูปแบบการท่องเที่ยวของเมืองเราก็เลยกลายเป็นว่านักท่องเที่ยวพักที่เชียงใหม่ และเช่ารถจากเชียงใหม่ขับมาเที่ยวลำปางแบบไปเช้า-เย็นกลับแทน

การมีโครงสร้างที่ไม่ถูกทำให้ประสานกันแบบนี้ มันยังลามไปถึงแนวทางการบริหารจัดการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ด้วยนะครับ อย่างลำปางเรามีเทศบาลสองแห่งคือ เทศบาลนครลำปางในเขตตัวเมือง กับเทศบาลเขลางค์นครเขตรอบนอก โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดคลุมทับอีกที แต่ที่เป็นอยู่ตอนนี้คือเทศบาลนครลำปางกับ อบจ. ดูเหมือนจะไม่ยอมทำงานร่วมกัน ถ้าเทศบาลทำพื้นที่ไหนแล้ว อบจ.ก็จะไม่ยุ่ง ในทางกลับกัน ถ้า อบจ.ทำในบางพื้นที่ในเมือง เทศบาลก็จะไม่ยุ่ง อาจด้วยขั้วทางการเมือง หรืออย่างอื่น ซึ่งผมไม่รู้ว่าด้วยสาเหตุอะไร แต่ผลกระทบมันตกมาที่คนในเมืองโดยตรง เพราะแทนที่เมืองจะได้พัฒนาต่อจากความร่วมมือของหน่วยราชการ แต่มันกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น

นอกจากนี้ ความที่ผมทำงานในภาคประชาสังคม มีอีกประเด็นที่ผมมองว่าน่าเป็นห่วงคือ ล่าสุดเทศบาลเพิ่งนำนโยบายใหม่ของกระทรวงมหาดไทยเรื่องการขยายชุมชนมาใช้ แต่เดิมเรามีชุมชนอยู่ในพื้นที่ 43 ชุมชน แต่เขาต้องการขยายเป็น 80 กว่าชุมชน ทั้งที่จำนวนบ้านหรือครัวเรือนเท่าเดิม ผมไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลอันใด แต่ความที่เราคลุกคลีกับงานในชุมชน ผมก็รู้ว่าในหลายชุมชนค่อนข้างจะมีปัญหาหรือขั้วทางการเมืองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การขยายแบบนี้ อาจจะง่ายต่อราชการในการจัดสรรทรัพยากรใหม่ แต่แล้วทรัพยากรเดิมในพื้นที่ล่ะจะเป็นอย่างไร

เพราะโดยพื้นฐานชุมชนหนึ่งมีวัดประจำชุมชนอยู่แล้ว แต่พอคราวนี้คุณแตกออกเป็น 4 ชุมชน ซึ่งวัดที่เป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมมีแห่งเดียว ทีนี้จะตกลงยังไง ไหนจะพื้นที่ทับซ้อนอื่นๆ ที่ถ้าเกิดชุมชนที่แตกออกมาดันมีปัญหาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การทำแผนชุมชนที่แตกต่างกันในพื้นที่ทับซ้อนกันก็จะยิ่งสร้างปัญหาเพิ่มเข้าไปใหญ่ คือเรามีตัวอย่างในระดับเมืองที่เทศบาลกับ อบจ.ไม่ประสานกัน การแยกชุมชนออกไปเป็นเท่าตัวขนาดนี้ ก็น่ากังวลเรื่องการประสานงานหนักเข้าไปใหญ่นะครับ

ส่วนคำถามว่าเราควรส่งเสริมให้คนลำปางเรียนรู้เรื่องอะไรเป็นพิเศษ ผมมองว่าการเรียนรู้ที่จะร่วมมือกันเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมคือเรื่องจำเป็นมากๆ ซึ่งหมายรวมถึงผู้หลักผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจในส่วนราชการด้วยครับ ส่วนอีกเรื่องคือการสนับสนุนให้เมืองมีการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทุกวันนี้ในโรงเรียนเกือบทั้งหมดในลำปาง เราไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ของตัวเองเลยนะครับ ลูกชายผมตอนนี้เรียน ป.6 วันก่อนผมทราบว่าวิชาสังคมเขาได้เรียนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับภาคใต้มา แต่พอผมถามเขาเรื่องประวัติศาสตร์ของเมืองเรา เขากลับไม่รู้ เพราะไม่ได้เรียน ผมก็พยายามประสานกับเครือข่ายและเทศบาลให้พิจารณาเอาหลักสูตรท้องถิ่นกลับเข้ามาในโรงเรียนอยู่

เพราะเรื่องเรียนรู้เทคโนโลยี เรียนรู้นวัตกรรมที่มาช่วยอำนวยความสะดวกต่อการทำมาหากิน ผมไม่ค่อยกังวลหรอก เพราะคนรุ่นใหม่เขามีพื้นฐานที่ดีกันอยู่แล้ว แต่การที่เราจะเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนไปสู่อนาคต แต่กลับไม่รู้รากฐาน ไม่รู้รากเหง้าของตัวเอง มันก็แปลกๆ ยังไงอยู่นะครับ”  

ศุภณกร ทิมมาศย์
ผู้ประกอบการเจ้าของร้าน At One และคณะกรรมการกาดกองต้า

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย