“สิ่งที่จะช่วยหนุนเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้สามารถทำธุรกิจที่บ้านเกิดตัวเองได้อย่างยั่งยืน คือการมีข้อมูลระดับท้องถิ่นที่พร้อมให้ทุกๆ คนเข้าถึง”

Start
334 views
11 mins read

“ต้องยอมรับว่าพื้นที่การเรียนรู้ภายในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ยังไม่โดดเด่นเท่าไหร่ ถึงอย่างนั้น เทศบาลเราก็พยายามจะปรับความได้เปรียบเรื่องพื้นที่สาธารณะที่เรามีอยู่หลายแห่ง ให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้สำหรับทุกคนในครอบครัว

ไม่ว่าจะเป็นอุทยานสวรรค์ หรือที่คนนครสวรรค์เรียกว่า ‘หนองสมบุญ’ สวนสาธารณะขนาดใหญ่กลางใจเมือง แหล่งพักผ่อนสำคัญของผู้คนในเขตเทศบาล ซึ่งเราก็พยายามประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ให้เข้ามาจัดกิจกรรมด้านการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หรือ ‘คลองญวนชวนรักษ์’ พื้นที่สาธารณะกว่า 300 ไร่ ที่ทางเทศบาลเข้าไปปรับปรุงเกาะญวน บริเวณที่อยู่อาศัยเดิมของชาวญวนที่ถูกแม่น้ำตัดขาด จนเกิดเป็นเกาะใกล้ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงาน การบำบัดน้ำเสีย และการหมุนเวียนน้ำ โดยเราได้ริเริ่มปรับปรุงพื้นที่ต้นคลองและท้ายคลองเสร็จแล้ว เหลือเพียงพื้นที่ตอนกลางที่ยังอยู่ระหว่างการตั้งงบประมาณเพื่อเสริมให้พื้นที่ที่เหลือเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต

อีกพื้นที่ที่ไม่พูดไม่ได้คือ ‘พาสาน’ แลนด์มาร์คแห่งใหม่บริเวณต้นแม่น้ำเจ้าพระยา โดยชั้นล่างของพาสานเรามีพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์และความเป็นมาของชาวปากน้ำโพ ขณะที่พื้นที่โดยรอบก็เป็นสวนหย่อมกลางน้ำ ซึ่งยังสามารถนั่งเรือต่อไปยังศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าแม่ทับทิม ไปสักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมือง และเรียนรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมจีนได้ด้วย ทั้งนี้ในอนาคต ทางเทศบาลมีแผนจัดสร้างอุทยานวัฒนธรรมต้นแม่น้ำเจ้าพระยา โดยตั้งอยู่พื้นที่ด้านหลังพาสาน เป็นแหล่งเรียนรู้รากเหง้าของคนนครสวรรค์ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเมือง รวมถึงการสร้างสะพานคนเดิน เชื่อมให้คนที่อาศัยในย่านตลาดเก่า เดินข้ามมาพักผ่อนยังอุทยานแห่งนี้ได้อย่างสะดวก

ในฐานะที่ผมดูแลเรื่องการศึกษาในเขตเทศบาลฯ ซึ่งรับผิดชอบโรงเรียน 9 แห่ง และ 12 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เรายังให้ความสำคัญกับการดูแลสวัสดิภาพและสาธารณสุขของชุมชนโดยรอบโรงเรียน ด้วยมองเห็นว่าการหนุนเสริมให้ผู้ปกครองอยู่ดีมีสุข พวกเขาจะเห็นถึงความสำคัญในด้านการศึกษา เด็กๆ ก็จะไม่หลุดออกจากระบบ

และด้วยแนวทางสมาร์ทซิตี้ เราได้ทำระบบจัดเก็บข้อมูลของผู้คนในเขตเทศบาลอย่างครอบคลุม เพื่อนำมาประมวลผลถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไข รวมถึงโปรแกรมอัจฉริยะสำหรับบริหารการศึกษา นำข้อมูลที่ได้มาออกแบบหลักสูตรที่ตอบโจทย์เด็กนักเรียนในเขตเทศบาล ซึ่งยังรวมถึงข้อมูลด้านสาธารณสุขที่จะมาช่วยดูแลผู้สูงอายุไปพร้อมกัน

ในฐานะที่เกิดและโตที่นครสวรรค์ แม้จะมีช่วงหนึ่งที่ไปเรียนและทำงานในกรุงเทพฯ บ้าง แต่ผมยังเห็นว่าเมืองของเรามีโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง มีความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ รวมถึงการเข้ามาของเทคโนโลยี ที่ทำให้คนรุ่นผมและคนรุ่นใหม่ๆ กลับมาทำงานหรือทำธุรกิจที่บ้านเกิด

ทั้งนี้ สิ่งที่จะช่วยหนุนเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้สามารถทำธุรกิจที่บ้านเกิดตัวเองได้อย่างยั่งยืน คือการมีข้อมูลระดับท้องถิ่นที่พร้อมให้ทุกๆ คนเข้าถึงและนำไปประยุกต์ใช้ แน่นอน ในภาพใหญ่เรามีข้อมูลหรือสถิติของอุตสาหกรรมต่างๆ พร้อมอยู่แล้ว แต่ในระดับเมือง เรายังขาดการรวบรวมอยู่พอสมควร จึงเป็นการยากที่จะหา supplier หรือแพลทฟอร์มที่ช่วยถอดบทเรียนธุรกิจต่างๆ

ผมจึงคิดว่าถ้ามีความร่วมมือในการรวบรวมและประมวลผลข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยสร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่อย่างมาก และเมื่อผู้ประกอบการรุ่นใหม่กลับมาทำธุรกิจในเมืองมากขึ้น นครสวรรค์ก็จะมีพลวัตรของความหลากหลายที่ช่วยพัฒนาให้เมืองเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง”

จตุรวิทย์ นิโรจน์ธนรัฐ
รองนายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย