/

“อยากให้แก่งคอยเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เรามีทรัพยากรที่พร้อมทั้งบุคคล สถานที่ และบรรยากาศ อยากให้เมืองกลายเป็นหนึ่งทางเลือกสำหรับคนเมืองที่คิดอยากมาพักผ่อน”

Start
146 views
16 mins read

“พี่เกิดแก่งคอยค่ะ โตมาในเมืองนี้ ได้ไปเรียนที่อื่นอยู่พักหนึ่ง หลังเรียนจบ เพราะเราผูกพันกับบ้านเกิด ก็เลยกลับมาทำงานที่นี่ อยากมีส่วนทำให้บ้านเมืองเราพัฒนา พี่เลยทำงานอยู่เทศบาลเมืองแก่งคอยได้ 30 ปีแล้ว

ถ้าย้อนกลับไปสมัยก่อน ตอนที่พี่กลับมาทำงานที่นี่ใหม่ๆ เงื่อนไขของเมืองแก่งคอยในเชิงสังคมก็ไม่ค่อยต่างจากปัจจุบันนี้นัก เด็กที่เติบโตที่นี่ พอไปเรียนกรุงเทพฯ หรือเมืองอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็เลือกจะไปทำงานที่เมืองนั้น น้อยคนจะกลับมาทำงานที่บ้าน เพราะนอกจากงานราชการกับโรงงาน แก่งคอยก็ไม่ได้มีทางเลือกด้านวิชาชีพเท่าใดนัก หรือกระทั่งงานในโรงงานอุตสาหกรรมก็ตาม ถึงแม้จะอยู่ในอำเภอแก่งคอย แต่ทั้งหมดก็ล้วนอยู่นอกเขตเทศบาล พื้นที่เทศบาลแก่งคอยจึงเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ

พอเมืองเรามีแต่ผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ความกระตือรือร้นก็ลดน้อยลง เพราะผู้สูงอายุเขาก็ทำงานมาทั้งชีวิตแล้ว พ่อส่งลูกหลานเรียนจบกันหมด จึงไม่ได้คิดถึงการต่อยอดอะไรมาก ซึ่งก็เป็นธรรมชาติที่เราเข้าใจได้ เมืองเราเงียบสงบดีก็จริง แต่มันก็ขาดชีวิตชีวา ขาดสีสัน รวมถึงธุรกิจใหม่ๆ ที่ช่วยดึงดูดให้ผู้คนมาอยู่อาศัย หรือให้คนรุ่นใหม่กลับบ้าน ก็เป็นเหมือนงูกินหางมาจนถึงปัจจุบัน

เทศบาลเมืองแก่งคอยก็อยากให้คนรุ่นใหม่กลับมาทำงานที่บ้านเกิดแหละค่ะ เพราะคนรุ่นใหม่คือกำลังสำคัญของการพัฒนาเมือง แต่เมื่อความเป็นจริงเรามีกำลังตรงนี้น้อย ท่านนายกเทศมนตรี (สมชาย วรกิจเจริญผล) ก็เลยพยายามผลักดันให้ทรัพยากรบุคคลที่เรามีอยู่แล้ว ช่วยทำให้เมืองน่าอยู่ ซึ่งนั่นก็คือกลุ่มเด็กและเยาวชนและผู้สูงอายุ นั่นจึงเกิดโครงการหรือกิจกรรมที่เราพยายามดึงคนทั้งสองรุ่นมาเจอกัน เชื่อมหน่วยงานต่างๆ มาช่วยสร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิดให้เด็กๆ หรือทำโครงการให้ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วม และช่วยเป็นแรงสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่

โดยเฉพาะเรื่องหลัง (กิจกรรมส่งเสริมผู้สูงอายุ) เทศบาลเราภายใต้การทำงานของกองสวัสดิการสังคมได้ทำ ‘โรงเรียนผู้สูงอายุ’ ขึ้น โดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้ผู้สูงอายุในพื้นที่ของเราอยู่ดีกินดี ได้เข้าสังคม และเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ รวมถึงทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องสุขภาพไปจนถึงกิจกรรมสันทนาการ

ปัจจุบันเรามีนักเรียนที่เป็นผู้สูงอายุประมาณ 70 คน ในแต่ละสัปดาห์โรงเรียนก็จะมีกิจกรรมที่หมุนเวียนให้ผู้สูงอายุที่สนใจเข้าร่วม โดยเฉลี่ยจะมีนักเรียนเข้าร่วมประมาณ 30-40 คน บางสัปดาห์ก็เป็นกิจกรรมออกกำลังกาย บางสัปดาห์เป็นเรื่องอาหารการกิน เป็นทักษะหัตถกรรมสำหรับประกอบอาชีพเสริม รวมถึงทักษะดิจิทัลสำหรับโลกสมัยใหม่ เป็นต้น

ถึงจะบอกว่าเป็นโรงเรียน แต่บรรยากาศการเรียนผ่อนคลายกว่านั้นเยอะ เหมือนชั่วโมงชมรมให้ผู้สูงวัยมาร่วมสนุกกันมากกว่า พวกท่านจะได้ไม่เครียด ไม่ต้องเหงาอยู่บ้าน หรือได้ตระหนักในคุณค่าของตัวเอง เพราะคนวัยเกษียณหลายคน พอไม่ได้ทำงานแล้วอยู่บ้านเฉยๆ บางทีพวกเขาก็คิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า และพอเครียดมากๆ เข้า ก็ส่งผลต่อสุขภาพ กลายเป็นคนป่วยง่าย เป็นภาระให้ลูกหลาน พื้นที่ตรงนี้จึงเหมือนเป็นเครื่องเยียวยาจิตใจของพวกท่านไปพร้อมกัน

ซึ่งพี่ก็ดีใจที่ช่วงหลังๆ ทางหอการค้าแก่งคอย ก็ดี บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ก็ดี เขาพยายามร่วมกันทำโครงการเพื่อพัฒนาเมือง ด้วยการดึงกลุ่มผู้สูงอายุเข้ามาด้วย อย่างงานแก่งคอยย้อนรอยสงครามโลกที่เป็นงานประจำปีของอำเภอ ทางกลุ่มเขาก็ชวนผู้สูงอายุจากโรงเรียนของเรามาขึ้นเวที บอกเล่าเรื่องราวในอดีตของเมืองแก่งคอยให้ลูกหลานที่นี่ได้ฟัง บางท่านทันเห็นช่วงสงครามโลก ก็เล่าได้เป็นฉากๆ สิ่งนี้ยังสะท้อนต้นทุนทางประวัติศาสตร์ของเมืองเราได้ดีอีกด้วย ในฐานะตัวแทนของเทศบาล พี่ก็ดีใจที่มีกลุ่มภาคเอกชนมาร่วมพัฒนาเมืองกับเราแบบนี้ เพราะต้องยอมรับว่าเทศบาลทำฝ่ายเดียวไม่ไหว ไหนจะระบบระเบียบราชการที่ทำให้การดำเนินงานล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น อันนี้ไม่รู้พูดได้หรือเปล่า ทุกวันนี้เทศบาลเราใช้รถขนขยะคันเก่ามากว่า 30 ปีแล้ว รถคันเดิมทำหน้าที่ต่อไปแทบไม่ไหวแถมยังสร้างมลภาวะให้กับเมืองด้วย ท่านนายกฯ มีแผนจะของบประมาณเพื่อซื้อรถขยะใหม่ ก็ต้องทำเอกสารไปยื่นส่วนกลางหลายรอบมาก จนผ่านมา 2 ปีแล้ว เรายังไม่ได้รถขยะเลย ทั้งที่จริงๆ นี่เป็นสิ่งพื้นฐานสำหรับการบริหารจัดการเมืองที่สุดแล้ว

นั่นแหละค่ะ พี่จึงมองว่าการร่วมมือกับเอกชนที่มีมุมมองไม่ติดกรอบราชการและมีความคล่องตัว จะช่วยทำให้เมืองเราพัฒนาได้ดีกว่าที่เป็นอยู่มาก 

ถามว่าอยากเห็นแก่งคอยพัฒนาไปในทิศทางไหน? พี่ขอตอบจากต้นทุนที่เรามีและจากการที่ทำงานกับผู้สูงอายุ พี่ว่าแก่งคอยน่าจะเติบโตเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพราะนอกจากเรามีกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นเหมือนฐานความรู้เกี่ยวกับเมือง ประวัติศาสตร์ และด้านการดูแลร่างกายต่างๆ เรายังมีทรัพยากรที่พร้อมทั้งวัด แม่น้ำ และแหล่งธรรมชาติที่อยู่รอบเมือง รวมถึงบรรยากาศผ่อนคลายไม่เร่งรีบ การมาเยือนแก่งคอย เหมือนได้มาพักผ่อนกับวิถีชุมชนและธรรมชาติ ที่สำคัญ เราอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียงขับรถชั่วโมงกว่าเท่านั้น ก็อยากให้เมืองกลายเป็นหนึ่งทางเลือกสำหรับคนเมืองที่คิดอยากมาพักผ่อน”     

พรเพ็ญ เทพสนธิ
รองนายกเทศมนตรีเมืองแก่งคอย

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย