อยากให้ใครมาเที่ยวขลุง ขลุงมีอะไรดี ส่วนใหญ่บอกว่าอาหารทะเล แต่ผมบอกว่าข้าว อ้าว ขลุงมีข้าวด้วยเหรอ นี่ไง ไม่รู้ มันเรียกข้าวสองน้ำ เป็นน้ำจืดน้ำเค็ม

Start
355 views
8 mins read

“พื้นที่ของขลุงมี 3 พื้นที่ เดิมทีคนไทยเราอยู่ตามริมคลองขลุง ตั้งแต่ถนนสุขุมวิทไล่มาจนถึงแยกบ้านขลุง รีสอร์ท ชุมชนคนจีนอยู่ในตลาด คนเวียดนามอยู่โซนบ้านล่าง ซึ่งแต่ก่อนเขากีดกันกันหมด คนเวียดนามไม่มีน้ำจืดกิน ต้องเดินมาตักน้ำ ไม่แลกปลากุ้ง เลยทำให้วัฒนธรรมความผูกพันมีก็จริงแต่ไม่ได้ลึกซึ้งนัก ตัวผมเองเข้ามาโครงการพื้นที่เมืองแห่งการเรียนรู้ คือเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่ง แม่ผมเป็นคนขลุงพื้นถิ่นที่นี่ มีเชื้อสายชองมาพัวพันด้วย พ่อผมเป็นลูกจีนกับลูกเวียดนามผสมกัน เป็นคาทอลิก ผมเป็นลูกเสี้ยวละ เป็นพุทธ เลยผสมวัฒนธรรมของจีน ไทย คาทอลิก รู้ว่าวัฒนธรรมมันเกิดขึ้นมาได้ยังไง เกิดมาจากคนเปลี่ยนแปลง ความเป็นไทย ความเป็นคาทอลิก แล้วผมเข้าไปคุยกับชาวบ้านในแต่ละกลุ่มได้หมด ชุมชนประชาร่มเย็นก็เป็นชุมชนคนไทยเก่าที่ไม่ได้ร่ำรวยนะ แต่ถ้าริมคลองขลุง ตรงสี่แยกโรงเจขึ้นไปถึงถนนสุขุมวิทซีกซ้ายทั้งหมดเป็นชุมชนเก่า ซึ่งมีประวัติศาสตร์ มีซากปรักหักพังของเมืองขลุงอยู่ บ้านเก่า หน่วยงานเก่า โรงเจมาสร้างทับไป แล้วตั้งแต่ริมสุขุมวิทมาถึงริมคลองจะเห็นบ้านใหญ่โตเป็นสิบๆ หลัง ตระกูลคนไทยที่มาอยู่ก็เกิดขึ้นมาจากริมคลองนี่แหละ

ผมมองเรื่องการเจริญเติบโตบนพื้นฐานความเป็นประวัติศาสตร์เมืองขลุง แต่ก็ไม่มีใครทำ ตอนทีมวิจัยเข้ามาจัดประชุมกลุ่ม ยิงคำถามว่า อยากให้ใครมาเที่ยวขลุง ขลุงมีอะไรดี ส่วนใหญ่บอกว่าอาหารทะเล แต่ผมบอกว่าข้าว อ้าว ขลุงมีข้าวด้วยเหรอ นี่ไง ไม่รู้ เพราะมันสูญพันธุ์ไปแล้ว ที่นั่งๆ กันอยู่ นาข้าวทั้งนั้น เรียก ข้าวสองน้ำ เป็นน้ำจืดน้ำเค็ม ซึ่งที่ผมโปรโมตว่าข้าวคือจุดเด่น อยากทำให้เป็นสินค้าตัวหนึ่งที่แตกต่าง ด้วยเหตุที่ว่าพื้นที่หรือภูมิทัศน์ของแต่ละที่บ่งบอกถึงผลผลิต กลิ่น รสชาติ ซึ่งจะแตกต่างกัน แต่พอไม่ได้รับการส่งเสริม มันก็หายไป กลายเป็นว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องซื้อข้าว สมัยก่อนน้ำก็ไม่ต้องซื้อ มีน้ำกิน ทุกวันนี้ต้องซื้อน้ำ เอาแค่สองอย่างนี้ก็ทำให้ลำบากกันหมด

คนที่ยังมีชีวิตอยู่ปัจจุบันเขาบอกว่า ถ้าพูดถึง เมืองขลุง มันคือพื้นที่ 3.18  ตารางกิโลเมตรในเขตเทศบาลเมืองขลุงเองนะ ถ้าโฟกัสเมืองแห่งการเรียนรู้ที่รวมตำบลตะปอนมาก็ต้องเป็นอำเภอขลุง แบ่งตามพื้นที่การปกครอง ไม่ต้องใช้คำว่า เมืองขลุง เพราะประวัติศาสตร์เมืองขลุงเขารู้ว่าอยู่ตรงศาลหลักเมือง โครงการพื้นที่เมืองแห่งการเรียนรู้ก็ดี ไปกระตุ้นจิตสำนึกวัฒนธรรมความเป็นรากเหง้าเรา ให้เด็กรุ่นใหม่ได้เห็นอะไรบ้าง เพียงแต่ติดเรื่องคนมาสานต่อ ไม่ให้ขาดช่วง ความเป็นเมืองขลุงดูเหมือนน่าจะมีอะไร แต่ตัวผู้นำท้องถิ่นยังไม่ได้รวบรวม ข้อมูลกระจัดกระจาย เหมือนเราดึงเทศบาลมาได้ละ พอหมดชุดปุ๊บ ว่ากันใหม่ วนไปอย่างนี้”

ศราวุธ เจียไพบูลย์
ประธานชุมชนประชาร่มเย็น เทศบาลเมืองขลุง

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย