/

อย่างน้องไข่ตุ๋น อยู่ป. 3 แม่ไม่อยู่เขาก็นั่งขายของให้แม่เขาได้ นี่ไง ตำราชีวิตเขาได้แล้ว

Start
282 views
23 mins read

โรงเรียนวัดตะปอนใหญ่เป็นโรงเรียนในตำบลตะปอน ตั้งอยู่ในที่ดินของวัด ตอนเย็นชุมชนได้ใช้เป็นสนามออกกำลังเล่นฟุตบอล เรามาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ก็ได้กลับมาบ้านเก่านะ ก็ตั้งใจเต็มที่ที่จะพัฒนา มีประสบปัญหาเรื่องงบประมาณเป็นหลัก เพราะโดยรวม อาคารโครงสร้างชำรุดทรุดโทรม ส่วนที่เราทำเองได้ หน่วยงานต้นสังกัดช่วยเหลือแล้ว บางทีก็ไม่เพียงพอ ของเราเลยยึดหลัก บวร บ้าน-วัด-โรงเรียน เอาให้แน่นเลย ท่านพ่อ พระครูสาราภินันท์ เจ้าอาวาสวัดตะปอนใหญ่รูปปัจจุบัน ซึ่งท่านเป็นเจ้าคณะตำบลเกวียนหักด้วย ดูแลตั้งแต่วัดเกวียนหัก วัดตะปอนใหญ่ วัดตะปอนน้อย วัดหนองเสม็ด และวัดคานรูด เวลาโรงเรียนติดขัดอะไร ท่านพ่อก็มีส่วนร่วมสนับสนุน ชุมชนบวร เราดึงพลังจากคนในชุมชนมาช่วย หน่วยงานในพื้นที่มีความร่วมมือร่วมใจกันดี เลยทำให้จากอาคารเรียนทั้งสองหลังที่เก่าแก่ทรุดโทรม ก็พลิกฟื้นขึ้นมา

มีเด็กนักเรียน 60 กว่าคน ชั้นอนุบาล 2 ถึงป. 6 ขนาดเล็กมาก ตอนที่มารับตำแหน่งปี 2559 มีเด็ก 40 คน บางปีก็ไปแตะที่ 70 คน บางคนอยู่ไกลพื้นที่ ก็ขี่รถพาเด็กมา เราพร่ำบอกคุณครูว่า ความศรัทธาไม่ได้สร้างแค่วันสองวัน คุณครูต้องอดทนที่จะสร้างศรัทธา จำนวนเด็กเกิดก็ไม่ต่างกันในแต่ละปี แต่เราต้องยึดในด้านคุณภาพ ความเป็นคนดี มีคุณธรรม อันนี้ในส่วนตัวคิดว่าสำคัญกว่าความเก่งกล้าในวิชาการ ซึ่งเราจะทำให้ตรงวิชาการโดดเด่นขึ้นมาก็ทำได้ยากด้วย ส่วนนึงการจราจรสะดวก ผู้ปกครองมีกำลัง ก็ส่งไปเรียนในเมืองหมด อย่างนี้ส่วนใหญ่ก็เด็กในละแวกชุมชน โชคดีที่เราอยู่ใกล้วัด วางแนวทางบริหารเน้นความปลอดภัย ปลูกฝังคุณธรรมให้นักเรียน ทุกวันศุกร์สวดมนต์ไหว้พระเป็นกิจวัตรประจำของเด็กอยู่แล้ว แต่เราเพิ่มเติมคือ วันพระจะพาเด็กนักเรียนทั้งโรงเรียน เดินไปวัดตะปอนใหญ่ เด็กจะใส่ชุดขาว บอกเขาว่าเหตุผลของการใส่ชุดขาว เหมือนได้สำรวมกาย ระวังอาการของเราเพื่อไม่ให้ชุดเปื้อน นี่คือหลักหยาบๆ ที่เราสอนให้เด็กสำรวม การให้ธรรมะเด็ก ไม่ได้ต้องไปถือคัมภีร์หรือทำยากๆ เราก็โชคดีด้วยที่พระอาจารย์ที่เป็นเลขาของท่านพ่อ เป็นผู้บรรยายธรรม ท่านใช้นิทานชาดก สุดท้ายเด็กฟัง เหมือนเขาไปนั่งฟังนิทาน เด็กจะรู้ว่า สอนอะไร ข้อคิดอะไร เราเอามาใช้กับเพื่อนๆ ยังไง เด็กทั้งโรงเรียนสามารถนั่งสมาธิได้ในระดับนึง แม้แต่เด็กอนุบาล เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราปลูกฝังให้เขา อย่างน้อยเหมือนน้ำซึมบ่อทราย

ตัววัดตะปอนใหญ่และท่านพ่อเองเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนชุมชน เวลามีกิจกรรมอะไรก็มาร่วมแรงร่วมใจกัน เป็นจุดตั้งตลาดโบราณ 270 ปีด้วย ที่มาของตลาดคือชุมชนเราได้รับคัดเลือกให้เป็นชุมชนคุณธรรมของจังหวัด ก็มีหนังสือเชิญสามห่วงไป คือท่านพ่อ ผู้ใหญ่บ้าน และเราซึ่งเป็นผอ.โรงเรียน มีงบทำงานให้แปดพัน ก็เลยมาคิดสร้างตลาดเล็กๆ ของเรา เราจำภาพที่ลุงกาญจน์ (กาญจน์ กรณีย์ ประธานสภาวัฒนธรรม อำเภอขลุง) ทำตลาดย้อนยุคได้ มันก็ดีนะ เอาของโบราณที่ไม่เคยเห็นเคยมีมาขาย กระแสตอบรับก็ดี ด้วยความที่ท่านพ่อมีเมตตากับพวกเรา ก็บอกแปดพันไม่พอหรอก แค่จากอย่างเดียวก็หมดแล้ว คนในชุมชนก็ช่วยกันทำซุ้มไม้ไผ่ ท่านพ่อก็ซื้อจากมุงหลังคาให้ เริ่มตลาดกันต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2560 มาจนทุกวันนี้ ท่านพ่อเห็นว่าใช้จากต้องเปลี่ยนทุกปี เมื่อสองปีที่ผ่านมาเลยใช้เป็นกระเบื้องเก่าของวัดที่รื้อๆ มา เมื่อก่อนที่ตลาดยังรุ่งเรืองคึกคัก เรามีเงื่อนไขว่า แม่ค้าที่มาขายให้ใส่ชุดไทยๆ เสื้อแขนกระบอก นุ่งผ้าถุงหรือโจงกระเบน ม่อฮ่อม ส่วนตัวเองก็มาเดินพูดคุยให้กำลังใจเขาทุกวันเสาร์ หลังๆ ก็ภารกิจมั่งโควิดมั่งก็ไม่ได้มา ผอ.ก็นุ่งผ้าถุงมา ยุคออเจ้าก็สนุก นุ่งสไบเดินกันเต็มตลาด หลังๆ อาจจะไม่ค่อยมีใครใส่ไทยๆ เท่าไหร่ เหมือนเราละเลยเขาด้วย ถ้าเราอยู่เคียงข้าง รื้อฟื้นมาใหม่อาจจะเป็นไปได้ ปัญหาของตลาดคือ ในชุมชนเราส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือทำสวน การออกมาขายของเป็นอาชีพรองที่เขาใช้เวลาว่าง ไม่เหมือนอย่าง ขออนุญาตอ้างอิง เราไปเที่ยวหนองบัว เช้ามาเขาเปิดประตูหน้าบ้าน วางขนมขาย คือชีวิตของเขาอยู่ตรงนั้นแล้ว ไม่ต้องไปตั้งร้านเพิ่ม อาชีพเราทำสวน ช่วงนี้ต้องทำดอกทุเรียนแล้วก็ต้องไปทำ ก็ทำให้คนที่มาขายของน้อยลง

ความฝันของตัวเองคือ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเนอะ ก็ไม่อยากให้ตลาดหายไป พูดกับท่านพ่อว่าตลาดเราไม่ตายหรอก แต่มันไม่โต ครั้งแรกที่เราตั้ง ก็ไม่ได้มุ่งหวังว่าจะต้องไปโด่งดังถึงไหน ตั้งขึ้นเพื่อคนในชุมชนมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน มีภาพที่ป้าๆ อายุเยอะๆ มานั่งคุยกัน ไม่ได้ซื้ออะไรนะคะ นั่งแบ่งหมากกันกิน สองยายนั่งตักกินน้ำแข็งไสน้ำแดงๆ กันถ้วยเดียว เราชอบบรรยากาศแบบนี้ รู้สึกตลาดนี้เป็นยิ่งกว่าตลาดที่ไม่ใช่แค่ขายของ แค่นี้เราถือว่าสำเร็จแล้ว ที่ทำให้ในชุมชนได้มาคุยกัน เด็กนักเรียนเราก็สอนทำข้าวเกรียบปากหม้อ พอวันเสาร์ ครูที่เป็นเวรก็จะพาเด็กป.4-5-6 ไปทำขาย เอาเงินเข้าโรงเรียน ให้เด็กกินขนมบ้าง ก็จะมีเด็กที่ผู้ปกครองที่เขายังขายอยู่ปัจจุบันที่เขายังมากับพ่อแม่ แล้วเราก็แอบชมเขานะ อย่างน้องไข่ตุ๋น อยู่ป. 3 แม่ไม่อยู่เขานั่งขายของให้แม่เขาได้ นี่ไง ตำราชีวิตเขาได้แล้ว ซึ่งที่เราฝันอยากให้รื้อฟื้นตลาดขึ้นมา เช่นหน้าผลไม้ ทำไมเราไม่เอามังคุดดำๆ ที่ต้องไปขายถูกๆ มาขายที่นี่ แล้วจัดแพ็กเกจกินอิ่มไม่อั้น มีเงาะ มีผลไม้สดๆ จากสวน ก็จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ชาวสวนก็มองสิ่งเหล่านี้เป็นปลีกย่อย รายได้หลักเขาคือต้องมีพ่อค้ามาซื้อในสวน เลยเป็นสิ่งที่เราคิดแต่ยังทำไม่ได้

จริงๆ พื้นที่ตะปอนมีสิ่งดีๆ มากมาย เราก็เคยเข้าสู่โอทอปนวัตวิถี คิดจนเป็นแพ็กเกจท่องเที่ยว 1 วัน เที่ยวไหว้พระตามเส้นทางสายวัฒนธรรม กินอาหารประจำถิ่น คือเหมือนจะไปได้แล้ว แต่มันก็หยุดไป อย่างที่บอก หลักสำคัญ คนในชุมชนเรามีอาชีพทำสวน เลยหาคนมาทำไม่ได้ มัคคุเทศก์น้อยก็มี แต่จุดบอดของเด็กโรงเรียนเราคือเขิน ยังบอกกับคุณครูว่า นี่เราอบรมเขาจนเรียบร้อยเกินไปหรือเปล่า อย่างนักดนตรีเล่นได้ เล่นไป แต่พอให้แนะนำตัวก็ไม่เอาละ เช้าๆ แค่นำสวดมนต์ไหว้พระก็เหมือนไม่ค่อยกล้าพูด พระอาจารย์ก็บิ้วอารมณ์กัน ให้มั่นใจๆ ก็ยังไม่ได้ ตอนนี้ก็ได้แต่ว่า วัดตะปอนใหญ่เปิดโบสถ์ให้เข้าไปสักการะ จัดธูปเทียนไว้ให้ ถือเป็นจุดต้อนรับนักท่องเที่ยว แต่ไฮไลต์จริงๆ ของเราคือประเพณีชักเย่อเกวียนพระบาท เลยกลายเป็นว่าได้แค่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ถ้ามาเราจัดกิจกรรมได้ ขอแรงคนในชุมชนมาทำ แต่สำหรับเราก็รู้สึกว่าประเพณีชักเย่อไม่เชิงถ่ายทอดรุ่นต่อรุ่นแล้ว มันขาดช่วง ถ้าดูรุ่นอาจารย์ชักนี่มันมากเลย กินกันไม่ลง แล้วด้วยอายุ กระดูกกระเดี้ยวไม่ไหวแล้ว ถ่ายทอดมาอีกรุ่นอาจจะแบบทักษะไม่เก่ง ไม่เป็นทุกคนละ ถ้าเป็นรุ่นก่อนชี้ตัวได้เลย จิ้มคนไหนก็มาชักได้เลย แต่ทีนี้ ในฐานะที่เราดูแลนักเรียน เลยคิดว่าให้เขาได้ซึมซับประเพณีท้องถิ่น ปีก่อนๆ ก็จัดโครงการ เชิญภูมิปัญญาชาวบ้านมาสาธิต อธิบายให้เด็กฟัง ให้เขาได้เข้าไปจับ คือถ้าไม่ใช่เด็กในพื้นที่ ถ้าเราพูดว่าชักเย่อปุ๊บ ทุกคนจะหันหน้าเข้าหากัน แล้วดึงถอยหลัง ซึ่งเทคนิคทักษะของเราจริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ถือว่าเขาก็ได้เรียนรู้ประเพณีของชุมชน รู้จักเมืองของเขา คือถ้าเขาไม่รู้เรื่อง เขาก็ไม่รัก เขารู้ไม่ลึก เขาก็รักไม่มาก เขาไปเรียนที่อื่น เขาก็ลืมไป เราอยากมีส่วนในการปลูกฝังเด็กเพื่อให้เขารักในชุมชนของเขา อย่างน้อย ในอนาคต เขาจะเป็นกำลังส่วนหนึ่งช่วยให้สิ่งดีๆ ในชุมชนเรายังคงอยู่”

พรเพ็ญ กิจพิบูลย์
ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตะปอนใหญ่

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย