/

“อาคารหอศิลป์หลังนี้เป็นภาพสะท้อนของความร่วมมือของคนกาฬสินธุ์ ที่ไม่ใช่แค่มาจากหน่วยงานรัฐฝ่ายเดียว”

Start
161 views
11 mins read

“พิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของอาคารศาลากลางหลังเก่า ซึ่งปัจจุบันได้รับการพัฒนาเป็นหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์

แต่เดิมพิพิธภัณฑ์นี้เป็นของสำนักงานจังหวัดฯ มีสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดดูแลตรงนั้น กระทั่งมีการย้ายศาลากลางไปอยู่นอกเมือง จึงมีการถ่ายโอนพิพิธภัณฑ์ให้มาอยู่ในความดูแลของเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ในปี 2563 ก่อนที่เทศบาลฯ จะร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชนจัดตั้งหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ที่บริเวณชั้นล่าง และเปิดทำการมาถึงปัจจุบัน

หอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์เปิดก่อนโควิด-19 ไม่นาน จึงไม่เป็นที่รับรู้ของคนส่วนใหญ่เท่าไหร่ จนสถานการณ์เริ่มซา ทางมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์เขาก็มาร่วมกับเทศบาลฯ เพื่อทำวิจัยเรื่องพื้นที่การเรียนรู้ และใช้หอศิลป์กับพิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ของเราเป็นศูนย์กลาง จึงมีกิจกรรมต่างๆ จัดขึ้นเรื่อยมา โดยเฉพาะการย้ายถนนคนเดินจากย่านเมืองเก่ามาตั้งอยู่รอบอาคารหอศิลป์โดยจัดขึ้นทุกเย็นวันอังคาร รวมถึงมีกิจกรรมด้านการเรียนรู้สำหรับคนทุกวัยในตลาดด้วย พื้นที่เราจึงเป็นที่รู้จักมากขึ้น ไม่เฉพาะว่าเรามีนิทรรศการประวัติศาสตร์เมืองอยู่ชั้นบน และมีนิทรรศการศิลปะให้ชมชั้นล่าง แต่อาคารหลังนี้และรอบๆ สามารถปรับใช้เป็นลานจัดกิจกรรมให้หน่วยงานต่างๆ ได้ เป็นที่รู้จักในฐานะพื้นที่เรียนรู้ที่สามารถปรับไปตามโจทย์ของงานได้ ก็ต้องขอบคุณศิลปินสตรีทอาร์ทที่มาช่วยกันเพ้นท์อาคารให้มีสีสันสดใส สร้างภาพลักษณ์สร้างสรรค์ดึงดูดคนรุ่นใหม่มาใช้บริการด้วย

พี่คิดว่าอาคารหอศิลป์หลังนี้เป็นภาพสะท้อนของความร่วมมือของคนกาฬสินธุ์ที่ไม่ใช่แค่มาจากหน่วยงานรัฐฝั่งเดียว จริงอยู่นี่คือพื้นที่ที่บริหารโดยเทศบาล แต่การเกิดขึ้นของหอศิลป์และกิจกรรมรอบๆ โดยเฉพาะตลาดถนนคนเดิน เกิดจากการที่ทางเครือข่ายศิลปินได้คุยกับท่านนายกเทศมนตรี ก่อนจะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และกลุ่มผู้ประกอบการในการจัดตั้งตลาด จากตลาดเล็กๆ ไม่นานก็เกิดเป็นเครือข่ายผู้ประกอบการซึ่งมีพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน อย่างถนนคนเดินริมน้ำปาวที่เปิดขึ้นใหม่ ก็มาจากกลุ่มผู้ประกอบการที่นี่ร่วมมือกับทางเทศบาลและมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์เช่นกัน

เช่นเดียวกับโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ที่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ขับเคลื่อน ก็ทราบมาว่าเขาได้งบประมาณไม่เยอะ เรียกว่าไม่พอที่จะจัดนิทรรศการหรือถนนคนเดินที่มีกิจกรรมต่อเนื่องอย่างที่เห็นด้วยซ้ำ แต่ก็เพราะได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ งานจึงเกิดขึ้นได้ คุณลองเข้าไปดูเว็บไซต์หอศิลป์ก็ได้ งบกิจกรรมมีแค่หมื่นเดียว แต่เขาก็ทำออกมาได้ดีเกินงบไปเยอะมากๆ

แม้กิจกรรมเมืองแห่งการเรียนรู้จะช่วยสร้างความเคลื่อนไหวให้เมืองกาฬสินธุ์ได้มาก แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเมืองของเรายังมีความเหลื่อมล้ำอยู่เยอะ ก็จำเป็นที่จะต้องแก้ไขหรือพัฒนาอีกมาก แต่เรื่องการศึกษาสำหรับเด็กๆ ในระบบ พี่ว่าวิชาการเราค่อนข้างโอเคแล้ว ควรส่งเสริมด้านอื่นๆ มากกว่า เช่นความถนัดทางวิชาชีพที่สอดรับกับบริบทของพื้นที่ หรือเรื่องศิลปะก็สำคัญ พอมีหอศิลป์ขึ้นมา ก็ทำให้พี่รู้ว่าเด็กๆ เขาสนใจศิลปะกันเยอะ บางทีเราอาจส่งเสริมให้เขาเข้าถึงการเรียนรู้เรื่องนี้ ไปพร้อมกับหาช่องทางหรือโอกาสให้เด็กๆ สามารถเอาสิ่งที่เรียนมาไปต่อยอดกับสถาบันหรือแหล่งเงินทุนต่างๆ ต่อไปได้”  

รัศมี พลเทียน
นักวิชาการการศึกษา เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์
และหัวหน้างานการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย