/

อินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นครั้งแรกที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อีเมลฉบับแรกของไทยก็ส่งจากที่นี่เมื่อปี 2531 คุณพอเห็นภาพไหมว่าหาดใหญ่เคยทันสมัยมากขนาดไหน

Start
318 views
15 mins read

“เมื่อก่อนหาดใหญ่ใช้การคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก จนมีสถานีรถไฟในปี พ.ศ. 2467 ชาวจีนที่รับสร้างทางรถไฟสายใต้อย่าง เจียกีซี (ขุนนิพัทธ์จีนนคร) และชาวจีนอีกคนอย่างซีกิมหยง ต่างมองเห็นชัยภูมิที่ดี ทั้งการเป็นชุมทางของภาคใต้ตอนล่าง และการเชื่อมเส้นทางไปถึงมาเลเซีย พวกเขาจึงวางผังและสร้างเมืองนี้ขึ้นมา 

เริ่มจากจัดสรรที่ดินให้คนงานมีบ้านอยู่ก่อน ยกที่ดินสำหรับทำโรงเรียน ซึ่งมีทั้งโรงเรียนจีนและฝรั่ง พอฝรั่งเข้ามาก็มีโรงพยาบาลมิชชันนารีที่มีหมอฝรั่งมารักษาคนด้วย คนงานมีบ้านอยู่ ลูกหลานมีโรงเรียน เจ็บไข้ได้ป่วยก็มีโรงพยาบาลรักษา พอแก่ตัวมา ก็มีมูลนิธิจงฮั่วสงเคราะห์คนชราคอยดูแล โดยให้สมาคมภาษา 5 สมาคม หมุนเวียนกันบริหาร ฮากกา ไหหลำ แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน และกวางสี ซึ่งทุกวันนี้ยังเหลือกรรมกรรถไฟจากยุคนั้นที่มีชีวิตอยู่ที่นั่นด้วยนะ

พอมีโมเดลแบบนี้ คนจีนทุกภาษาก็เลยพากันมาอยู่ที่นี่หมด อาหารการกินจึงหลากหลาย ขณะเดียวกันรถไฟดึงดูดให้คนจากทั่วสารทิศมาอยู่เมืองนี้ คนเหนือและอีสานที่มาใช้แรงงาน คนใต้จากจังหวัดรอบๆ ที่เข้ามาเรียนหนังสือและค้าขาย ชาวมุสลิม และอื่นๆ เราเคยเป็นเมืองศูนย์กลางของยางพาราและปาล์ม ในระดับที่เรามีการร่วมทุนตั้งบริษัทยางไทยปักษ์ใต้ (เต็กบี้ห้าง) ก่อนสิงคโปร์เขาตั้งประเทศอีกนะ บริษัทยางใหญ่ๆ ในบ้านเราส่วนใหญ่ก็เติบโตมาจากบริษัทนี้หมด

ในด้านการศึกษาและนวัตกรรม อินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นครั้งแรกก็ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อีเมลฉบับแรกของไทยก็ส่งจากที่นี่เมื่อปี 2531 คุณพอเห็นภาพไหมว่าหาดใหญ่เคยทันสมัยมากขนาดไหน

ผมไม่มีบุญพอจะเกิดเป็นคนใต้ แต่ก็โชคดีที่ได้เป็นเขยเมืองนี้ ผมเริ่มทำราชการก่อน พอแต่งงาน พ่อตาก็ให้มาทำบริษัทคลังสินค้าและขนส่ง แต่ทำๆ ไปไม่แฮปปี้ เลยออกมาทำงานผู้จัดการธนาคารก่อนย้ายมาตลาดหลักทรัพย์จนเกษียณ ทุกวันนี้ผมทำงานด้านการศึกษาเป็นส่วนมาก โดยเป็นกรรมการฝ่ายการศึกษาและพัฒนาสังคม วิทยาลัยชุมชนสงขลา และรองประธานมูลนิธิชุมชนสงขลา

ผมมาหาดใหญ่ในยุคที่รุ่งเรืองมาก สินค้าจากจีนและฮ่องกงส่งเข้าปีนัง ต่อมาปาดังเบซาร์ และเข้าไทยก็ทางรถไฟหาดใหญ่ เมืองเลยมีการค้าขายที่คึกคัก ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า อาหาร และของหนีภาษี ผมจำได้ว่ามีอยู่ครั้งที่ผมทำธุระในเมือง และเห็นกำนันถูกยิงหน้าโรงแรม คนวิ่งหนีแตกฮือกันหมด ผ่านไปไม่ถึงชั่วโมง หลังตำรวจมาเคลียร์สถานที่ พื้นที่ตรงนั้นก็กลับมามีคนเดินกันคลาคล่ำใหม่ราวกับไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น หาดใหญ่เคยเป็นแบบนั้น เป็นเมืองที่ไม่เคยหลับ

จุดเปลี่ยนคือหลังรัฐบาลเราเปิดทำการค้ากับจีนอย่างเต็มตัว สินค้าที่คนทั่วประเทศต้องแห่มาซื้อที่หาดใหญ่ ก็กลายเป็นหาซื้อได้ง่ายจากทั่วประเทศหมด เราเลยขายของแบบเดิมไม่ได้ และด้วยความที่เมืองเติบโตเพราะการค้าขายของจากจีนอย่างเดียว ก็เลยไม่มีแรงดึงดูดให้คนรุ่นใหม่อยากทำงานที่บ้าน ส่วนเถ้าแก่ที่เป็นเจ้าของตึกในเมืองเขารวยกันอยู่แล้ว ก็ตั้งค่าเช่าแพงๆ แบบไม่ง้อคนเช่า คนจบมหาวิทยาลัยก็ไปเติบโตในเมืองอื่นหมด เพราะจะเริ่มธุรกิจที่นี่ยาก

ซึ่งนั่นล่ะครับ พอมายุคหลังเราเลยพึ่งพาแต่นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียอย่างเดียว และเมื่อโควิดมา เมืองเลยเงียบกันหมด

ผมคิดว่าหาดใหญ่ควรระเบิดจากภายใน แน่นอน เราทิ้งนักท่องเที่ยวมาเลเซียไม่ได้ แต่เราก็ต้องทำให้เศรษฐกิจของเมืองหมุนเวียนจากคนในเมืองได้เองด้วย เมืองมันควรดึงดูดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สตาร์ทอัพ และนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงจากทั่วโลก ซึ่งเรามีศักยภาพเหล่านี้หมดเลยนะ ทั้งการมีสถาบันการศึกษาชั้นนำ ศูนย์การแพทย์และสุขภาพ และต้นทุนทางวัฒนธรรม


ผมเคยไปเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งที่ญี่ปุ่นมา จำชื่อไม่ได้แล้ว แต่สถานการณ์ก่อนหน้านี้เขาไม่ต่างจากเราเลย เมืองเงียบและคนรุ่นใหม่ไม่อยู่บ้าน จนสุดท้ายคนในเมืองก็มาคุยกัน เจ้าของตึกลดค่าเช่า หน่วยงานท้องถิ่นออกนโยบายลดภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุน รวมถึงองค์กรต่างๆ สนับสนุนเงินทุนให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้ามาสร้างสรรค์กิจกรรม เท่านั้นแหละ ไม่นานเมืองกลับก็มามีชีวิต วัยรุ่นสวมชุดกิโมโนเดินเล่นกันในเมือง อีกคนแต่งเป็นซูโม่ถือป้ายขายของ ตึกเก่าๆ ที่เคยร้างถูกรีโนเวทเป็นร้านค้า มีอีเวนท์ในเชิงครีเอทีฟจัดขึ้นต่อเนื่อง

ผมถึงบอกว่าหาดใหญ่มันต้องเป็นแบบนี้ มันต้องขับเคลื่อนด้วยทุนที่มีบวกกับความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ เคยนึกเล่นๆ ว่าถ้ามีสักเทศกาลหนึ่ง ลองปิดถนนสาย 1-3 ดู จัดงานแฟร์บนถนน เอารถเจ๊ก หรือรถลากให้คนในนั่งชมเมืองแบบย้อนยุค ผมว่านักท่องเที่ยวชอบนะ คนรุ่นผมก็คงจะมาร่วมด้วย ทุกวันนี้ย่านเมืองเก่าสงขลาที่กลับมาฟื้นได้อีก ก็ทำนองนี้ คุณเห็นไหมสตรีทอาร์ทรูปอาแปะสองคนนั่งดื่มชากัน แค่รูปนั้นเลย สตรีทอาร์ทรูปอื่นๆ ก็ตามมา นักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศก็พากันมาถ่ายรูป มากิน มาดื่ม มาเที่ยวในเมือง คึกกักจนถึงทุกวันนี้”  

ชัยวุฒิ บุญวิวัฒนาการ
กรรมการมูลนิธิชุมชนสงขลา
และกรรมการฝ่ายการศึกษาและพัฒนาสังคม วิทยาลัยชุมชนสงขลา

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย