“เกษตรกรมองว่าระยะปรับเปลี่ยนจากเคมีมาเป็นอินทรีย์ใช้เวลา 2 ปี กว่าดินจะมาเป็นอินทรีย์ ในช่วง 2 ปีนี้เขารอไม่ได้”

Start
272 views
18 mins read

“ไร่องุ่นพรมชนเริ่มต้นทำแบบเกษตรอินทรีย์เลย ตอนแรกปลูกองุ่นเต็มพื้นที่ เป็นไร่องุ่นแรกที่ทำโรงเรือน มีมุ้งกันฝน กันแมลง กันนก เพราะเจอนกเอย แมลงเอย เวลาฝนตก ผลผลิตเสีย เลยหาวิธีแก้ปัญหาในระยะยาว อย่างที่อื่นเขาทำโอเพ่นจะใช้ยาฆ่าแมลงเป็นตัวจัดการ เราไปเรียนรู้วิธีการทำโรงเรือนไปดูงานที่เมืองนอกแล้วเอามาใช้งานจริง ตอนเก็บก็เลือกผลสวยๆ ไปขายผล ที่ลูกไม่สวย แยกไปทำน้ำผลไม้องุ่นหรือไวน์ เป็นผลผลิตของไร่

ตอนนี้ผลผลิตทุกอย่างเราทำเองหมด มีทั้งองุ่น มะขาม ทับทิม พุทรา ฝรั่ง มะเขือเทศราชินี มีฟาร์มไก่ไข่อารมณ์ดี มีพื้นที่กว้าง มันก็เดินไปมา เราผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดเพื่อให้เข้าไปในเครื่องพ่นได้ แต่ไม่ได้ขายเป็นพาณิชย์ เฉพาะคนอินทรีย์ที่อยู่ในเครือข่าย ขายให้ราคา 400 กว่าบาท ปกติปุ๋ย 1,800 บาท ก็ประหยัดไปเยอะ ถ้าซื้อเคมี 1 กระสอบ ซื้อปุ๋ยเราได้ 3 กระสอบ แล้วก็มีน้ำปลาร้าแท้ 100% ตราแม่องุ่น ซึ่งแม่องุ่นไม่มีตัวตนหรอก เราทำองุ่นเราเลยใช้ชื่อนี้ มีสองสูตร สูตรตำ สูตรแกง โรงงานอยู่กาฬสินธุ์ มาตรฐานอันดับหนึ่งของประเทศนะ เพราะกาฬสินธุ์ปลาเยอะ เรามั่นใจว่าไม่มีสิ่งเจือปน ปลอดภัย ไม่ใส่สารกันตกตะกอน สารเร่งละลายเนื้อ ใช้การหมักข้ามปีถึงจะมาต้มได้ คนอื่นเขาหมัก 3 เดือน ใส่สารเร่ง แล้วก็เป็นปลาทะเลซึ่งมีฟอร์มาลินเราไม่ใช้ เราจะใช้แต่ปลาน้ำจืด กลิ่นและรสชาติก็จะเป็นธรรมชาติ

เราเป็นองค์กรเกษตรกรยั่งยืน คุณแม่ (ไพรัตน์ พรมชน) ก่อตั้งสมาพันธ์เครือข่าย SDGsPGS (Sustainable Development Goals Participatory Guarantee System) ร่วมกับดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ (นายกสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย) จุดประสงค์คือช่วยเหลือเกษตรกร เขาประสบปัญหาไม่มีตลาดขาย SDGsPGS จะไปช่วยขายให้ เราเป็นองค์กรเอกชนที่สามารถออกใบ Certificate ให้เกษตรกรได้ คือเราเข้าไปตรวจสอบตั้งแต่เริ่มต้นอบรมเลย ให้เกษตรกรมาอบรม 3 วัน ทฤษฎี 2 วัน สอนตั้งแต่การทำแนวของไร่ แนวกันชนยังไง ปลูกยังไง ใช้ชีวภัณฑ์อะไรทดแทนสารเคมี ภาคปฏิบัติ 1 วัน เราร่วมกับพี่เลี้ยงที่เป็นหน่วยงานราชการ เช่น เกษตรอำเภอ สสว. (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไปสุ่มตรวจแปลงตัวอย่างของเกษตรกร แล้วก็ออกใบเซอร์ฯ ให้ว่าผ่านการอบรมแล้ว เขาก็สามารถไปดูแลแปลงของเขา ผลิตแล้วมาส่งเราขายให้หมด และอย่าลืมว่า อายุสมาชิกแค่ 1 ปี พอ 1 ปีต้องต่ออายุ ซึ่งเราก็จะไปสำรวจทุกๆ 3 เดือน เพราะสินค้าที่เขาส่งออกไปเป็นใบเซอร์ฯ ของเรา ถ้าไม่ได้ตามมาตรฐานเรา ก็จะมีคำเตือนก่อน บางทีเขาอาจจะหลุด ก็ไม่ได้ต่อใบ ถ้าเขาจะกลับมา ก็ต้องมีระยะปรับเปลี่ยน

เดิมเกษตรกรทำเกษตรกรรมใช้สารเคมี ที่เขาอยากมาร่วมเครือข่าย เพราะ หนึ่ง ผลไม้ ผัก ขายในประเทศไทยก็อาจจะเต็มตลาด ถ้าจะส่งนอกต้องเป็นสินค้าอินทรีย์ เพราะเมืองนอก 57 ประเทศแบนสารเคมี สอง สุขภาพของคนปลูก คนรอบข้าง เรื่องดินด้วย ดินเสีย ผลผลิตน้อยลง ต้นทุนสูง เขาก็ต้องหาวิธี ปลูกเองแต่ไม่กล้ากินของตัวเอง พอเจ๊งก็รอขายที่ดินอย่างเดียว แต่เกษตรกรในเครือข่ายสามารถขายได้เองเลย มีแพลตฟอร์มของ SDGsPGS ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ออนไลน์ไปทั่วโลก เปิดมาก็มีคิวอาร์โคดขึ้นข้อมูลครบว่าสวนนี้ทำอะไร มีรูปแปลง สามารถย้อนได้ ว่าผลไม้จากที่ไหน ใช้สารเคมีมั้ย เขาก็มาเลือกซื้อ ใส่ตะกร้า แล้วเราก็สร้างตลาดเฉพาะเครือข่ายของเราไว้รองรับเกษตรกรอินทรีย์ อยู่ท้ายเกาะ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี รวมทั้งติดต่อตลาดขอแบ่งโซน ตลาดยินดีอยู่แล้ว เช่น ตลาดไท มีโซนที่เป็นอินทรีย์ของเรา

ปัจจุบันสมาชิกเครือข่าย SDGsPGS เป็นแสนคนทั่วประเทศ ปัญหาของเกษตรกรคือไม่มีที่ขาย ถ้าเราสร้างพื้นที่ขาย ให้เขาปลูกตามเงื่อนไขของเรา เขาก็ไปต่อได้ อย่างมะเขือเทศ เราประกันราคาให้เกษตรกรเลย จะซื้อทั้งปีก็อยู่ราคาเดิม ถ้าราคาลง เราก็แบกรับต้นทุนไป แต่ถ้าราคาขึ้น เราก็อาจจะได้กำไรนิดหน่อย เราเป็นคนรีเสิร์ชตลาด ว่าควรจะปลูกอันนี้ๆ ถ้าคุณปลูกเหล่านี้จะขายได้แน่ๆ หรือถ้าคุณปลูกข้าวโพดเราก็รับ มาผลิตเป็นอาหารไก่ แต่ก็จะอีกราคา สมมติในตลาดอาจจะ 9 บาท เราก็ซื้อ 10 บาท เขาก็ดีใจแล้ว เพราะ หนึ่ง ทำอินทรีย์ ต้นทุนเขาลดนะ สอง ได้สุขภาพดี ได้เงินเพิ่มขึ้น มีตลาดรองรับสบายๆ เกษตรกรเองต้องเปลี่ยนถ้าอยากขายของ ถ้าอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่อยากจะไปปลูกอ้อย มัน ข้าวโพดที่ใส่สารเคมีเยอะๆ ทำไมเขาถึงปลูกมัน อ้อย ข้าวโพด เพราะตลาดซื้อแน่นอน เกษตรกรมองว่าระยะปรับเปลี่ยนจากเคมีมาเป็นอินทรีย์ใช้เวลา 2 ปี กว่าดินจะมาเป็นอินทรีย์ ในช่วง 2 ปีนี้เขารอไม่ได้ ส่วนใหญ่เป็นหนี้เป็นสินมา ต้องส่งดอก แล้วการทำให้คนหมู่มากมาสนใจสินค้าอินทรีย์ มันทำให้คนเข้าใจยาก เราจะไปไล่บอกทีละคนๆ ก็เสียเวลา เราถึงได้จัดอบรม ทำอย่างนี้ไปทุกๆ เดือน ทุกๆ ปี เดี๋ยวก็ค่อยปรับเปลี่ยน

ในเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน SDGsPGS สมาพันธ์เกษตรกรยั่งยืนแห่งประเทศไทย เกษตรกรที่มาอบรมจะเข้าระบบ เข้าไปดูเกษตรกรคนอื่นได้หมด ว่าขายที่ไหน ต้นทุนเท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ ได้เห็นผลลัพธ์จากเกษตรกรคนอื่นที่ปรับเปลี่ยนมาแล้ว ตอนนี้เครือข่ายมีผู้นำทั้งหมด 57 จังหวัด ก็จะมีแปลงสาธิต เปิดอบรม ต่อไปจะมีตลาดท้ายเกาะอยู่ทุกๆ 57 จังหวัดที่อยู่ในเครือข่าย ใครอยู่ใกล้ตรงไหนไปขายตรงนั้น เพื่อให้คนไปเลือกซื้อผักต่างๆ ที่ปลอดภัย ปลอดสาร ไปบริโภค แต่ก็ไม่ใช่ว่าราคาจะแพงกว่าผักเคมี คือเราต้องทำราคาให้คนเข้าถึง ไม่ใช่ว่าอินทรีย์แล้วโดดแพงไปเท่าตัว สมมติเรารับซื้อ 9 บาท ขายที่ไทย 10 บาท กำไร 1 บาทเป็นค่าบริหารจัดการ ถ้าเมืองนอกอาจจะส่ง 15 บาท 5 บาทที่ได้เอามาให้เกษตรกรเพื่อที่เราจะได้มีเงินไปรับซื้อเขาได้เยอะ แรกๆ จะอย่างนี้ แล้วหลังจากนั้น เราจะแนะนำให้เขาส่งไปขายเอง ให้เขามีอาชีพ มีความรู้ในการทำธุรกิจของเขาเอง คือเราจะแบกรับทุกคนไม่ไหว พอเขาทำไปเรื่อยๆ เขาจะทำได้ด้วยตัวเอง แล้วก็จะหลุดออกจากวงจรเดิมๆ ไม่ต้องพึ่งพาเรา”

ธรรมนูญ สมบัติ
ผู้จัดการไร่องุ่นพรมชน
เครือข่าย SDGsPGS สมาพันธ์เกษตรกรยั่งยืนแห่งประเทศไทย

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย