เคยคิดว่าถ้าเราเรียนเก่ง คนที่คอยตั้งแง่กับเพศสภาพก็อาจจะลืมตัวตนที่แท้จริงของเรา ซึ่งเหนื่อยนะที่ต้องทำแบบนี้

Start
393 views
12 mins read

“เราเติบโตมาในสังคมมุสลิม เรียนโรงเรียนสอนศาสนา และใช้ชีวิตประจำวันท่ามกลางบรรยากาศที่ค่อนข้างเคร่งครัด ขัดแย้งกับตัวตนที่เป็น LGBT ของเรา

ตอนเป็นวัยรุ่นเราคิดมาตลอดว่าสิ่งที่เราเป็นคือปมด้อย เราก็พยายามกลบปมด้อยด้วยการตั้งใจเรียน เป็นตัวแทนโรงเรียนไปสอบแข่งขันที่นั่นที่นี่ และทำกิจกรรมสม่ำเสมอ เคยคิดว่าถ้าเราเรียนเก่ง คนที่คอยตั้งแง่กับเพศสภาพก็อาจจะลืมตัวตนที่แท้จริงของเรา ซึ่งเหนื่อยนะที่ต้องทำแบบนี้ เป็นความเคยชินในวัยเด็กที่ดูตลกร้ายมากๆ

จนได้มารู้จักพี่บอล (เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์) ในช่วงที่เราเรียนมหาวิทยาลัยนี่แหละ ที่ทำให้เรากล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง พี่บอลเป็นเหมือนแม่ที่คอยให้กำลังใจลูกสาวอย่างพวกเราทุกคนไม่ว่าเราจะนับถือศาสนาอะไร เราเหมือนเจอเพื่อนจริงๆ ที่คอยสนับสนุน และกระตุ้นให้พวกเรานำสิ่งที่เรามีเปลี่ยนเป็นพลังงานบวกส่งต่อให้คนอื่น จากที่เราเคยชอบทำกิจกรรมซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเพราะอยากกลบสิ่งที่คิดว่าเป็นปมด้อย ก็เปลี่ยนมาเป็นคนที่อยากร่วมกิจกรรมเพราะความสนุก และเห็นถึงผลกระทบเชิงบวกต่อคนอื่นๆ ในกิจกรรมนั้นๆ ได้จริง ก็เลยร่วมงานกับพี่บอลหลายงาน รวมถึงล่าสุดกับงานยะลาสตอรี่ ที่เราเป็นผู้ประสานงานของโครงการ

เราชอบการประสานงาน ชอบพูดคุยกับผู้คน และชอบที่ได้เรียนรู้ ยิ่งเมื่อเรามีความมั่นใจในตัวเอง และพบว่าผู้คนในยะลาส่วนใหญ่ก็พร้อมเปิดใจพูดคุยกับเรา แตกต่างจากภาพที่เราคิดในสมัยก่อนซึ่งทำให้เรามีความกดดันไปเอง หลังจากงานยะลาสตอรี่ เราได้งานประจำเป็นเจ้าหน้าที่รับฟังและประสานงานชุมชนของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งดูแลด้านความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่จังหวัดยะลา งานนี้ทำให้เรามีโอกาสลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลและพูดคุยกับพี่ๆ น้องๆ ลุงๆ ป้าๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่ของการผลิตอาหารกว่า 60 ชุมชน

เราชอบงานที่เราทำอยู่มาก เพราะอย่างที่บอกว่าเราชอบพูดคุยกับผู้คน การพูดคุยแลกเปลี่ยนทำให้เราได้ความรู้หรือได้เรียนรู้ในวิถีและวัฒนธรรมของชาวบ้านที่หลายพื้นที่ก็แตกต่างจากเรามาก ขณะเดียวกันงานที่เราทำก็มีส่วนในการพัฒนาสังคม จากการนำข้อมูลที่เราได้มาสังเคราะห์เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่ช่วยหนุนเสริมการพัฒนาหรือแก้ปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารของจังหวัดยะลาต่อไป

และยิ่งมาได้ทำงานนี้ รวมถึงงานยะลาสตอรี่ ทำให้เราประทับใจในวิถีของคนยะลา เราไม่รู้ว่าเมืองอื่นๆ เป็นอย่างไร แต่กับยะลา เมื่อมีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นในเมือง ผู้คนดูมีความกระตือรือร้นอยากเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน เหมือนว่าคนยะลามีความรักและความรู้สึกในการเป็นเจ้าของเมืองร่วมกัน ที่เห็นได้ชัดคือจากวงน้ำชาตามร้านต่างๆ ที่เราจะเห็นผู้คนนั่งจิบน้ำชาและคอยพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อสังคมและเมืองเราอยู่เสมอ สิ่งนี้ยิ่งปรากฏชัดผ่านการทำงานยะลาสตอรี่ ที่เมื่อเราติดต่อไปขอข้อมูลจากใคร ทุกคนก็พร้อมจะช่วยเราอย่างเต็มที่จนเราเองรู้สึกเกรงใจเอง (ยิ้ม)

ถามว่าปัญหายะลาตอนนี้คืออะไร นอกจากความมั่นคงทางอาหาร และการที่เกษตรกรยังไม่สามารถสร้างรายได้จากการผลิตมากเท่าที่ควร เราคิดว่ายะลายังมีความเหลื่อมล้ำในเชิงกายภาพหรือในแง่มุมสาธารณูปโภคอยู่พอสมควร สังเกตดูว่าถ้าเข้ามาในตัวเมือง เราจะเห็นสิ่งอำนวยความสะดวกครบหมด เมืองสวยและน่าอยู่ แต่พอออกนอกเมืองไปยังพื้นที่ชนบท เราจะเห็นถึงความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาอย่างชัดเจน ก็คิดว่าถ้าทุกส่วนมีการแก้ไขตรงนี้ได้ เมืองก็น่าจะดีขึ้นมาก

เรามีแผนไกลๆ ว่าจะเก็บประสบการณ์จากงานที่ทำตอนนี้ให้ได้เยอะที่สุด และลองย้ายไปทำงานและเรียนรู้ในเมืองอื่นๆ ก่อน เราชอบเรียนรู้ อยากเก็บประสบการณ์และความรู้ให้มากๆ คิดเอาไว้ว่าเราอาจต้องเติบโตจากที่อื่น เพื่อสุดท้ายจะได้กลับมาที่ยะลาอีกครั้ง และนำทั้งหมดที่เราสั่งสม มาช่วยพัฒนาบ้านเกิดของเราต่อไป”  

ตัรมีซี อนันต์สัย

เจ้าหน้าที่รับฟังและประสานงานชุมชนของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย