เบื้องหลังภารกิจ ‘เดินเมือง’จากเมืองแห่งการเรียนรู้ สู่เมืองเดินได้ และชุมทางเศรษฐกิจยั่งยืน สนทนากับ นพดล ธรรมวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด

Start
322 views
72 mins read

WeCitizens นัดพบ หม่อง – นพดล ธรรมวิวัฒน์ ที่อาคารใกล้สถานีรถไฟชุมทางแก่งคอย ใจกลางตลาดเก่าเมืองแก่งคอย จังหวัดสระบุรี อาคารที่ว่าเป็นอาคารพาณิชย์ มีป้ายติดด้านหน้าว่า ‘ห้องนั่งเล่นแก่งคอยคุณหม่องเล่าว่าแต่เดิมอาคารหลังนี้เคยเป็นร้านขายวัสดุก่อสร้างของครอบครัว เมื่อครอบครัวไม่ได้ทำกิจการนี้ต่อแล้วจึงปิดไว้ กระทั่งเขาได้มาเป็นโต้โผในการขับเคลื่อนโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้แก่งคอย จึงกลับมาฟื้นฟูอาคารนี้อีกครั้ง เปลี่ยนเป็นห้องนั่งเล่น ในความหมายของการเป็นห้องรับแขกบ้านแขกเมือง และห้องที่ให้ผู้คนมาสุมหัวคิด เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมการพัฒนาเมืองแก่งคอยร่วมกัน
ใช่, เราคิดถึงห้องประชุมในรูปแบบ city lab ซึ่งน้อยเหลือเกินที่จะได้เห็นพื้นที่แบบนี้ในระดับอำเภอ

หม่อง – นพดล ธรรมวิวัฒน์ เป็นคนแก่งคอย เป็นนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ และเคยเป็นประธานหอการค้าจังหวัดสระบุรี ในปี 2560 เขากับเพื่อนนักธุรกิจในจังหวัดร่วมกันก่อตั้ง บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองกับภาครัฐ ก่อนที่ปี 2564 เขาได้รับทุนสนับสนุนจาก บพท. (หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่) สร้างความร่วมมือกับเทศบาลเมืองแก่งคอย พัฒนาเมืองแก่งคอยสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

และเพราะเหตุนี้ WeCitizens จึงนัดพบกับเขาที่นี่ เพื่อพูดคุยถึงที่มาที่ไปของโครงการดังกล่าว โครงการที่เขาชวนผู้คนจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันทำกิจกรรมเดินและปั่นจักรยานสำรวจเมืองภายใต้โจทย์ที่ต่างกัน ร่วมกันสร้างพื้นที่เรียนรู้ จัดตลาดนัดวัฒนธรรม ไปจนถึงสร้างกลุ่มนักพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ที่คอยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน

ที่เล่ามาข้างต้นเป็นเพียงสังเขปของกิจกรรมที่ บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ได้ทำในพื้นที่เทศบาลเมืองแก่งคอย ตลอดปี 2564-2565 ที่ผ่านมา ส่วนเนื้อหาต่อจากนี้ คือขยายความของสังเขปที่ว่า รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2566 และแนวโน้มของการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อเมืองแก่งคอย หรืออาจเป็นสระบุรีทั้งจังหวัดในอนาคต

ในฐานะที่บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด เป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้แก่งคอย จึงอยากขอให้เล่าย้อนไปหน่อยว่า บริษัทนี้มีที่มาอย่างไรครับ
มันเริ่มมาจากการที่กลุ่มนักธุรกิจในสระบุรีอยากเห็นบ้านเกิดพวกเราเองมีการพัฒนาในแบบที่มันเท่าทันการเปลี่ยนแปลงโลก พวกเราเลยได้แรงบันดาลใจจากขอนแก่นที่เขาตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด มาก่อน และสามารถเข้าร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองได้ ก็เลยคิดว่าถ้าสระบุรีมีรูปแบบการทำงานร่วมกันแบบนี้ เมืองเราก็น่าจะพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้คนในเมืองจริงๆ ได้เช่นกัน

สิ่งที่เราพูดกันในก่อนวันที่จะตั้งบริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด เนี่ย คือว่าเราจะทำยังไงให้มี master plan การพัฒนาเมืองที่เป็นของผู้คนในพื้นที่จริงๆ ร่วมกับส่วนราชการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองใหม่ สิ่งที่เราอยากเห็นก็คือ เมืองมันจะต้องมีทิศทางที่ชัดเจน มีการพัฒนาโดยใช้ทรัพยากรและศักยภาพของผู้คนและพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ ให้คนสระบุรีทั้งในปัจจุบันและอนาคตอยากที่จะอยู่และกลับมาอยู่เมืองนี้มากกว่าเดิม

อะไรคือปัญหาหลักของสระบุรีในมุมมองของบริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ครับ
ค่อนข้างเยอะเลยครับ แต่หลักๆ คือเรื่องมลภาวะทางอากาศที่มีมาอย่างยาวนานจากการเป็นแหล่งอุตสาหกรรมบางประเภท ขณะเดียวกัน ด้วยเงื่อนไขด้านผังเมือง ยังทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมและการลงทุนในพื้นที่สระบุรีถูกแช่แข็งไว้ และอีกประเด็นที่สำคัญคือเศรษฐกิจ ที่เรามองว่าสำคัญที่สุดเลย คือต่อให้ไม่มีผังเมืองมาคอยปิดกั้นการพัฒนา แต่ถ้าเมืองยังไม่มี master plan การพัฒนาเมืองมันก็ยังคงไร้ทิศทางอยู่เหมือนเดิม เศรษฐกิจไม่เกิดการกระจายตัวอย่างทั่วถึง และมันก็วนกลับมาลูปเดิมอยู่ดี ผมจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องคุยกันเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองร่วมกัน ทำให้ทุกคนและทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเท่ากัน

อย่างไรก็ตาม ในโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด เลือกทำงานในพื้นที่อำเภอแก่งคอย อยากทราบว่าทำไมต้องเป็นที่นี่ด้วย
เราตั้งใจจะพูดคุยเรื่องการพัฒนาเมืองกันทั้งจังหวัดสระบุรีอยู่แล้วครับ แต่ก็ต้องยอมรับว่าบริษัทเรายังใหม่และการทำงานในสเกลทั้งจังหวัดมันใหญ่ และประเด็นปัญหามันก็กระจัดกระจายมาก จึงเป็นที่มาว่าเราควรนำร่องในพื้นที่ที่จำกัดพอให้เราขับเคลื่อนได้ก่อน ก็เลยคิดถึงอำเภอแก่งคอยที่เป็นบ้านเกิดผม ซึ่งผมก็มีเครือข่ายภาคเอกชนที่พร้อมจะรับฟังและร่วมงานด้วย ถือเป็นแต้มต่อที่ทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายได้

แล้วถ้าไม่ใช่เพราะบ้านเกิด คุณคิดว่าแก่งคอยมีข้อท้าทายหรือศักยภาพใดที่ควรนำกลไกเมืองแห่งการเรียนรู้มาขับเคลื่อน
แก่งคอยเป็นเมืองเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของจังหวัดสระบุรี ซึ่งมีโอกาสหลายอย่างในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต อันดับแรกเลยคือ แก่งคอยเป็นเมืองชุมทางซึ่งแต่ก่อนเป็นที่รู้จักมากกว่าเมืองสระบุรีเสียอีก เพราะที่นี่คือโหนด (node) ของการเปลี่ยนผ่านสินค้าในสมัยก่อน ชื่อของแก่งคอยมาจากการที่ว่าเรือขนส่งสินค้าล่องไปทางแม่น้ำป่าสักมาถึงที่นี่ และต้องเทียบเรือรอที่แก่งเพื่อคอยระดับน้ำให้เรือแล่นผ่านได้ จากนั้นก็จะมีการขนส่งสินค้าขึ้นฝั่งเพื่อเปลี่ยนถ่ายไปทางรถไฟ จนทุกวันนี้เราไม่ได้ใช้เรือขนส่งสินค้าเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่ logistics ก็ยังคงเป็นหัวใจหลักของแก่งคอย

เรากำลังผลักดันให้แก่งคอยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ อย่างที่กล่าวไปว่าเมืองเรามีการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม นำมาสู่กำลังซื้ออะไรต่างๆ เกิดขึ้นในเมือง ทว่าอุตสาหกรรมในอดีตจนถึงปัจจุบันมันยังอยู่แบบเดิม ไม่มีการพัฒนา และมันกำลังถูก disrupt ด้วยอุตสาหกรรมต้นทุนต่ำจากที่อื่น ฉะนั้นมันจึงทำให้อุตสาหกรรมอย่างเช่นเซรามิกและวัสดุก่อสร้างหลากหลายประเภทถูกกระทบ และก็มีอุตสาหกรรมที่ไม่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในเมืองของเราเท่าไหร่ เลยคิดกันว่ามันควรจะมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้น โจทย์ก็คือเราต้องมองให้ออกก่อนว่าอะไรที่เราจะไป แล้วอะไรเป็นอุปสรรคที่มันล็อคเราอยู่ เพื่อจะได้ปลดล็อคมัน แล้วหาผู้สนับสนุนที่จะไปจุดๆ นั้น กลไกเมืองแห่งการเรียนรู้จึงเข้ามาช่วยตรงนี้ได้พอสมควร ในการทำความเข้าใจทุกองคพายพในเมืองของเรา

ก่อนจะเริ่มโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ ดูเหมือนบริษัทได้ขับเคลื่อนโครงการวิจัยเรื่องฟื้นฟูตลาดเก่าแก่งคอยไว้ก่อนแล้ว อยากให้เล่าถึงโครงการนี้พอสังเขป เพื่อเชื่อมโยงมาถึงโครงการปัจจุบันครับ
โครงการนี้เราทำตอนปี 2562 ครับ ตอนนั้นร่วมกับนักวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยโจทย์คือการฟื้นฟูตลาดเก่าเมืองแก่งคอยให้มันมีความยั่งยืนและน่าอยู่ เราเก็บข้อมูลในพื้นที่ เพื่อทำข้อเสนอในการรีโนเวทย่านให้กับเทศบาลเมืองแก่งคอย ให้เขาเห็นภาพว่าถ้ามีการปรับปรุงพื้นที่เชิงกายภาพ มันจะเอื้อต่อความน่าเดินและน่าใช้งานอย่างไร นี่ก็เป็นชุดการวิจัยตอนนั้น

ระหว่างนั้น บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ก็มีการทำกิจกรรมที่หลากหลาย เรามีการพาตัวแทนชาวบ้านไปดูงานเมืองระยอง ไปดูรูปแบบการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เมืองเก่ายมจินดา รวมถึงมหาลัยบ้านนอก บ้านจำรุง ที่สร้างโมเดลของการท่องเที่ยวด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน เป็นต้น ซึ่งการไปดูงานที่ระยองนี่สำคัญกับพวกเรามาก เพราะนอกจากเราจะได้เครือข่ายเพิ่มขึ้นและได้ถอดบทเรียนจากการทำงานของผู้คนที่นั่น เรายังได้ไอเดียเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้กลับมาด้วย

เราเห็นว่าทางกลุ่มยมจินดาเขาขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมกับผู้คนในชุมชน และเครื่องมือนี้แหละที่จะมาช่วยขยายพื้นที่จากเดิมที่เราอยู่แค่ในตลาดเก่า ให้ครอบคลุมทั้งเขตเทศบาลเมืองแก่งคอย นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เรากลับมาขอรับงบประมาณจาก บพท. เพื่อร่วมมือกับเทศบาล สร้างกลไกความร่วมมือขับเคลื่อนให้แก่งคอยเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

คุณมองเห็นศักยภาพอะไรของเมืองแห่งการเรียนรู้ในการพัฒนาเมืองได้
มันคือการสร้างกระบวนการให้คนในเมืองรู้จักเมืองของตัวเองให้ดีก่อน ที่ผ่านมา เวลาทำโครงการวิจัยด้านสังคมจะเรื่องอะไรก็ตามแต่ ก็จะมีนักวิจัยลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์ผู้คนในชุมชน และนำข้อมูลมาร้อยต่อกันจนเห็นภาพทั้งหมด ก่อนจะหาวิธีส่งคืนชุดความรู้นี้กลับสู่ชุมชน โดยชุมชนหรือหน่วยงานท้องถิ่นจะนำข้อมูลชุดนี้ไปทำอะไรต่อก็แล้วแต่ ซึ่งบ่อยครั้ง ชุดข้อมูลดังกล่าวอาจไม่ได้รับการต่อยอดหรือทำให้เป็นรูปธรรม

แต่มองกลับกัน ถ้าผู้คนในชุมชนซึ่งอยู่ในพื้นที่นี้อยู่แล้วได้เรียนรู้เรื่องราวในพื้นที่ของตัวเองอย่างรอบด้านตั้งแต่ต้น ซึ่งบางเรื่องพวกเขารู้อยู่แล้ว แต่มองข้ามไปหรือเพราะความคุ้นชินจึงทำให้เขาไม่สนใจ เราเข้ามาเป็นตัวกลางสร้างกระบวนการให้เขาได้เห็นบ้านเมืองตัวเองในเชิงลึก ให้ตระหนักถึงปัญหาและศักยภาพ สิ่งนี้จะนำมาสู่กระบวนการสร้างความร่วมมือพัฒนาบ้านเกิดของพวกเขาเอง

ผมมองว่าบ้านเกิดใคร ใครก็อยากเห็นการพัฒนาทั้งนั้น แต่ที่ผ่านมา เราอาจมองว่าเราต่างเป็นคนตัวเล็กๆ จะทำอะไรได้ หรืออาจไม่รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงของเมืองเกิดจากอะไร ถ้าทุกคนได้รู้และได้เห็นว่าถ้าร่วมมือกัน มันแก้ปัญหาได้ ตรงนี้แหละคือประเด็นสำคัญ

นั่นเป็นที่มาของการสร้างกิจกรรมเดินเมืองแก่งคอย หรือ Walk & Bike Rally ที่เป็นกิจกรรมหลักของโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้
ใช่ครับ Walk & Bike Rally เป็น 1 ใน 5 ขั้นตอนของการดำเนินงานวิจัย กิจกรรมนี้เราชวนตัวแทนทุกภาคส่วน ทั้งผู้คนในตลาด ชุมชน เอกชน หน่วยงานส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา และอื่นๆ มาเดินและปั่นจักรยานสำรวจเมืองกัน พร้อมกันนั้นก็เชิญผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขามาเป็นวิทยากรช่วยถอดรหัสเมืองของเรา หรือชี้ให้เห็นถึงแง่มุมต่างๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม

กิจกรรมนี้จัดอยู่ 4 ครั้ง ครั้งหนึ่งจะชวนตัวแทนมาร่วมกิจกรรมประมาณ 30 คน ในธีมที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ ที่เลือกกิจกรรมเป็น Walk & Bike Rally เพราะเรามีเป้าหมายไว้ด้วยว่า ถ้าเราทำให้แก่งคอยเป็นเมืองเดินได้ (walkable city) ทำให้การเดินเท้าสะดวกสบาย มันช่วยเชื่อมโหนดทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้ และทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้นด้วย

แล้วในการเดินแต่ละครั้ง มีประเด็นให้คนที่เข้าร่วมได้เรียนรู้อะไรบ้างครับ
ในกิจกรรมทั้ง 4 ครั้งจะมีโจทย์และวิทยากรรับเชิญที่แตกต่างกัน ครั้งแรกเราจัดในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2564 ใช้ชื่อว่า ‘ค้นหาเกาะแก่งในแก่งคอย’ ชวน รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา นายกสมาคมผังเมืองไทย มาเป็นวิทยากร ก็ร่วมกันเดินสำรวจกายภาพเมืองว่าในเขตเทศบาลเรามีปัญหาอะไรบ้าง ทางเท้าไม่ต่อเนื่อง เป็นหลุมบ่อ ไม่เอื้อต่อผู้สูงอายุและผู้พิการ ให้ทุกคนได้เห็นว่าเออเมืองเรามีปัญหานะ แต่ขณะเดียวกัน ถ้าแก้ปัญหาตรงนี้ มันจะกลับทำให้เมืองเราน่าอยู่ขึ้นด้วยเช่นกัน

โดยแบ่งทีมผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็น 4 ทีม ทุกคนจะได้สมุด Walk Rally และเอกสารคําใบ้ในการค้นหา Item ลับ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสังเกตปัญหาที่มีอยู่ในภาคพื้นที่ แล้วนํามาสรุปประเด็นข้อคิดเห็นต่อปัญหาของแต่ละกลุ่ม โดยอาจารย์พนิตก็จะมาถอดบทเรียนปัญหาเรื่องทางเท้า และศักยภาพในการพัฒนาให้เมืองเราเป็นเมืองเดินได้ในตอนท้าย

กิจกรรมครั้งที่ 2 เราจัดช่วงปลายเดือนตุลาคม ใช้ชื่อว่า ‘แก่งคอย “คอย” ได้’ มีคุณนำชัย แสนสุภา นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทยมาเป็นวิทยากร รอบนี้เป็นการขี่จักรยานสำรวจเมืองในเชิงภูมิสถาปัตยกรรม และค้นหาของดีของเมืองเราเพื่อนำไปต่อยอด โดยหลักๆ เราจัดกิจกรรมที่สวนสาธารณะของเมือง โดยในตอนท้ายก็ยังมีเวิร์คช็อปให้ทุกคนไปคิดถึงรูปแบบการพัฒนาสวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียว และพื้นที่ริมน้ำในเมืองด้วย

ส่วนกิจกรรมครั้งที่ 3 เราจัดในเดือนพฤศจิกายน ใช้ชื่อว่า ‘แก่งคอย อายุน้อยร้อยปี’ ได้ คุณพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย มาบรรยาย รอบนี้เป็นการเดินเพื่อค้นหาประวัติศาสตร์เมืองแก่งคอย โดยเฉพาะการไปเยือนร้านค้าในตลาดเก่าเพื่อค้นหาถึงต้นทุนและศักยภาพการพัฒนา ในตอนท้ายกิจกรรมจะมีโจทย์ให้ผู้เข้าร่วมแต่ละทีมได้ระดมความคิดหาแนวทางการพัฒนาตลาดเก่า

คุณพรนริศยังบรรยายถึงเกาะ Naoshima ของญี่ปุ่น เมืองเล็กๆ ที่มีทรัพยากรทางประวัติศาสตร์คล้ายกับแก่งคอย แต่ด้วยการจัดการรูปแบบการเดินเท้าและปั่นจักรยานอย่างเป็นระบบ เกาะเล็กๆ แห่งนี้จึงสร้างเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน ถือเป็น case study ที่ดีมากๆ

และกิจกรรมเดินเท้าครั้งสุดท้าย ‘ป่าสักสวัสดี’ มีคุณชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นวิทยากร รอบนี้เราเดินสำรวจเลียบแม่น้ำป่าสัก เพื่อสำรวจจุดเด่นในการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำมากระตุ้นเศรษฐกิจ เดินดูทั้งท่าเรือเก่าแก่ วัดแก่งคอยที่ติดกับแม่น้ำ ร้านกาแฟที่เคยเป็นโรงสีมาก่อน (โรงสีกาแฟ) เป็นต้น กิจกรรมทั้ง 4 ครั้งก็ประมาณนี้ครับ 

อยากให้เล่าถึงผลตอบรับจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม หรือได้บทเรียนอะไรเป็นพิเศษที่สามารถนำไปเป็นข้อเสนอของการพัฒนาเมืองบ้างครับ หลายประการเลยครับ หลักๆ คือผู้ร่วมกิจกรรมเกือบทั้งหมดเป็นชาวแก่งคอย แต่ถึงอย่างนั้น ด้วยกิจวัตรประจำวันของแต่ละคน ส่วนใหญ่ก็แทบไม่เคยได้เดินหรือเห็นแง่มุมหลายๆ อย่างของเมืองเราเลย การมาเดินครั้งนี้จึงทำให้ทุกคนได้มุมมองใหม่ๆ มาแลกเปลี่ยนกัน รวมถึงได้ฟังข้อเสนอและความรู้จากวิทยากรด้วย อย่างกิจกรรมการเดินครั้งที่ 3 ที่สำรวจตลาดเก่าเนี่ย เราก็คุยกันว่าอย่างตลาดน้ำอัมพวาหรือตลาด 100 ปีสามชุก เขาก็มีหลายอย่างเหมือนเรา แต่ประเด็นสำคัญคือ มันไม่ใช่แค่ตัวอาคารหรือสถาปัตยกรรมเก่าที่ทำให้พื้นที่เขาโดดเด่น แต่เป็นเพราะเขามีผู้คนที่แอคทีฟ มีคนรุ่นใหม่มาร่วมกันสร้างสรรค์ย่านร่วมกับคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งแก่งคอยเรายังขาดตรงนี้ แล้วเราจะทำยังไงดีให้ดึงดูดคนรุ่นใหม่กลับมา

หรือกิจกรรมครั้งที่ 4 ที่เราไปสำรวจริมน้ำเพื่อหาแนวทางฟื้นฟู ก็ได้ไอเดียเรื่องการปรับปรุงพื้นที่เพื่อไปเสนอเทศบาล เพราะเทศบาลก็เห็นศักยภาพริมแม่น้ำป่าสักแบบเดียวกับเรา โดยทางนั้นได้ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองมาสร้างทางเดินเลียบแม่น้ำ แต่มันยังเป็นทางเดินแข็งๆ เราก็เห็นว่าเราทำให้มันสวยหรือน่าดึงดูดกว่านั้นได้ เป็นต้น

เข้าใจว่ากิจกรรมเดินเมืองเป็นขั้นตอนหนึ่งของโครงการวิจัย เลยอยากให้เล่าถึงขั้นตอนต่อจากนั้นให้ฟังดัวยครับ
ใช่ครับ กิจกรรมเดินเมืองอยู่ในขั้นตอนที่ 2 โดยขั้นตอนแรกคือการทำ local study ศึกษาข้อมูลของเมืองผ่านการทำสัมภาษณ์และเอกสาร ส่วนขั้นตอนที่ 3 ที่ต่อจากการเดินเมืองคือการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ ซึ่งเราก็ไม่ได้ไปสร้างพื้นที่ใหม่จากไหน นอกจากเอาที่ที่มีอยู่แล้วมาพัฒนา

อย่างอาคารที่เรานั่งคุยอยู่ตรงนี้ (ห้องนั่งเล่นแก่งคอย) ซึ่งแต่เดิมเป็นร้านขายวัสดุก่อสร้างของครอบครัวผม พอไม่ทำกิจการนี้แล้ว ผมเลยขอใช้พื้นที่ รีโนเวทให้กลายเป็นห้องประชุมเกี่ยวกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในเมือง หรือเวลารับแขกที่เป็นทีมนักวิชาการหรือนักพัฒนา เราก็เปิดพื้นที่นี้รองรับ

กับอีกจุดหนึ่งคือ บ้านไม้แก่งคอยในตลาดท่าน้ำแก่งคอย ตรงนี้เป็นจุดที่เราพยายามจะสร้างเศรษฐกิจใหม่ในย่านการค้าเก่าแก่ที่มันซบเซาลงไปแล้ว ก็ได้ผู้ประกอบการในแก่งคอยร่วมลงขันตั้งบริษัท แก่งคอยเน็กซ์ จำกัด ขึ้นมา และเช่าตึกไม้ในตลาดมารีโนเวท ทำในนาม มหาลัยแก่งคอย กลุ่มที่คอยขับเคลื่อนกิจกรรมด้านการเรียนรู้ต่างๆ โดยบ้านไม้นี้เราได้ทำพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวของเมือง ห้องหนึ่งแสดงรูปถ่ายเก่าๆ และมีที่นั่งประชุม โดยอีกส่วนก็ชักชวนคนในชุมชนมาทำตลาดถนนคนอยากเดินขึ้น ก็ได้รับผลตอบรับค่อนข้างดีครับ เพียงแต่พอทำไปสักพัก โควิด-19 ก็กลับมาระบาดอีกครั้ง เลยต้องพักไป เพิ่งจะกลับมาจัดอีกครั้งร่วมกับงานแก่งคอยย้อนรอยสงครามโลกครั้งนี้ (สัมภาษณ์เมื่อเดือนเมษายน 2566 – ผู้เรียบเรียง)

อันนี้คือขั้นตอนที่ 3
ใช่ครับ ขั้นตอนที่ 4 คือการสร้างกระบวนการการเรียนรู้ให้กับเมือง เรามองถึงการหาบุคลากรคนรุ่นใหม่มาช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมที่จะเกิดหลังจากหมดโครงการนี้ลง เพื่อจะทำให้กลไกมันเดินต่ออย่างยั่งยืน ผมก็ไปคุยกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) ที่เขามีโครงการผลักดันนักดิจิทัลพัฒนาเมืองอยู่แล้ว เพื่อให้เทศบาลเมืองแก่งคอยได้เข้าร่วมโครงการ และก็ไปคุยกับทางเทศบาลเมืองแก่งคอย ให้ช่วยสนับสนุนค่าจ้างคนมาทำงานตรงนี้หนึ่งคน ทางบริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ก็สนับสนุนค่าจ้างให้อีกหนึ่งคน จึงได้นักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ที่เป็นคนแก่งคอย 2 คนมาทำงานประจำ คอยเชื่อมระหว่างหน่วยงานพัฒนาเมืองต่างๆ เข้ากับเทศบาล และสถานศึกษาในพื้นที่ ในการขับเคลื่อนกิจกรรมการเรียนรู้ รวมถึงทำโครงการด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะทำเวิร์คช็อปพัฒนาสินค้าท้องถิ่น ทำสื่อ หรืออะไรก็ตาม

และขั้นตอนที่ 5 คือการส่งต่อชุดข้อมูลสู่แผนบริหารจัดการเมืองรวมถึงแผนธุรกิจ เราก็มีบริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด, บริษัท แก่งคอยเน็กซ์ จำกัด, กลุ่มตลาดท่าน้ำแก่งคอย, กลุ่มหอการค้าแก่งคอย และเครือข่ายอื่นๆ นำข้อมูลที่ได้ไปหาทางเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการในเมืองของเราอยู่แล้ว รวมไปถึงเชื่อมไปยังกลุ่ม OTOP ของ 16 ชุมชนในเขตเทศบาลแก่งคอยด้วย

และอีกส่วนที่สำคัญ คือการส่งแผนแม่บทการพัฒนาแก่เทศบาลเมืองแก่งคอย ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางสระบุรีพัฒนาเมืองก็ได้ทำ MOU กับทางเทศบาลในการพัฒนาเมืองน่าอยู่ในกรอบของสมาร์ทซิตี้ร่วมกัน ทีนี้ข้อเสนอจากงานวิจัยของเราก็สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดนโยบายของภาครัฐได้ นอกจากนี้ พอผมนำแผนนี้และนำไปคุยกับทางเทศบาลเมืองสระบุรี ทางนั้นเขาก็สนใจ และมีแผนจะทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต

คุณมีวิธีการโน้มน้าวเพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นอย่างไร
เรามีข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยและข้อเสนอไปเสนอแล้ว และอย่าลืมว่าเราทำงานในฐานะบริษัท จึงมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน มีการแจกแจงว่าเทศบาลจะต้องหางบมาสนับสนุนโครงการตรงไหนอย่างไร บริษัทเราสนับสนุนตรงไหนอย่างไร ภาพมันจึงเคลียร์ อย่างไรก็ดี แผนที่เราวางไว้คือการพัฒนาเมืองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ซึ่งยังถือเป็นภาพย่อย ในภาพใหญ่ที่เราตั้งใจไว้คือการทำให้สระบุรีทั้งเมืองเป็นหุบเขาอาหาร (Food Valley) ของประเทศไทย เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งด้วยทำเลที่ตั้ง ศักยภาพที่เรามี พื้นที่ทั้งทางด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม เราพร้อมหมด

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ก็เพิ่งเซ็น MOU กับผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ในโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนและยกระดับให้สระบุรีเป็นหุบเขาอาหารทั้งจังหวัด ซึ่งผมคิดว่าอีก 5-10 ปีข้างหน้า มันเป็นไปได้  

กลับมาที่แก่งคอย ตอนนี้เราได้ทำ MOU ร่วมกันพัฒนาเมืองกับเทศบาลแล้ว เลยอยากรู้ว่า ถ้ามองในมุมของคนแก่งคอย พวกเขาควรได้รับการสนับสนุนการเรียนรู้ด้านไหนเป็นพิเศษ เพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาเมืองครับ
น่าจะเรื่องการทำมาหากินเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจครับ ทำยังไงให้สินค้าและบริการของเรามันตอบโจทย์กับผู้บริโภคในยุคปัจจุบันและในอนาคตได้ เราจะ transform ต้นทุนที่เรามียังไง นี่แหละสำคัญ และก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อคนแก่งคอยเหมือนกัน เนื่องจากที่ผ่านมา พอเมืองมันกระจายตัวมากขึ้น ตลาดก็กระจายตาม คนที่ทำงานโรงงานที่เป็นลูกค้าหลักของพ่อค้าแม่ค้าในตลาดดั้งเดิมก็ลดน้อยลง ส่วนเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว ตอนนี้เรามีวัดแก่งคอยที่เขาหันไปโฟกัสกับถ้ำนาคาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวสายมู ก็ได้รับความนิยมสูงทีเดียว แต่ผมไม่มั่นใจว่าสิ่งนี้ (ความเชื่อสายมู) จะยั่งยืนอะไรต่อเมือง กลไกเมืองแห่งการเรียนรู้ที่เราทำอยู่ ส่วนหนึ่งมันก็ทำให้คนแก่งคอยได้เห็นนะว่าเมืองเรามีต้นทุนอะไรบ้างที่มากกว่าที่เป็นอยู่ และเราจะหาวิธีเพิ่มมูลค่าหรือสร้างแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวแวะเข้ามายังไง อันนี้ก็ต้องคุยกันต่อไป

กับอีกเรื่องคือ การเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่หรือลูกหลานของเรากลับมาช่วยพัฒนาเมือง เราควรเรียกร้องเรื่องอะไร หรือเราควรจะต้องร่วมกันทำอะไร ที่ไม่ใช่แค่เรื่องการทำธุรกิจ ถ้าเกิดเราสร้าง community มี learning space อะไรต่างๆ เพื่อเปิดให้เห็นถึงโอกาสใหม่ๆ ในการทำงานหรือการอยู่อาศัยในบ้านเกิด ก็น่าจะสร้างแนวโน้มที่ดีได้เช่นกัน

คำถามสุดท้าย เข้าใจว่างานแก่งคอยย้อนรอยสงครามโลก ซึ่งปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 12 ส่วนหนึ่งมาจากความคิดของคุณด้วย นี่เป็นตัวอย่างของการนำต้นทุนของการเรียนรู้เกี่ยวกับเมืองมาใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างที่คุณอยากให้เป็นด้วยใช่ไหมครับ
ใช่ครับ งานนี้ไม่ได้ทำในฐานะบริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด แต่เป็นงานที่ผมร่วมทำในฐานะตัวแทนของหอการค้าจังหวัดสระบุรี ซึ่งร่วมมือกับทางเทศบาลเมืองแก่งคอย และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี ปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 12 แล้ว

แต่เดิมเนี่ย ทุกๆ วันที่ 2 เมษายน คนแก่งคอยเขาจะจัดพิธีรำลึกผู้เสียชีวิตในสงครามโลกที่วัดแก่งคอยกันอยู่แล้ว หอการค้าฯ ก็เลยมาคิดกันว่า ในเมื่อเรามีต้นทุนทางประวัติศาสตร์ ก็น่าจะใช้เป็นจุดขายดึงให้คนมาเที่ยวและรู้จักแก่งคอยให้มากขึ้น จึงนำมาซึ่งการริเริ่มจัดถนนวัฒนธรรม ชวนคนร่วมงานให้แต่งตัวย้อนยุค และสร้างบรรยากาศให้เหมือนได้มาเดินตลาดย้อนยุค นำคนเฒ่าคนแก่ที่ยังทันเหตุการณ์ขึ้นเวทีบอกเล่าประสบการณ์ ขณะที่ทาง อบจ. เขาก็ไปจ้างทีมแสงสีเสียงมาทำโชว์บอกเล่าประวัติศาสตร์ตรงเวทีริมแม่น้ำ

และมันก็ประจวบเหมาะกับช่วงก่อนที่เราจะจัดงานปีแรก ย่านการค้าในเมืองมันซบเซา งานนี้เลยน่าจะช่วยสร้างชีวิตชีวาให้ย่านด้วย ผมกับทีมงานจึงไประดมหาสปอนเซอร์จากคนในตลาดนี่แหละ เพื่อทำให้งานมันเกิดขึ้นมาได้

อย่างไรก็ตาม ปีแรกผู้ประกอบการบางร้านเขาก็ไม่โอเค เพราะเราต้องปิดถนนหน้าร้านเขา ก็โดนต่อต้านเหมือนกัน แต่พอจัดขึ้นปีที่สอง เสียงที่เคยต่อต้านก็ค่อยๆ หายไปแล้ว เพราะพอจัดงาน ตลาดมันก็กลับมาคึกคัก เขาก็พลอยขายของได้ด้วย

จากพิธีกรรมเลยกลายเป็นเทศกาลประจำปีขึ้นมาเลย
เอาจริงๆ เลยนะ หลังจากจัดงานมา 4 ปี ส่วนตัวผมมองว่ามันอาจพอได้แล้ว เพราะคิดว่าการจัดงานอาจไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวได้มากเท่าที่ควร แต่ก็มีอีกหลายเสียงบอกว่าอยากให้จัดต่อไป อยากให้มันเป็นประเพณีของแก่งคอยไปเลย ก็เลยโหวตกัน ปรากฏว่าเสียงที่บอกว่าอยากให้จัดต่อชนะ เนื่องจากเราทำงานด้วยการเคารพเสียงส่วนใหญ่ เลยจัดต่อร่วมกัน

ซึ่งมาคิดทีหลังอีกครั้ง ก็พบว่าดีแล้วที่ได้จัดต่อ เพราะเมื่อผมได้ฟังเสียงสะท้อนแม่ค้าพ่อค้าหลายรายที่เป็นคนแก่งคอยและมาออกร้านตั้งแผงขายของในงาน เขาบอกว่าทุกครั้งที่จัดงาน หนึ่งเขาได้ค่าเทอมลูก สองได้จ่ายค่าเช่าบ้าน หรือเคลียร์หนี้ต่างๆ ซึ่งตรงนี้ผมไม่เคยคิดมาก่อน จัดงานครั้งนึงมีคนมาเดินเป็นหมื่น บางร้านวันหนึ่งขายได้ถึงสองหมื่นก็มี ก็เลยเห็นว่าเป็นประเพณีประจำปีแล้วไม่มีผู้ประกอบการในเมืองคนไหนต่อต้าน ก็น่าจะดีเหมือนกัน

ขณะเดียวกัน ในฐานะที่เราทำบริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด รวมถึงกลุ่มมหาลัยแก่งคอย เราก็พยายามร่วมกับภาคส่วนต่างๆ หาจุดขายใหม่ๆ หรือกิจกรรมทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เมืองแก่งคอยเกิดความยั่งยืนต่อไปด้วยเช่นกัน  

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย