เพราะอันที่จริงแล้ว หน่วยงานรัฐเป็นแค่ผู้สร้างแพลตฟอร์มและการอำนวยความสะดวก แต่ฝ่ายที่จะทำให้แพลตฟอร์มนั้นตอบโจทย์ความต้องการและวิถีชีวิตพวกเรามากที่สุด ก็คือพวกเราเอง

Start
436 views
9 mins read

“พี่เป็นคนนครศรีธรรมราช มีโอกาสมาเยือนยะลาครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน ชอบความที่เมืองไม่เอะอะวุ่นวาย ผู้คนเป็นมิตร อากาศดี มีสวนสาธารณะที่ร่มรื่น และผังเมืองที่สวยมาก เลยคิดว่ายังไงเสียเราจะต้องสอบบรรจุเป็นข้าราชการที่นี่ให้ได้

ปัจจุบันพี่เป็นผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลนครยะลา หน้าที่หลักคือทำแผนยุทธศาสตร์ของเมือง นำนโยบายของผู้บริหารแปลงออกมาเป็นงานปฏิบัติการ ดูเรื่องการจัดสรรงบประมาณ แผนประชาสัมพันธ์ และสารสนเทศของเทศบาล

เทศบาลนครยะลาเรามีพื้นที่การเรียนรู้หลักๆ คือ TK Park Yala ซึ่งเป็นอุทยานการเรียนรู้ระดับภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย โดยตั้งอยู่ภายในศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา เป็นทั้งสวนสาธารณะและสนามกีฬาของเมือง เรียกได้ว่าพื้นที่การเรียนรู้ของเราเป็นทั้งพื้นที่สีเขียวสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายไปพร้อมกัน

ไม่เพียงการจัดสรรพื้นที่เรียนรู้ แต่เทศบาลยังให้ความสำคัญกับการเข้าถึงองค์ความรู้ เราจึงมีการจัดสรรอินเทอร์เน็ทไวไฟสาธารณะให้ประชาชนได้ใช้ฟรี 83 จุดทั่วเขตเทศบาล ซึ่งปัจจุบันเราอยู่ระหว่างการขยายสัญญาณให้ครอบคลุมมากที่สุดทั้งโซนร้านค้า สถานที่ราชการ และพื้นที่สาธารณะ

เราเชื่อว่าอินเทอร์เน็ทควรเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานให้คนทุกคนได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ และในกรณีที่ประชาชนคนไหนไม่มีเครื่องมือที่จะใช้ ก็สามารถมาใช้บริการเพื่อค้นคว้าข้อมูลได้ฟรีที่อุทยานการเรียนรู้ของเรา ซึ่งที่นั่นก็มีห้องสมุดขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองให้บริการหนังสืออย่างครอบคลุม

ทั้งนี้นอกจากการให้ความสำคัญกับการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ยะลายังเป็นเมืองต้นแบบสมาร์ทซิตี้ (smart city) โดยเฉพาะการบริหารจัดการเมืองแบบ Smart governance เช่นไวไฟอินเทอร์เน็ทที่กล่าวไปแล้ว การจัดทำแอปฟลิเคชั่นของเมืองบน Line official account เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของเทศบาลให้กับประชาชน การร้องเรียนเรื่องต่างๆ การแจ้งเหตุฉุกเฉิน ไปจนถึงการเก็บข้อมูลด้านสาธารณสุขและภาษี ปัจจุบันเรากำลังศึกษาและพัฒนาเรื่องการใช้ระบบไฟฟ้า EV ในอาคารสำนักงานของเทศบาล เพื่อทำให้ smart governance ครอบคลุมทุกกระบวนการทำงานและรองรับประชาชนผู้มาใช้บริการมากที่สุด

อย่างที่กล่าว สำหรับพี่ยะลามีต้นทุนที่ดีอยู่แล้วค่ะ ผู้นำมีวิสัยทัศน์ สาธารณูปโภคมีความพร้อม มีสถานศึกษาครบ และบรรยากาศเมืองสงบและสะอาด อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจคือเราจะพัฒนาต้นทุนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทซิตี้ หรือความพยายามจะเป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกให้ไปต่ออย่างไร

ซึ่งพี่คิดว่าหน้าที่ตรงนี้ควรจะเป็นของประชาชนชาวยะลาทุกคนที่มากำหนดทิศทาง กำหนดอนาคต และหาวิธีขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยกัน เพราะอันที่จริงแล้ว เทศบาลเป็นแค่ผู้สร้างแพลตฟอร์มและการอำนวยความสะดวก แต่ฝ่ายที่จะทำให้แพลตฟอร์มนั้นตอบโจทย์ความต้องการและวิถีชีวิตพวกเรามากที่สุด ก็คือพวกเราเอง”  

วีร์ธิมา ส่งแสง

ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลนครยะลา

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย