“ส่วนบริหารการศึกษา สำนักการศึกษา เทศบาลนครยะลา กำลังอยู่ระหว่างจัดทำเอกสารประกอบการเรียนการสอนเรื่องราวท้องถิ่นของเมืองยะลา เพราะเราคิดว่าการทำให้คนยะลารู้จักประวัติศาสตร์และที่มาของบ้านเกิดตัวเองได้ดีนั้น ต้องเริ่มจากการปูพื้นที่การศึกษาในห้องเรียนตั้งแต่เด็ก
ก่อนหน้านี้เรามีการบรรจุวิชาท้องถิ่นเมืองยะลาไว้อยู่ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลอยู่แล้ว เพียงแต่เรายังไม่มีตำราเรียนใช้อย่างเป็นทางการที่สามารถเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้อ่าน ทั้งนี้ การที่เทศบาลนครยะลาได้ร่วมงานกับโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ จัดงาน ‘ยะลาสตอรี่’ ซึ่งมีรูปแบบการเล่าเรื่องเมืองยะลาอย่างสร้างสรรค์และทันสมัย ก็มีส่วนสำคัญทำให้ทางเรากลับมาปรับปรุงหลักสูตรการสอนเรื่องท้องถิ่นให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบันของคนรุ่นใหม่
เพราะเราต้องบอกนักเรียนให้ได้ก่อนว่าเราจะเรียนรู้เรื่องเมืองของเราไปทำไม เรียนเพื่อได้รู้จักตัวเอง รู้จักบ้านเกิดของเราเอง และรู้จักที่จะใช้ต้นทุนตรงนี้มาพัฒนาเมืองและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราเอง จากนั้นก็เป็นเรื่องจำเป็นที่บทเรียนเรื่องท้องถิ่นมีความสนุกสนานหรือเพลิดเพลิน เพราะสิ่งนี้จะทำให้การศึกษาเข้าถึงนักเรียนได้มากที่สุด
หลังจากปรับปรุงเอกสารประกอบการเรียนการสอนอันนี้ เราก็มีแผนจะเผยแพร่ไปยังโรงเรียนนอกสังกัดเทศบาลที่อยู่ในตัวเมืองยะลาทั้งหมด รวมถึงประสานไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาให้นำเอกสารนี้ไปใช้ต่อไป เช่นเดียวกับเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปในเมืองยะลาได้เรียนรู้ด้วยเช่นกัน
หลายคนอาจไม่ทราบว่ายะลาได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตาม พรบ.นวัตกรรมการศึกษา มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกสรี ลัดเลีย เป็นหัวหน้าโครงการ และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาคือพื้นที่ที่ท้องถิ่นได้รับอิสระในการทดลองออกแบบหลักสูตรและสื่อการศึกษาของตัวเองให้มีความสอดคล้องกับบริบทและความต้องการของชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาเรามีโครงการทางนวัตกรรมอันหลากหลาย และหนึ่งในนั้นคือการปรับปรุงหลักสูตรและจัดทำเอกสารประกอบการเรียนการสอนท้องถิ่นยะลาเช่นที่กล่าวไปแล้ว
ส่วนคำถามที่ว่าอยากให้คนยะลาเรียนรู้เรื่องอะไรเป็นพิเศษ พี่คิดว่าอยากให้พวกเราได้เรียนรู้เรื่องความร่วมมือและมีจิตสาธารณะค่ะ เพราะที่ผ่านมา อย่างที่ทราบกันว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ฉุดรั้งการพัฒนาเมืองของเราอย่างมาก แต่ทุกวันนี้เราไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวอีกแล้ว เพียงแต่สถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้หลายคนหวาดระแวง และสภาพความกลมเกลียวในสังคมก็เริ่มอ่อนแอ ในขณะที่เมืองของเรามีเครือข่ายที่พยายามพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ อยู่หลายเครือข่าย แต่พอผู้คนบางส่วนไม่มีจิตสาธารณะ หรือไม่เห็นความสำคัญในเรื่องส่วนร่วม การขับเคลื่อนดังกล่าวก็ไม่เป็นผล
เมืองจะไม่มีทางพัฒนา ถ้าคนในเมืองไม่พัฒนา และไม่มีจิตสำนึกในการเป็นเจ้าของเมืองร่วมกัน ก็เลยคิดว่าถ้าคนส่วนใหญ่ได้เรียนรู้ มีทักษะทางวัฒนธรรม และมีจิตสาธารณะ ยะลาจะพัฒนาได้มากกว่านี้อีกเยอะค่ะ”
ยะสี ลาเต๊ะ
ผู้อำนวยการส่วนบริหารการศึกษา สำนักการศึกษา เทศบาลนครยะลา