เมืองแห่งการเรียนรู้จึงไม่ใช่แค่การสนับสนุนให้คนในเมืองได้เรียนรู้ แต่ภาครัฐจำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยเหมือนกัน

Start
345 views
11 mins read

“พะเยาเป็นหนึ่งในสี่เมืองของไทย ที่ได้รับการเสนอชื่อขึ้นทะเบียนเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก ซึ่งก่อนหน้านี้เราในฐานะทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพะเยา ได้ขับเคลื่อนโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ต่อเนื่องมาสองปี ปีนี้เป็นปีที่สามแล้วครับ (ทั้งสี่เมืองประกอบด้วยเชียงใหม่ สุโขทัยและหาดใหญ่ โดยเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 จังหวัดพะเยา ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกอย่างเป็นทางการ)

ในปีแรกของโครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ เราเน้นที่การประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนในเขตเทศบาลเมืองเข้าใจก่อนว่าเราจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ไปทำไม เป็นแล้วมันจะดีต่อเมือง หรือช่วยปากท้องชาวบ้านได้อย่างไร

พอเข้าปีที่สอง นอกจากเราจะได้ขยายพื้นที่โครงการจากความร่วมมือขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เรายังมุ่งสร้างเครือข่ายพื้นที่การเรียนรู้ในเมืองเป็นหลัก โดยใช้กลไกจากโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG

BCG เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการหมุนเวียนทรัพยากร และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมกับสังคมและสิ่งแวดล้อม


แม้ดูเป็นคำที่ใหม่ แต่เอาเข้าจริงผู้ประกอบการในพะเยามีรูปแบบการทำธุรกิจและวิถีชีวิตเชื่อมโยงกับ BCG อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกายหรืออาหารการกินส่วนใหญ่ก็มาจากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ทั้งนั้น

ส่วนในปีที่สาม เรายังเน้นไปที่การสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการ เท่าๆ กับที่หารูปแบบการดำเนินโครงการของเราให้ยั่งยืนโดยอาจไม่ต้องพึ่งพา ทุน บพท. ในอนาคต เพราะเราไม่อยากให้โครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ต้องหยุดลง หากเกิดเราไม่ได้รับทุนสนับสนุนต่อ ก็คิดว่างั้นจะทำยังไงได้ ผู้ประกอบการจะมีส่วนขับเคลื่อนโครงการได้ด้วยตัวเองอย่างไร ซึ่งหนึ่งในวิธีที่คิดไว้คือการก่อตั้งบริษัทพัฒนาเมือง แสวงหาการร่วมทุน หรือการที่ชุมชนมาเป็นหุ้นส่วนในโครงการพัฒนาเมือง ซึ่งก็ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับเครือข่าย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป  

ผมมองว่าในหลายปีหลังมานี้ คนพะเยาและเครือข่ายชุมชนต่างๆ มีความตื่นตัวในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาส่งเสริมอาชีพหรือพัฒนาธุรกิจได้พอสมควรเลยนะครับ ติดอยู่ก็ตรงที่การบริหารจัดการของหน่วยงานราชการที่ยังล่าช้ากว่าโลกปัจจุบันพอสมควร เช่น พวกงานทะเบียนเอกสาร ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ

คุณดูอย่างธนาคารทุกวันนี้สิ เขามีแอปพลิเคชั่นรองรับธุรกรรมทางการเงินรวดเร็วมากๆ แต่พอมาเป็นราชการ ติดต่อเรื่องทะเบียนอะไรที ก็อาจเสียเวลารอ หรือคนป่วยไปใช้บริการโรงพยาบาลรัฐ ทุกวันนี้คุณยังต้องไปจองคิวตั้งแต่ตีสี่ตีห้าอยู่เลย

ผมมองว่าถ้าระบบราชการเปลี่ยนได้ ไม่เพียงทำให้การพัฒนาเมืองมันเคลื่อนได้เร็ว คุณภาพชีวิตคนในเมืองก็จะดี และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้มากด้วย

เมืองแห่งการเรียนรู้จึงไม่ใช่แค่การสนับสนุนให้คนในเมืองได้เรียนรู้ แต่ภาครัฐจำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยเหมือนกัน เรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เรียนรู้ที่จะลดขั้นตอนการทำงานไม่ให้เชื่องช้าอุ้ยอ้าย เรียนรู้ที่จะปรับตัวไปตามโลกที่เปลี่ยนไป

เพราะอย่าลืมว่ารัฐคือกลไกสำคัญที่จะทำให้เมืองพัฒนา จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าคนในเมืองแอคทีฟ ผู้ประกอบการแอคทีฟ และผู้บริหารเมืองก็แอคทีฟ แต่ระบบการจัดการเมืองไม่แอคทีฟตาม”

ผศ.ดร.รัฐภูมิ พรหมณะ
รองผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา
และนักวิจัยในโครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย