/

เราสอนด้วย เข้าอบรมด้วย ได้ความรู้ใหม่ๆ ไปจนใบประกาศเต็มแฟ้ม เพราะการเรียนรู้มันตลอดชีวิต

Start
780 views
15 mins read

“ป้าเปิดร้านอาหารอยู่ในกองบิน 2 ลพบุรีมาก่อน เรามีหนี้สินเยอะมาก ลองมาทุกอย่างแล้ว มันไม่ได้ ยิ่งดิ้นยิ่งจม พอมาทำเบเกอรี มันได้เป็นชิ้นเป็นอัน ปลดหนี้ซื้อบ้านได้เพราะค่าขนมล้วน ๆ คือเราไปเรียน กศน. ก่อน แล้วก็อาสาไปทำกับร้านขนม แบบขอเขาเรียน ช่วยเขาทำทุกอย่าง ทำหลายเดือนจนได้สูตรมาบ้าง แล้วก็มาเรียนที่รัศมีเบเกอรี กรุงเทพฯ กลับมาหัดทำ ให้ชาวบ้านชิม เขาก็บอกให้ป้าขายเลย เมื่อก่อนขายเค้กปอนด์ละห้าสิบบาท ปีใหม่นี่ขายได้ถึงแสน ก็เลยทำเฉพาะเบเกอรี ร้านอาหารก็ให้เด็กทำ

ทีนี้เราย้ายมาอยู่บึงยี่โถ มาดูแลหลานเข้าโรงเรียน ก็เปิดร้านเพิ่มที่นี่ เบเกอรีเราเป็นสูตรโบราณ ตอนหลังไปศูนย์การค้ามันก็มีเยอะเลย ก็หันมาเป็นขนมไทยบ้าง วุ้นแฟนซี ขนมชั้น ลูกเราชอบขนมโบราณ ก็ทำสำปันนี ทองเอก ก็ขายดี พอช่วงโควิด ร้านมันเงียบ ไม่มีคนเดิน ก็หยุดหน้าร้านไป แต่รับทำตามสั่ง อย่างเปียกปูนกะทิสดก็ขายดีมาก วันนึงสั่งสองสามร้อย บางวันเป็นพัน

ตอนนี้เราเป็นวิทยากรด้วย งานสอนเยอะ ไปถ่ายทอดภูมิปัญญา คือป้าก็เริ่มจากมีชมรมผู้สูงอายุ ทางประธานสาขาสภาปทุมธานีแนะนำให้จัดตั้งชมรม จดเป็นเครือข่ายสภาผู้สูงอายุ แล้วทางเทศบาลบึงยี่โถก็ส่งป้าไปอบรม “โครงการเสริมสร้างคุณค่าภูมิปัญญาผู้สูงวัย” มีแห่งแรกของประเทศไทยนะ จังหวัดปทุมธานี ป้าอบรมหนึ่งปีที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ที่คลอง 5 จบแล้วก็ได้ใบประกาศ เราก็เอาใบประกาศนี้ไปสอนได้ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานปทุมธานีเปิดอบรมเทคนิคการสอน ป้าไปเรียน ก็ได้เป็นวิทยากรของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย เขาเปิดอบรมอะไรเราก็ไป แล้วก็เอามาสอนด้วย คือเป็นวิทยากรอาชีพสอนทุกกระทรวงแล้ว

ป้าเพิ่งไปสอนที่กรมผู้สูงอายุ สอนทาง zoom เขาก็มารับเราไปห้องซูมที่กระทรวง มีคนตั้งกล้องให้ นักเรียนจากสงขลา ภูเก็ตเขาเรียนและถามทางซูม เราไม่ต้องเดินทางไปถึงสงขลา วันนั้นสอนปั้นขลิบบัวสาย เราเป็นคนปทุมเนอะ ได้เรียนรู้จากราชมงคล (มทร.ธัญบุรี) ใช้บัวที่ทำต้มสายบัวนี่แหละ มาทำเป็นส่วนผสม แค่เราเสริมบัวเข้าไปเราก็แตกต่างแล้ว สัญลักษณ์ของจังหวัดนั้น ๆ ก็เอามาทำได้ เราสอนด้วย เข้าอบรมด้วย ได้ความรู้ใหม่ ๆ ไปจนใบประกาศเต็มแฟ้ม เพราะการเรียนรู้มันตลอดชีวิต

ถ้าไม่มีอะไร ไม่มีสอน ส่วนใหญ่ก็มาทำกิจกรรมที่ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุบ้านฟ้ารังสิต ศูนย์นี้เดิมเป็นพื้นที่ของหมู่บ้านที่ป้าอยู่ ก็มีอบายมุขน่ะค่ะ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาลงพื้นที่ ก็ช่วยจัดตั้งศูนย์ฯ เทศบาลบึงยี่โถลงทุนให้หมด ส่งกองช่างมาปรับปรุงสถานที่ สระน้ำทำใหม่ มีห้องกิจกรรม ห้องคาราโอเกะ มีพร้อมทุกอย่าง ป้าก็เป็นกรรมการ ถ้าที่นี่สนใจวิชาอะไรของป้า ป้าก็ไม่คิดค่าวิทยากร เราจ่ายค่าบริการรายปีของศูนย์ผู้สูงอายุมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ ตอนนี้มีสมาชิกสองพันกว่าคน ไม่ได้รับผู้สูงอายุอย่างเดียว รับทุกกลุ่ม ทั้งสามวัยเลย ตั้งแต่เด็กเล็กมา มีสระว่ายน้ำเด็ก มีครูสอนว่ายน้ำ ค่าสอนก็คิดต่างหากจ่ายให้ครูไป

กิจกรรมที่ทำมีเป็นตาราง เรียนร้องเพลงเดือนละสองครั้ง มีนักดนตรีจากวงดิ อิมพอสซิเบิ้ลมาสอนนะ พอร้องเพลงเสร็จครูก็จะพาไปออกพื้นที่ เช่นไปร้องที่เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ กิจกรรมมีโยคะ รำไทย ไลน์แดนซ์ มีเยอะมาก ห้องร้องเพลงเปิดตลอด มาแล้วว่างก็ร้องได้ เรามาที่นี่ก็ได้พูดคุย มาสระว่ายน้ำก็มีความสุข เรารู้จักหมดทุกคน แต่ก่อนไม่มีเลย อยู่บ้านใครบ้านมัน ตอนนี้ไม่หงอยแล้ว สมาชิกคนอื่นก็ติดศูนย์ฯ เหมือนกัน คนที่ติดก็มา คนที่ไม่เคยมาเขาก็ไม่มา เราก็พยายามไปชวนเขามา บอกว่าสนุกนะ ได้ออกกำลังกาย

ป้าอายุ 78 เป็นผู้สูงอายุติดสังคม เขามีกิจกรรมอะไรเรามาหมด เมื่อก่อนก็ไลน์แดนซ์เหมือนกัน แต่มันมีหมุน เราไม่อยากหมุน เดี๋ยวมันเวียนหน้า ผู้สูงอายุยังใช้ชีวิตอยากเข้าสังคมเหมือนเดิม แต่ลดกำลังให้เบาลง เขาไม่ได้อยากอยู่บ้าน อย่างเรามาว่ายน้ำที่นี่ชั่วโมงนึงไม่เหนื่อยเลย แต่ถ้าออกข้างนอกชั่วโมงนึงเราเหนื่อย ช่วงโควิดสระว่ายน้ำก็ไม่เปิด กิจกรรมก็ไม่เปิด ต้องอยู่บ้าน นี่ศูนย์ฯ เพิ่งกลับมาเปิด สามีป้าก็อายุเท่ากัน แต่เขาไม่ค่อยออกสังคมเท่าไหร่ เขามีก๊วนเปตอง เล่นตอนเช้า พวกผู้ชายเขาจะไปเดิน ไปเล่นเครื่องออกกำลัง ที่สวนสุขภาพของหมู่บ้าน กลางแจ้ง ทางนี้มีผู้หญิงเยอะอะเนอะ ไม่ค่อยมีผู้ชาย นอกจากมาเข้าฟิตเนส ลุงก็ไปทางโน้น ป้าก็ชวนมาร้องเพลงด้วยกัน นี่ก็เดี๋ยวจะชวนกันไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ศูนย์แพทย์บึงยี่โถ เขาบริการดีมาก ศูนย์เดย์แคร์ใหญ่มาก ต่อไปนี้เราจะมีที่ล้างไตของเราเอง มีเครื่องเอ็กซ์เรย์เอง มีห้องทำฟันสวยมาก เหมือนโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เลย”

เรวดี แจ้งไพร

หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านฟ้าเบอเกอรี่

กรรมการศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุบ้านฟ้ารังสิต เทศบาลเมืองบึงยี่โถ

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย