/

“เราเรียนรู้เรื่องไลเคนในป่าโกงกาง ก็ไม่ได้แปลว่าผู้เรียนจะต้องนำไปต่อยอดเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ขณะลงพื้นที่ พวกเขาก็จะเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรป่ากลางเมือง แปรเปลี่ยนแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ในระยองเกิดจิตสำนึก และหาวิธีร่วมกันฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในเมืองของเราในโอกาสต่อไป”

Start
203 views
17 mins read

“ช่วงที่เรียน ป.โท (เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) มีวิชาหนึ่งที่ผมตั้งเป้าจะศึกษารูปแบบของบริษัทพัฒนาเมือง เลยมีโอกาสได้สัมภาษณ์พี่โจ (ภูษิต ไชยฉ่ำ) ที่เพิ่งก่อตั้งบริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด ได้ไม่นาน ด้วยความตั้งใจจะให้องค์กรนี้เป็นแพลตฟอร์มกลางเชื่อมหน่วยงานต่างๆ มาขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง ขณะนั้นพี่โจกำลังหานักวิจัยมาทำงานให้ แกจึงชวนผมมาร่วมทีมด้วย

ผมจึงเริ่มขับเคลื่อนกับระยองพัฒนาเมืองตั้งแต่ปีแรกๆ โดยเริ่มจากการเก็บข้อมูลเรื่องพัฒนาเมืองที่ย่านเมืองเก่ายมจินดา ก็มีการชวนผู้คนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมมาแลกเปลี่ยนความเห็น มีการคุยกันถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาเมืองในแง่มุมต่างๆ ทั้งขนส่งมวลชน การฟื้นฟูเมืองเก่า ไปจนถึงการยกระดับเศรษฐกิจในกลุ่มผู้ประกอบการ เป็นต้น 

จนมาปี 2564 บริษัทได้รับทุนจาก บพท. มาขับเคลื่อนระยองให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เราจึงโฟกัสไปที่พื้นที่เขตเทศบาลนครระยอง ผ่าน 2 โครงการย่อย คือการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ด้านสังคมและทักษะศตวรรษที่ 21 และการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม

ผมกับพี่หลิน (จักรินทร์ ศิริมงคล) รับผิดชอบโครงการย่อยที่สองคือพื้นที่ด้านสิ่งแวดล้อม โดยหนึ่งในพื้นที่ที่เราเข้าไปร่วมสร้างกระบวนการคือพื้นที่ป่าโกงกางที่มีขนาด 500 ไร่กลางเมืองระยอง

เนื่องจากกายภาพของเมืองระยองถูกขนาบข้างด้วยโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ถึงสองแห่ง ระยองจึงขึ้นชื่อด้านคุณภาพอากาศในทางลบ แน่นอน ด้วยกำลังที่มีเราไม่สามารถหาวิธีแก้ปัญหานี้ได้เองฝ่ายเดียว แต่ถ้าเราสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเยาวชนในเมือง เพื่อให้เขาตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่เป็นอยู่ ไปพร้อมกับการเรียนรู้จากพื้นที่ป่า ซึ่งทำหน้าที่ฟอกอากาศให้กับเมืองอย่างป่าโกงกาง นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เราใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ‘นักสืบสายลม’ ชวนเยาวชนในระยองมาร่วมเวิร์คช็อป และทำความเข้าใจต่อไลเคน พืชที่เป็นเหมือนเครื่องชี้วัดคุณภาพอากาศของพื้นที่ต่างๆ พร้อมกับสร้าง open data ผ่านแอปพลิเคชั่นที่เราจัดทำขึ้นใหม่ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการถ่ายรูปและจดบันทึกชนิดและปริมาณความหนาแน่นของไลเคนในที่ต่างๆ มาเป็นข้อมูล

ไลเคนเป็นพืชที่ชี้วัดความสมบูรณ์ของอากาศและธรรมชาติได้ดีเลยนะครับ อย่างถ้าเราไปอยู่ในป่าเราจะเจอพวกเขาขึ้นหนาแน่นมาก แต่เพียงแค่คุณเดินออกมาจากป่าโกงกางไม่ไกล คุณก็พบพวกเขาน้อยลงทุกที หรือที่มีอยู่ก็เป็นไลเคนที่อยู่ในกลุ่มทนทาน และไม่ต้องพูดถึงพื้นที่ใกล้โรงงาน ซึ่งบ่งชี้ให้ทุกคนเข้าใจเลยว่ามลภาวะหนาแน่นเต็มที

ขณะเดียวกัน พอเราทำ open data ให้ทุกคนบันทึกความหนาแน่นของไลเคนในช่วงเวลาต่างๆ มันยังเป็นเหมือนหมุดของยุคสมัย ให้เราในสามารถย้อนกลับมาสำรวจดูได้อีกว่าสภาพอากาศของระยองดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร
 
นอกจากนักสืบสายลม เราทำกิจกรรมส่งเสริมพื้นที่สีเขียวในเมือง เพราะแม้เราจะมีป่าโกงกางขนาดใหญ่ แต่ด้วยมลภาวะจากโรงงาน ปอดของเมืองอาจยังไม่พอ จึงสร้างแนวร่วมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวกับหน่วยงานต่างๆ โดยไม่ได้มองว่าจะต้องเป็นสวนขนาดใหญ่ แต่อาจเป็นพื้นที่เล็กๆ ตามสาธารณะ พื้นที่รกร้าง รวมถึงตามที่อยู่อาศัยของผู้คน มองแบบ green belt ของต่างประเทศ ที่ใช้สวนมาเป็น buffer zone ล้อมเมืองไว้ แต่เราสามารถทำได้จากจุดต่างๆ แซมขึ้นมาและคอนเนคกันทั่วเมือง โดยโครงการนี้ยังเชื่อมไปกับแผนการพัฒนาระยองให้เป็นเมืองโลว์คาร์บอนที่บริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด กำลังดำเนินการอยู่ผ่านโครงการวิจัยอีกหนึ่งชิ้น

ทั้งนี้ทั้งหมดทั้งมวลของโครงการ สิ่งสำคัญที่เราพุ่งเป้าคือการสร้างความร่วมมือกับประชาชนและหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเห็นได้ชัดคือป่าโกงกาง เพราะไม่เพียงมันอยู่ในเขตเทศบาลนครระยอง แต่ความที่ป่าติดกับทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจึงเข้ามาจัดการบางส่วน ไหนจะชุมชนที่รายล้อมต่างๆ ซึ่งบางส่วนก็ตั้งกลุ่มอนุรักษ์ขึ้นมาจัดการพื้นที่ของตัวเองด้วย
โดยทุกครั้งที่เข้าไปพูดคุย เราจะย้ำเสมอว่าโครงการวิจัยของเราไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงกิจกรรมอะไรที่เขาทำอยู่ เพียงแต่เราขอนำกรอบการเรียนรู้เข้าไปร่วมด้วย เพื่อหวังจะสร้างกลไกช่วยหนุนเสริมในสิ่งที่เขาทำอยู่ให้ดีขึ้น รวมถึงสร้างความร่วมมือให้เขาเห็นภาพของการอนุรักษ์และพัฒนาในทิศทางเดียวกัน และที่สำคัญ เราก็จะสกัดองค์ความรู้ที่แต่ละกลุ่มมีเพื่อเผยแพร่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ

แล้วการเรียนรู้เมืองจากผู้คนในเมืองจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นอย่างไร? ผมขอยกตัวอย่างกลุ่มชุมชนชาวประมง แน่นอน เราคงไม่ได้ไปสกัดความรู้วิธีการจับปลาของชาวบ้านมาหรอก เพราะคนที่เรียนรู้ซึ่งไม่ได้อยู่ในภาคการประมงก็คงเอาไปใช้อะไรไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันกลุ่มชาวประมงเขาก็มีความรู้เรื่องการประเมินสภาพลม ฟ้า อากาศ ไปจนถึงการจัดเก็บหรือแปรรูปอาหาร ซึ่งสิ่งนี้แหละที่เราสามารถนำมาต่อยอดเป็นองค์ความรู้เพื่อให้คนทั่วไปได้นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงในเชิงวิชาชีพได้ต่อไป 

หรือกิจกรรมการสำรวจไลเคน ก็ไม่ได้แปลว่าผู้เรียนรู้จะต้องนำไปต่อยอดเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ขณะที่ลงพื้นที่ พวกเขาก็จะได้เห็นถึงความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่ระยองลดน้อยลงทุกที และสิ่งนี้จะกลายมาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ทำให้คนรุ่นใหม่ในระยองเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ และหาวิธีร่วมกันฟื้นฟูเมืองของเราในโอกาสต่อไป”

ภูมิสันต์ เลิศรัตนนันท์
นักวิจัย บริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย