“เราใช้โมเดลบูรณาการในรูปแบบที่ไม่ใช่ขนมชั้น แต่เป็นขนมเปียกปูน” กล่าวคือบูรณาการศาสตร์และศิลป์จากคณะวิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมา mold ด้วยกันอย่างกลมกล่อม”

Start
882 views
14 mins read

จากเมืองสร้างสรรค์และน่าอยู่
สู่ ‘ราชบุรี เมืองแห่งการเรียนรู้’

ศาสตราจารย์ ดร. นันทนิตย์ วานิชาชีวะ

ความที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็น อว. ส่วนหน้าของจังหวัดราชบุรี (หน่วยปฏิบัติการส่วนหน้าของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ประจำจังหวัดราชบุรี) จึงมีพันธกิจในการพัฒนาและบูรณาการงานวิจัยให้มาช่วยขับเคลื่อนและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในราชบุรีอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อ บพท. จัดสรรงบประมาณสนับสนุนงานวิจัยในระดับพื้นที่ มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงเห็นเป็นโอกาสดีในการทำงานร่วมกันในพื้นที่ที่เปี่ยมด้วยศักยภาพอย่างจังหวัดราชบุรี

เราได้รับทุนสนับสนุนจาก บพท. มาตั้งแต่ปี 2563 ในชุดโครงการ ‘การอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าราชบุรี เมืองสร้างสรรค์และน่าอยู่ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน’ โดยเราใช้โมเดลบูรณาการในรูปแบบที่ไม่ใช่ ‘ขนมชั้น’ แต่เป็น ‘ขนมเปียกปูน’ กล่าวคือไม่ใช่การทำงานแบบบนลงล่างหรือแยกเลเยอร์กัน แต่เป็นการบูรณาการศาสตร์และศิลป์จากคณะวิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมา mold ด้วยกันอย่างกลมกล่อม ซึ่งเรามีทั้งนักวิจัยจากคณะโบราณคดี คณะมัณฑนศิลป์ คณะวิทยาการจัดการ และคณะวิทยาศาสตร์ สร้างแนวร่วมในการพัฒนาเมืองทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ งานออกแบบสร้างสรรค์ การจัดการท่องเที่ยว และการดูแลสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ เรายังได้แต้มต่อที่ดีจากงานวิจัยของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เนื่องจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้ทำแผนแม่บทเมืองเก่าราชบุรีไว้ก่อนแล้ว ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และเครือข่ายภาคประชาชนของเราจึงเข้มแข็ง และเมื่อประกอบกับสถานะ อว.ส่วนหน้าของเรา ก็ทำให้สามารถจัดทำ MOU กับหน่วยงานรัฐของจังหวัดราชบุรีเสร็จสรรพ การทำงานจึงคืบหน้าไปได้ด้วยดี

โดยในปี 2563 เราทำโครงการย่อย 4 เรื่อง ครอบคลุมทุกมิติของการพัฒนาเมือง ได้แก่ หนึ่ง. ด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม ผ่านการจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวเมืองเก่าราชบุรี 3 เส้นทาง โดยมีแม่งานคือคณะโบราณคดี สอง. การพัฒนาศักยภาพท่องเที่ยวด้วยการจัดทำไลน์แอปพลิเคชั่นส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอย่างสะดวก โดยได้คณะวิทยาการจัดการมารับผิดชอบ


สาม. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากทุนวัฒนธรรม และสร้างสรรค์ต้นแบบงานศิลปะเพื่อสาธารณะ ซึ่งได้อาจารย์จากคณะมัณฑนศิลป์ นำข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของเมือง มาทำเวิร์คช็อปร่วมกับชาวชุมชน และร่วมกันผลิตผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นร่วมสมัย และประติมากรรมสาธารณะซึ่งสะท้อนอัตลักษณ์ของเมือง โดยได้ชวนชาวบ้านมาร่วมสเก็ตซ์ เรียนรู้ทำเซรามิก และประกอบกันเป็นประติมากรรมน่ารักๆ รวมถึงสตรีทอาร์ทริมแม่น้ำแม่กลอง

และสี่. การพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมผ่านการจัดการขยะของชุมชน โดยใช้โมเดลให้ชาวบ้านแยกขยะเอาไปแลกไข่ไก่ ซึ่งก็ใช้ไข่ไก่จากฟาร์มในจังหวัดมาแลก กระตุ้นให้ชาวบ้านจัดการขยะเพื่อรีไซเคิลได้ง่าย และลดขั้นตอนในการกำจัด อันส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมของเมือง

โครงการในปี 2563 ลุล่วงผ่านไปได้ด้วยดี และเมื่อ บพท. เปลี่ยนแนวทางการสนับสนุนทุนเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ในปี 2564-2565 จึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับเราในการต่อยอด เพราะกระบวนการที่เราทำมาก็อยู่ในกรอบของการสร้างกลไกแห่งการเรียนรู้ในระดับเมืองอยู่แล้ว โดยเราได้มอบหมายให้อาจารย์ชวลิต (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชวลิต ขาวเขียว) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งคณบดีคณะโบราณคดี มาเป็นหัวหน้าโครงการ แล้วเราก็ถอยออกมาเป็นที่ปรึกษาโครงการ

ด้วยงบประมาณที่ลดลง โครงการเมืองแห่งการเรียนรู้จึงลดสเกลพื้นที่ลงมาอยู่ที่เมืองเก่าริมแม่น้ำแม่กลอง (ชุมชนตลาดเก่า) เมืองโบราณคูบัว และบ้านโคกพริก (เมืองโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์) โดยมีคณะที่รับผิดชอบหลัก คือคณะโบราณคดี และคณะมัณฑนศิลป์ พร้อมกับสร้างความร่วมมือกับคณะศึกษาศาสตร์อีกคณะ ในการนำงานวิจัยที่เราศึกษาเกี่ยวกับเมืองมาพัฒนาให้เป็นหลักสูตรการศึกษาบรรจุเข้าไปในระดับท้องถิ่น 

ทั้งนี้ รายละเอียดของกิจกรรมในโครงการต่างๆ หัวหน้าโครงการย่อยของแต่ละโครงการน่าจะสามารถเล่ารายละเอียดได้ดีกว่า ซึ่งแต่ละทีมก็ล้วนมีการสอดประสานข้ามศาสตร์ร่วมกันอย่างลงตัว เพื่อให้เกิดเป้าหมายที่ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ตามงานวิจัย แต่ยังเป็นกลไกขับเคลื่อนเมือง และแรงบันดาลใจให้หน่วยงานต่างๆ นำไปต่อยอดจนเกิดเป็นการพัฒนาเมืองอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”

ศาสตราจารย์ ดร. นันทนิตย์ วานิชาชีวะ
ที่ปรึกษาโครงการ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการ อว. ส่วนหน้า จังหวัดราชบุรี

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย