/

เราไม่ได้ทำตามหน้าที่ ทำเพราะเราอยากทำ คำนี้เลย

Start
803 views
29 mins read

                “สาธารณสุขมีหน้าที่ทำให้คนแข็งแรง ส่งเสริมป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยเร็ว ไม่ต้องพึ่งพาโรงพยาบาลที่ทำหน้าที่รักษาและฟื้นฟู หรือไปโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด หรือไปโรงพยาบาลโดยไม่ต้องเจ็บป่วย เปลี่ยนโรงพยาบาลให้เป็นซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นแหล่งเรียนรู้ #หมอที่ดีที่สุดคือตัวเอง เราอยากให้เขามี Health Literacy ให้รู้จักการดูแลตัวเอง พึ่งตัวเอง เราคิดว่าวิธีคิดของคนน่ะสำคัญ กรอบงานวิจัยนี้คือเปลี่ยนวิธีคิด แล้วเบื้องหลังที่ฉุกให้คนคิดทำอะไรคือสำนึกร่วม ชวนคุย ชวนคิด ชวนเปิดพื้นที่ แต่คนที่ทำอะไรเพื่อตัวเอง มันเล็ก พลังไม่ค่อยได้ ถ้าทำเพื่อคนอื่น คนที่เขารัก พลังจะเยอะ ยกตัวอย่าง เราเล่าให้เขาฟังว่าเอาขยะไปทิ้งลงในถังแล้วจะเกิดอะไร มันจะลงไปทะเล เป็นไมโครพลาสติก แล้ววนกลับมาในร่างกาย พอเขาเห็นตรงนั้น เขาก็จัดการขยะด้วยตัวเอง คือสร้างภาพปรากฏให้เขาเห็น ให้เขาสมัครใจลุกขึ้นมาลงมือทำบางเรื่องบางอย่างที่มีประโยชน์กับตัวเอง กับคนในชีวิต กับคนรุ่นต่อๆ ไป เป็นการเรียนรู้เชิงประสบการณ์จริงด้วยตัวเอง ซึ่งโมเดลนี้เราสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงก่อน ให้คนจากภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาครัฐ มาทำกิจกรรม “รักหัวหิน รักษ์สิ่งแวดล้อม รักสุข” 7 ครั้ง เปิดพื้นที่ให้คนมาดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย เก็บขยะ ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม คนมาเจอกัน 7 ครั้ง มาจากที่ต่างๆ ได้พบเห็น ได้พูดคุยกัน เชื่อมโยงกัน แล้วเราก็หยิบคนที่เข้มข้นจำนวนหนึ่งมาสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยใช้กระบวนการจิตตปัญญาของมหิดลถอดตัวเองออกมา ให้รู้จักตัวเอง รู้ระบบการทำงานของร่างกายว่าทำงานยังไง ให้รู้จักคนอื่นมากขึ้น ทำให้อยู่กับคน สื่อสารกับคน แล้วเราสร้างการสื่อสารชนิดใหม่ เรียกว่า สุนทรียะสนทนา คือการพูดคุยแบบสร้างสรรค์ พูดคุยแบบฟังจริงๆ ฟังอย่างลึกซึ้ง ในบทเรียนคือไม่ต้องพูด ให้มองหน้ากัน มันก็มีการสื่อสารกันบางเรื่อง แล้วถามความรู้สึกว่าเป็นยังไง แล้วก็มีวิดีโอเรื่องของการฟังให้ดู เทคนิคการสื่อสารที่ดีที่สุด ไม่ใช่การพูดเก่ง แต่คือฟังจนรู้พันธสัญญาของเขา ได้ยินในสิ่งที่เขาไม่ได้พูด เวลาเขาเข้าใจเรื่องของการใช้ชีวิต ความอยากส่งพลังหรืออยากทำอะไรให้กับสังคม กับคนรุ่นหลัง มันขยายละ ซึ่งพอเขาออกจากตรงนี้ไป เขาเข้าใจอะไรมากขึ้น อยู่กับคนได้ดีขึ้น เขาอยู่ในองค์กรแล้วทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้น เคยปรากฏฟิลกับผมว่า เมื่อไหร่จะถึงวันศุกร์ แต่พอเปลี่ยนวิธีคิดแล้ว เมื่อไหร่จะถึงวันจันทร์ ฉันอยากไปทำงาน วันอาทิตย์จะตื่นเต้นมาก พรุ่งนี้วันจันทร์ฉันจะได้มาทำงาน

               ทุกวันนี้ในเรื่องของเทศบาลที่ผ่านมาของผมสามสิบกว่าปี ระบบก็ดี สิ่งแวดล้อมก็ดี ชวนให้ทุกคนเพลย์เซฟ โดยเฉพาะเรื่องการกลัวถูกตรวจสอบ คนก็ไม่กล้าออกหมัด ผมพูดให้เห็นภาพคือ ทำแค่ finish แต่ไปไม่ถึง complete ทำให้จบๆ ตามหน้าที่ แต่วิธีคิดใหม่นี้เราพาคนไปถึง complete เลยนะ ให้เห็นเลยว่าจะเกิดอะไร จะได้อะไร ทิศทางในอนาคตข้างหน้าของหัวหินควรจะเป็นยังไง สุนทรียะสนทนานี้ ผมมีหน้าที่บอก ทุกวันนี้เราเอาทรัพยากรของรุ่นลูกรุ่นหลานมาใช้หมดแล้วนะ ข้อมูลเหล่านี้ควรผ่านกระบวนการให้ทุกคนได้รับทราบ ทำจนกว่าเขาจะตระหนัก ไม่รู้เมื่อไหร่ แต่เราต้องไม่หยุดที่จะทำ ทำในระดับที่เราจะมีความสุขนะ ก็ไม่เคยเห็นว่าเราจะถดถอยเลย เราไม่ได้ทำตามหน้าที่ ทำเพราะเราอยากทำ คำนี้เลย ทำยังไงให้ลุกขึ้นมาด้วยความสมัครใจ รู้สึกว่าอยากทำ

               อีกเรื่องนึง เรื่องระบบอุปถัมภ์ ผมเห็นความเชื่อมโยงในเรื่องความสัมพันธ์ของคน เป็นรากฐานในการที่เราเห็นกันและกัน มีความสัมพันธ์ในงาน เปิดพื้นที่ให้คนลดความบาดหมาง แต่ถ้าใช้คำว่า ระบบอุปถัมภ์ ขึ้นมาปุ๊บ จะเป็นแง่ลบเลย ผมอยากชวนคิดใหม่ รากเหง้าของสังคมไทยคือความเกื้อกูลกันในระดับส่วนบุคคลนี้แหละคือพื้นฐานที่ดีที่จะจูงกันไปทำสิ่งดีๆ ด้วยกัน ผู้ประกอบการมาหา บอกมีอะไรให้ผมช่วย อะไรที่ยังติดอยู่ อะไรที่ผมจะแก้ให้ได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย และโดยไม่มีใครเดือดร้อน ไม่เหลือบ่ากว่าแรง แล้วเราต้องจริงใจก่อน เป็นหน้าที่ที่เรากินเงินเดือนเขา ถ้าเราบริการแบบเต็มที่ มากกว่าสิ่งที่เขาจะได้รับ ถ้าเรามีพลังแบบนั้น ฟีดแบ็กกลับมานะ โอ้โห น้ำตาจะไหลเลยแหละ เวลาเขาประทับใจจากการให้บริการที่เหนือความคาดหมาย เขามาแล้วไม่มีอะไรติดมือกลับไปไม่ได้ เขาต้องมีคำตอบ หรืออะไรให้ได้สักอย่างให้เกิดความอุ่นใจ ไม่ใช่ปฏิเสธ โมเดลนี้ดร.ศิวัช (หัวหน้าโครงการวิจัย) พกมาด้วย แล้วเขาชวนผมทำโดยไม่รู้สึกตัว เราทำงานข้างนอกเทศบาลฯ เยอะมากนะ เวลาเราไม่ใช่ 8.30-16.30 น. แต่เวลาที่ได้ผลคือเวลานอกงาน ไปทำกิจกรรมที่รีแลกซ์ ไปอยู่กับชาวบ้าน กินข้าว ทำกิจกรรมร่วมกับเขา ฟังเขา ยืนเคียงข้างเขา จากเดิมที่เมื่อก่อนเราจะหาคนมาทำกิจกรรมต้องโทรตามๆ เดี๋ยวนี้ ก็ลำบาก โทร 2 ครั้ง ได้ 300 คน ไม่รู้จะเอาใครมา

กระบวนการสร้างเครือข่ายที่เราทำเป็นช่วงก่อนสถานการณ์โควิด พอถึงโควิดเราก็ได้ใช้สิ่งที่เราสร้างไว้แล้ว เอาเรื่องโควิดมาใส่ในต้นทุนที่เราทำไว้ ท้องถิ่นคือเทศบาลเมืองหัวหินเองลุกขึ้นมาหาทางให้คนในเมืองรอด เราไม่ยอมจำนนต่อปัญหาโควิด ก็ไปค้นพบอนามัยสิ่งแวดล้อม เกิด HDC Hygiene Distancing Clean ขึ้นมา เป็นวัคซีนทางสังคมให้คนในเมืองเอาไปใช้ เป็นองค์ความรู้พื้นฐานที่ไม่ต้องเสียตังค์ เป็นเรื่องง่ายๆ เพียงแต่คนไม่ได้คิดเอามาใส่ แต่กระบวนการใส่เนี่ยสำคัญ เราแจกน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วเราก็ให้ความรู้ผ่านการแจกน้ำยาฆ่าเชื้อ ซึ่งคนที่ตื่นกลัว เขาอยากได้อยู่แล้ว เขากลัวโควิดมาก มีน้ำยาฆ่าเชื้อจะไปฆ่าเชื้อที่บ้าน แต่เขาไม่รู้หรอกนะว่าโควิดมันทำงานยังไง รู้นิดๆ หน่อยๆ วัคซีนก็ยังไม่มี แต่กว่าเขาจะได้น้ำยาไป เขาได้ HDC ไปก่อนเรียบร้อยแล้ว พวกเราเคยผ่านเรื่องสุขบัญญัติ 10 ประการมาแล้ว พักผ่อน นอนหลับ กินอาหาร ทำยังไงให้ร่างกายแข็งแรง เว้นระยะ ไอจามใส่แมสก์ ล้างมือบ่อยๆ ทำความสะอาดใกล้ตัว ตัวเอง เครื่องมือเครื่องใช้ รวมถึงระบบต่างๆ ระบบแอร์ ระบบขยะ ข้อห้ามหรือสิ่งที่ควรจะทำ มันอยู่ใน HDC หมดเลย เป็นองค์ความรู้และมาตรการในตัว พอเริ่มผ่อนคลาย หัวหินนี่วันหยุดยาวรถติดเลย จัดกอล์ฟ 4 ทัวร์นาเมนต์ มีแข่งขันเทนนิส คือคนในเมืองเราใช้ HDC อยู่ เขาประกาศเมื่อไหร่ เราพร้อมเลย แล้วเราทำให้คนข้างนอกเห็นด้วยว่า เราใช้มาตรการ HDC เราทำขนาดนี้แหละ คุณมั่นใจได้เลย นี่คือกระบวนการเรียนรู้ พอเขาเห็นว่าสำคัญยังไง แล้วเขาไม่ได้ลงทุนเยอะ เขาก็ทำ ลูกหลานพ่อแม่เขาก็ปลอดภัย เพราะโควิดส่งผลสามเรื่อง หนึ่ง สุขภาพ สอง ความวิตกกังวล สาม พอไม่กล้าออกไปข้างนอก กิจกรรมทำไม่ได้ ก็ไม่มีจะกิน แต่ HDC มาปลดสามเรื่องนี้ นายกฯ บอกว่าถ้า HDC เหมือนฝนที่ตกอยู่ข้างนอก ถ้าเราจะไม่เปียกคือเราอยู่ข้างใน แต่เราจะอยู่ได้นานแค่ไหนล่ะ ทีนี้เราจะออกไปข้างนอกโดยไม่เปียกฝนทำยังไง ก็กางร่มที่ชื่อว่า HDC ออกไป พอออกไปข้างนอกได้ กล้าทำกิจกรรม ก็มีกิน แล้วเชื่อเถอะ เราจะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนหัวหิน ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นโควิดนะ อะไรก็ตามในอนาคต ซึ่งเราก็ไม่รู้ล่ะ เราจะรับมือ และอยู่ได้

แล้วสาธารณสุขสิ่งแวดล้อมมาเกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้ ที่ผมมองไปไกลๆ เลย ผมให้ความสำคัญที่เรื่องของคน 86.36 ตารางกิโลเมตรของเทศบาลเมืองหัวหินที่เราต้องดูแล ตัวเลขกลมๆ ตามทะเบียนราษฎร์มีอยู่ 65,000 คน แต่เรามีประชากรแฝงประมาณสามแสน นักท่องเที่ยวปีละไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน วิธีคิดของเราไม่ใช่ให้บริการสาธารณะกับคนหกหมื่นห้า เราต้องคิดเผื่อถึงประชากรแฝงกับคนที่จะมา เพราะฉะนั้น มันล้นเกิน งบประมาณอย่างเดียวไม่พอ ต้องสร้างกลไกมารับมือ เราอยากให้คนมาหัวหินเยอะมั้ย ผมไม่อยากนะ มาแล้วผมต้องจัดการขยะเยอะ แต่คนก็ขายของได้ มันมีทั้งข้อดีข้อเสียใช่มั้ย เอาเข้าจริงๆ คนมาหัวหินเยอะ เมืองไม่ช้ำเหรอ แล้วถ้าเมืองเละ ขายไม่ได้แล้ว มันก็ไม่มีเหมือนเดิมแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะช่วยกันยังไง เราเลยต้องสร้างกลไกทำให้คนตื่นรู้ เรียกว่า Active Citizen เนอะ นี่แหละคือกระบวนการเมืองแห่งการเรียนรู้ คือทำให้คนตื่นรู้ ลุกขึ้นมาทำอะไรด้วยตัวเอง งดการพึ่งพา เศรษฐกิจพอเพียง ในหลวงท่านวางไว้อยู่แล้ว เราก็หยิบมาใช้ แล้วผมเป็นนักวิทยาศาสตร์มาตลอดชีวิตนะ เดิมผมเป็นสัตวแพทย์ เปลี่ยนสายงานเป็นบริหารสาธารณสุข แต่ผมยอมจำนนต่อมนุษยศาสตร์กับสังคมศาสตร์ในการแก้ปัญหาของเมือง รากเหง้าความสัมพันธ์ที่ทำให้เป็นเครือข่ายของคนไทยกับเศรษฐกิจพอเพียงอะไรต่างๆ เป็นตัวสำคัญ ปัญหาที่ผมกองไว้เรื่องขยะ เรื่องคนมาเยอะ ถ้าเราไม่สร้างกลไกบางเรื่อง เราอาจจะไปไม่ถึง เราอาจจะต้องสร้างกลไกที่เรียกว่าวัฒนธรรม พฤติกรรมของคนที่อยู่รวมกัน ซึ่งมีพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมือนกับคนอื่น แล้วพฤติกรรมอันนี้สามารถปกป้องเมือง อย่างทฤษฎีรองเท้าหน้าห้อง เวลาเราเข้าไปที่ที่นึง เขาถอดรองเท้าไว้หน้าห้องเต็มไปหมดเลย เราจะใส่รองเท้าเข้าไปมั้ย ทั้งๆ ที่เขาก็ไม่ได้บอกอะไรนะ เราจะทำให้เมืองหัวหินเป็นอย่างนั้นแหละ จะมีพฤติกรรมบางเรื่องบางอย่างที่ให้คนข้างนอกเห็นว่าเราทำแบบนี้ จากพฤติกรรมก็จะเป็นวัฒนธรรม การเรียนรู้เหล่านี้ก็จะสร้างพฤติกรรมใหม่ๆ วัฒนธรรมใหม่ๆ ให้มันปกป้องตัวมันเอง โมเดลนี้เราเห็นถึงความยั่งยืน ถ้าฐานเราแน่น หลักการเราดี มันก็ดี มีกำลังเสริมก็จะไปได้เร็ว จริงๆ เราพูดอย่างนี้กันเลยนะ เราจะเปลี่ยนประเทศไทย เรามาเปลี่ยนที่หัวหินนี่แหละ ถ้าเปลี่ยนหัวหินได้ ประเทศไทยเปลี่ยนได้”

ธีระพันธ์ จัดพล

ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองหัวหิน

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย