/

เราไม่ได้มองตัวเองเป็นพลเมือง แต่มองตัวเองเป็นแค่ประชากร มองเป็นแค่ผู้อยู่อาศัยในเมือง ทำให้เราไม่มีฝันของตัวเองที่เกี่ยวกับเมือง

Start
355 views
13 mins read

“แม้จะเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าของภาคใต้ แต่หาดใหญ่ก็กลับเป็นเมืองที่เล็กมากๆ เพราะเอาเข้าจริงก่อนเมืองมีการขยายออกในรอบหลายปีหลังมานี้ แต่เดิมความเจริญกระจุกตัวอยู่ในระยะเส้นผ่าศูนย์กลางแค่ 2 กิโลเมตรเท่านั้น เรียกว่าเดินถึงกันได้หมด

แต่ในพื้นที่เล็กๆ แค่นั้น หาดใหญ่กลับเต็มไปด้วยความหลากหลายของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ตั้งแต่การเกิดขึ้นของชุมทางรถไฟเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน ยุคสมัยของเหมืองแร่ สวนปาล์ม ยางพารา มาถึงของหนีภาษี และการท่องเที่ยว ซึ่งต้องยกเครดิตให้ชัยภูมิของเมือง เพราะมันมีภูเขาที่บีบเส้นทางลำเลียงทรัพยากรให้ผ่านมาทางนี้ คุณจะไป 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือมาเลเซีย ไม่มีทางไหนสะดวกเท่ากับผ่านหาดใหญ่ ผู้คนทั่วสารทิศจึงมากระจุกรวมกันที่นี่

เรามีชุมชนจีนดั้งเดิมที่ช่วยกันพัฒนาเมืองซึ่งส่วนใหญ่อยู่แถวศรีนคร ชาวมุสลิมที่มาตั้งบ้านเรือนแถววงเวียนน้ำพุและหาดใหญ่ใน คนซิกข์จากรัฐปัญจาบก็เดินทางมาค้าขายและตั้งรกรากแถวโรงพัก คนเหนือที่เข้ามาทำงานบริการแถวเสน่หานุสรณ์ และตั้งชุมชนอยู่แถวทุ่งเสา ตามมาด้วยคนอีสานที่มาใช้แรงงานก็อยู่ร่วมกับคนเหนือที่ทุ่งเสาจนเกิดเป็นชมรมชาวเหนือ-อีสานขึ้น อีกทั้งชาวเมียนมาร์และกัมพูชาที่อยู่อาศัยแถวที่ดินรถไฟ เป็นต้น

ผมไม่ได้เกิดหาดใหญ่ แต่ก็มาทำงานที่นี่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 และความที่เป็นผู้จัดรายการวิทยุเกี่ยวกับเมือง ก็เลยพอมองเห็นปัญหาของเมืองนี้อยู่ 2 มิติ คือมิติของพลเมือง และมิติของผู้เสนอตัวมาบริหารบ้านเมือง

เริ่มจากมิติพลเมือง ซึ่งอาจไม่ใช่ทุกที่ในประเทศนี้ แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็นส่วนใหญ่ กล่าวคือคนในสังคมเมืองรู้จักตัวเองน้อยไป เข้าใจในศักยภาพตัวเองน้อยเกินไป ทั้งที่จริงๆ ทุกคนมีส่วนในการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงเมืองเราได้

เราเคยชินกับการยกภาระการพัฒนาเมืองให้คนที่มาเสนอตัวบริหารบ้านเมือง ถ้าเขาทำงานไม่ได้ดังใจเราก็บ่น หนักข้อเข้าถึงเวลาก็เลือกตั้งใหม่เปลี่ยนคน ก็เหมือนที่เราคิดว่าโรคภัยไข้เจ็บเป็นหน้าที่ของหมอที่ต้องจัดการ ทั้งๆ ที่ในหนึ่งปีเราอาจเจอคุณหมอจากการตรวจสุขภาพแค่ครั้งเดียว ในขณะที่เราอยู่กับตัวเองตลอด 24 ชั่วโมง เรากลับไม่สนใจดูแลตัวเอง และยกหน้าที่นี้ให้หมอจัดการ

เช่นเดียวกับพลเมือง เราไม่ได้มองตัวเองเป็นพลเมือง แต่มองตัวเองเป็นแค่ประชากร มองเป็นแค่ผู้อยู่อาศัยในเมือง ทำให้เราไม่มีฝันของตัวเองที่เกี่ยวกับเมือง อนาคตของเราจึงตกไปอยู่กับที่คนที่เขาเข้ามาดูแลเมือง

สิ่งนี้จึงส่งผลกระทบไปที่มิติที่สองคือคนที่อาสาเข้ามาบริหารบ้านเมือง เพราะเมื่อประชาชนไม่มีภาพฝัน คนที่เข้ามาบริหารก็ไม่มีทางเห็น และสิ่งที่พวกเขาทำจึงอาจไม่ตอบสนองกับความต้องการที่แท้จริงของคนในเมือง การพัฒนาเมืองจึงมีต้นทางมาจากภาพฝันของคนในทีมบริหาร หรือนโยบายที่เขาออกแบบในช่วงเวลาสั้นๆ หรือหนักเข้าอาจเป็นเพียงความคิดชั่ววูบเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง ที่ผ่านมาเราจึงเห็นหลายโครงการที่ถูกสร้างมาแล้วไม่เกิดประโยชน์ต่อเมืองอย่างยั่งยืน


หรือที่ล่าสุดกับโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยวที่รัฐมองว่าจะมาช่วยแก้ปัญหาจราจร ซึ่งผมไม่คิดว่าการลงทุนถึงหนึ่งหมื่นล้านกว่าบาทนี้จะคุ้มค่าหรือมีความยั่งยืน เพราะเรามีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สามารถมาปรับใช้ให้ลงตัวและตอบโจทย์ได้ สู้นำเงินก้อนนี้ไปพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจากทรัพยากรที่เรามีอยู่แล้ว หรือการทำที่จอดรถ พื้นที่สีเขียว และทางเดินเท้าให้ครอบคลุมและใช้ประโยชน์ได้จริง เหล่านี้อาจสร้างประโยชน์ได้มากกว่าการมีระบบรถไฟฟ้าเพิ่มเข้ามา

นั่นแหละครับ ผมจึงมองว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่คนหาดใหญ่ต้องรู้จักตัวเองก่อน รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และอยากมีชีวิตอยู่ในเมืองแบบไหน พอรู้แล้ว เราก็จะหาวิธีสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อไปถึงเป้าหมายนั้น ขณะเดียวกันคนที่อาสามาบริหารบ้านเมืองก็จะได้เห็นภาพของการพัฒนาเมืองที่ตรงกัน จนเกิดการใช้งบประมาณที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในเมืองอย่างแท้จริง

ถ้าเกิดสองฝ่ายไม่มีฝันร่วมกัน ไม่แลกเปลี่ยน หรือทำงานร่วมกัน เมืองหาดใหญ่ก็ไปต่อไม่ได้ หรือถ้าไปต่อได้ ก็อาจไม่ใช่เมืองที่คนในพื้นที่จริงๆ อยากให้เป็น”  

บัญชร วิเชียรศรี
ผู้ช่วยหัวหน้าสถานีวิทยุ ม.อ. หาดใหญ่

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย