/

เห็นๆ อยู่ว่านครศรีธรรมราชมีวิทยาลัยศิลปะ ศิลปินอยู่กันที่นี่เยอะ แต่เรากลับแทบไม่มีพื้นที่แสดงผลงานให้พวกเขาเลย

Start
384 views
7 mins read

“พื้นเพผมเป็นคนกาญจนดิษฐ์ สุราษฎร์ธานี มาอยู่นครศรีธรรมราชเพราะมาเรียนที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรม

เมื่อก่อนอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน พอจบมาใหม่ๆ ก็ไปอยู่กับพี่ดิเรก สีแก้ว

พี่ดิเรกค่อนข้างมีอิทธิพลกับผม เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ผมออกจากงานร้านป้ายไปรับงานเขียนรูปเหมือนอยู่เกาะสมุย พอมีโอกาสได้พบปะแกบ้าง เห็นว่าแกหันมาเขียนบทกวี ผมก็สนใจการอ่านการเขียนตามแกไปด้วย จนมีรวมเรื่องสั้นตีพิมพ์เป็นของตัวเองเล่มแรก (‘แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ’, รวมเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์ปี 2554 – ผู้เรียบเรียง)

หลังจากหันมาเขียนหนังสือเป็นหลักอยู่ 3-4 ปี ก็มีคนรู้จักมาชวนให้ผมไปปั้นรูปปั้นสำหรับถวายวัด ช่วงนั้นไอ้ไข่วัดเจดีย์กำลังดัง ก็เลยได้งานปั้นรูปปั้นไก่แก้บนให้กับร้านค้าแถวนั้น ปรากฏว่างานชุกมาก ปั้นกันไม่ทัน จะบอกว่าขายดีจนเจ๊งก็ได้ เพราะทำไม่ทัน ออเดอร์เยอะจนเราทำงานเหมือนกรรมกร จึงขอหยุดดีกว่า

ทุกวันนี้ผมกลับมาปลูกบ้านอยู่กับแฟนที่อำเภอช้างกลาง ได้เขียนการ์ตูนอย่างที่เคยฝันไว้ตอนหนุ่มๆ (‘นักล่าวาฬ’ นิยายภาพรางวัลชนะเลิศ 7 Books Awards 2565) ทำภาพประกอบให้สำนักพิมพ์ของแฟน (สำนักพิมพ์เวลา https://www.facebook.com/TimePublishing) และเขียนหนังสือของตัวเอง

ทำไมต้องเป็นนครใช่ไหม นั่นสิ ผมเคยอยู่มาทั้งสุราษฎร์ เกาะสมุย ภูเก็ต และหาดใหญ่ แต่ก็พบว่าไม่มีที่ไหนดึงดูดผมได้เท่าที่นี่ อาจที่นี่เป็นเมืองใหญ่ที่ยังมีความเป็นท้องถิ่นอยู่ ขณะเดียวกันก็มีบรรยากาศของการศึกษาเรียนรู้อยู่ด้วย

ผมสังเกตว่าผู้คนในเมืองใหญ่ที่อื่นเขามักจะคุยเรื่องเงิน เรื่องความมั่งคั่งของตัวเอง แต่กับคนนคร ดูมีมิติที่น่าสนใจกว่า มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนมุมมองทางสังคม มีความตรงไปตรงมาแต่ก็เป็นมิตร มีลูกล่อลูกชน และอารมณ์ขัน มันมีบรรยากาศของคนมีความรู้มานั่งคุยกันสนุกๆ มากกว่า นี่อาจเป็นเหตุผลที่ผมวนเวียนใช้ชีวิตอยู่ที่นี่

นครมันเป็นเมืองที่มีบรรยากาศของการเรียนรู้ แต่พื้นที่เพื่อการเรียนรู้กลับไม่ค่อยมี เราไม่มีร้านหนังสืออิสระ แกลเลอรี่ หรือพื้นที่และกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์เท่าไหร่

ผมยังหวังเลยว่าคงดีมากๆ ถ้าวันเสาร์หรืออาทิตย์ ขับรถออกจากบ้านเข้าเมืองมาดูหนัง ซื้อหนังสือไปอ่านที่ร้านกาแฟ และแวะดูงานศิลปะก่อนกลับ นครคงน่าอยู่กว่านี้อีกไม่น้อย”   

จเด็จ กำจรเดช
นักเขียน

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย