/

เอาจริงๆ ผมไม่ได้ดีใจที่ทุกวันนี้ PYE Space ยังคงเป็นพื้นที่ศิลปะแห่งเดียวของเมืองอยู่นะ พะเยาควรมีพื้นที่สร้างสรรค์มากกว่านี้ครับ

Start
487 views
12 mins read

“ในฐานะอาจารย์สอนศิลปะและการออกแบบที่มหาวิทยาลัยพะเยา ผมพยายามสื่อสารกับทางมหาวิทยาลัยมาตลอดว่าเราควรมีหอศิลป์ไว้แสดงงานนักศึกษานะ เพราะเรามีคณะทางศิลปะ แต่ไม่มีที่แสดงงานให้พวกเขา มันก็ไม่ใช่ หลังจากขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง แต่ด้วยปัจจัยอะไรสักอย่างหอศิลป์จึงเกิดไม่ได้เสียที ผมจึงตัดสินใจลงมือทำด้วยเงินทุนตัวเอง

จะบอกว่าเป็นหอศิลป์ก็ไม่ถูกหรอก เป็นพื้นที่ศิลปะเสียมากกว่า ผมก่อตั้ง ‘อย่าเห็นแก่ตัวสถาน’ ขึ้นจากการรีโนเวทบ้านไม้ให้เช่าในตัวเมืองพะเยา ชั้นบนเป็นแกลเลอรี่แสดงงาน ส่วนชั้นล่างเป็นบาร์ขายเหล้า สาเหตุที่เลือกในตัวเมือง เพราะตอนนั้นพะเยายังไม่มีอาร์ทสเปซ และก็อยากให้นักศึกษาเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ในเมืองด้วย ไม่ใช่แค่แสดงงานนักศึกษาอย่างเดียว อาจารย์ก็แสดงด้วย ศิลปินที่อื่นอยากมาแสดงก็มาได้ จะจัดเสวนา เวิร์คช็อป และปาร์ตี้ผมเปิดเต็มที่ ให้มันเป็นพื้นที่กึ่งๆ สาธารณะของเมืองไปพร้อมกัน แต่เปิดได้ปีกว่า เจ้าของตึกเขาขอคืน ก็เลยต้องคืนเขาไป


ความที่เราเริ่มไว้แล้ว ผมจึงคิดว่ายังไงก็ต้องทำต่อ หลังจากเว้นวรรคไปหลายปี ก็ได้อาคารที่อยู่ตรงข้ามโรงหนังเก่ามาทำ ผมตั้งชื่อใหม่ว่า PYE Space มีรูปแบบคล้ายๆ เดิม แต่รอบนี้มีพื้นที่ใหญ่ขึ้น ก็เลยได้ทำห้องฉายหนัง และจัดกิจกรรมได้หลากหลาย โดยชั้นบนเรายังเปิดเป็น art residency ชวนนักศึกษาหรือศิลปินรุ่นใหม่ที่เห็นแววมาพำนักกับเรา และให้พื้นที่เขาได้คิด ได้ทำงาน

หลังทำ PYE Space มาได้ 2 ปีกว่า ความที่พื้นที่ของผมตั้งอยู่ตรงข้ามโรงภาพยนตร์เก่าของเมืองที่ชื่อพะเยารามา ซึ่งมันถูกทิ้งร้างไว้หลายปี และมีข่าวว่าโรงหนังเก่าแก่คู่เมืองแห่งนี้กำลังจะถูกรื้อและรีโนเวทไปทำอย่างอื่น ก็เลยคิดว่าเราน่าจะเล่นอะไรกับพื้นที่เพื่อเป็นการบอกลา จึงทำ proposal ไปเสนอเจ้าของพื้นที่กับเทศบาลว่าจะทำอีเวนท์ฉายหนังกับเทศกาลศิลปะตรงนั้นนะ ซึ่งทางเจ้าของเขาไม่ติด และทางนายกเทศมนตรีในตอนนั้นก็เห็นด้วย ก็เลยระดมทุนช่วยกันปรับปรุงพื้นที่


โปรเจกต์ ‘พะเยารามา 2516-2564’ (จัดขึ้นในเดือนมกราคม 2564) ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก เพราะพื้นที่มันเชื่อมโยงกับความทรงจำของคนในเมือง ขณะเดียวกันเมืองเราก็ไม่เคยมีกิจกรรมสร้างสรรค์แบบนี้มาก่อน ซึ่งยังเปิดมุมมองให้คนในเมืองเห็นว่าเราสามารถเอาพื้นที่ที่ถูกมองข้ามอย่างนี้มาจัดกิจกรรมได้ หลังจากนั้นเฮียหมู​ (คงศักดิ์ ธนานิศร) เจ้าของโรงหนังเมืองทองรามา โรงหนังแบบสแตนด์อโลนคู่เมืองอีกแห่ง ก็ชวนให้ผมใช้พื้นที่เขาทำกิจกรรม ก็เลยได้เทศกาลฉายหนังและแสดงงานนักศึกษาเพิ่มอีกแห่ง

ในปีนั้นเองสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ก็ยังให้ทุนสนับสนุนมาทำงานกับพื้นที่ในเมืองต่อ จึงเกิดงาน Phayao Art & Creative Festival (วันที่ 7 สิงหาคม – 3 ตุลาคม 2564) ครั้งแรกขึ้นมา โดยคราวนี้ ผมได้ใช้พื้นที่ชั้นสองของตลาดอาเขต ตลาดสดเก่าแก่กลางเมืองที่บริเวณชั้นสองถูกทิ้งร้างไว้ และจนทุกวันนี้ ทางตลาดเขาก็ให้พื้นที่ผมจัดแสดงงานศิลปะต่อเนื่อง ก็เลยกลายเป็นหอศิลป์อย่างไม่เป็นทางการของนักศึกษาไปโดยปริยาย

นับตั้งแต่เริ่มอย่าเห็นแก่ตัวสถานมาจนถึงทุกวันนี้ก็เกิน 10 ปีแล้ว ถึงผมภูมิใจที่ได้ริเริ่มโครงการหลาย อย่างขึ้นมา แต่เอาจริงๆ ผมไม่ได้ดีใจที่ทุกวันนี้ PYE Space ยังคงเป็นพื้นที่ศิลปะแห่งเดียวของเมืองอยู่นะ พะเยาควรมีพื้นที่สร้างสรรค์มากกว่านี้ครับ จริงอยู่แม้จะเห็นความหวังจากคนรุ่นใหม่ที่กลับมาทำกิจกรรมที่ขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ในเมืองอยู่ แต่เราต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนมากกว่านี้จากผู้ใหญ่และหน่วยงานต่างๆ

ทุกวันนี้พะเยาน่าอยู่และมีเสน่ห์ในตัวเองอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณนำความคิดสร้างสรรค์มาช่วยพัฒนาเมือง ผมว่าพะเยาจะสร้างโอกาสให้นักศึกษาและผู้คนในเมืองมากกว่านี้อีกเยอะครับ”


ปวินท์ ระมิงค์วงศ์
อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
และผู้ก่อตั้ง
PYE Space

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย