/

“แก่งคอยไม่มีขนส่งสาธารณะ ใครจะมาเที่ยวก็ต้องขับรถส่วนตัวมา ช่วงเสาร์-อาทิตย์ รถจึงติดหนัก คนจากรอบนอกก็ไม่อยากเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในตลาด ถ้าเรามีสมาร์ทบัสวิ่งตามจุดต่างๆ มันจะอำนวยความสะดวกทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวได้เยอะครับ”

Start
161 views
12 mins read

“ผมเรียนจบด้านไบโอเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยบูรพา จบมาช่วงโควิดพอดี เลยคิดว่ากลับมาตั้งหลักที่แก่งคอยบ้านเกิดเราก่อน เพราะที่บ้านมีผู้สูงอายุเยอะ ก็กลับมาช่วยพ่อดูแลอากง อาม่า และอาโก

พอดีกับตอนที่กลับทางบริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ได้ร่วมกับ Depa (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล) และเทศบาลเมืองแก่งคอย ทำโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมือง เปิดรับสมัครคนรุ่นใหม่มาทำงานโครงการสมาร์ทซิตี้เชื่อมกับทางเทศบาล ผมเลยสมัครเข้ามาทำงานนี้ และความที่ผมทำธุรกิจส่วนตัวปลูกผักไฮโดรโปนิกในโรงเรือนที่บ้านอยู่แล้วด้วย โดยส่งขายที่ร้านของพ่อในตลาดสดเป็นหลัก งานใหม่นี้ก็เลยลงตัว ได้ทำงานออฟฟิศตอนกลางวัน ได้ปลูกผักขายหารายได้เสริมที่บ้าน และมีเวลาให้ครอบครัว ที่สำคัญงานประจำนี้ ยังมีส่วนในการร่วมหาทิศทางพัฒนาบ้านเกิดผมไปพร้อมกันด้วย

บทบาทของนักดิจิทัลพัฒนาเมืองของผม นอกจากประสานระหว่าง Depa กับทางเทศบาล คือคิดโครงการที่น่าจะช่วยพัฒนาเมืองหรือส่งเสริมอาชีพผู้คนในเมืองได้ ก็มีเขียนโครงการ ‘สวนผักกินได้กินดี’ ส่งเสริมให้ชาวบ้านทั้ง 16 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมีสวนผักเป็นของตัวเอง โดยสวนที่ว่าไม่จำเป็นต้องมีที่ดินขนาดใหญ่ แค่มีพื้นที่สัก 1×1 ตารางเมตร ก็ทำสวนในรูปแบบแนวตั้งได้แล้ว เริ่มนำเข้าแผน เพื่อที่จะหางบประมาณมาลง และให้ทางเทศบาลร่วมขับเคลื่อนต่อไป

ที่ผมอยากทำให้โครงการนี้มันเกิด ส่วนหนึ่งก็มาจากผมเองด้วย ก่อนหน้านี้พ่อผมเปิดร้านขายผักในตลาด (เฮียนิตย์ผักออร์แกนิก) ซึ่งประสบปัญหาว่าบางครั้งคนปลูกผักส่งประจำให้เรา เขาก็ไม่มีของส่ง เราก็เลยไม่มีของมาขาย ผมก็เลยเสนอว่างั้นเราศึกษาวิธีจากอินเทอร์เน็ท และปลูกผักไฮโดรโพนิกของเราเองแล้วกัน ก็ทดลองเรื่อยมาจนทุกอย่างนิ่ง กลายเป็นว่าผมก็มีรายได้เสริมมาอีก และธุรกิจพ่อก็สามารถรันต่อได้อย่างราบรื่น 

เรื่องนี้เลยทำให้ผมคิดว่าถ้าเราส่งเสริมองค์ความรู้ให้ผู้คนในเทศบาลปลูกผักกินเองที่บ้าน หรือแต่ละชุมชนมีสวนกลางสักแห่งที่ให้คนในชุมชนได้มาปลูกและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย รวมถึงบางคนยังสามารถต่อยอดไปเป็นอาชีพเสริมได้อีก เพราะช่วงหลังๆ ผู้คนเริ่มหันมาสนใจกินอาหารเพื่อสุขภาพกันมากขึ้นแล้ว ผักปลอดสารเคมีก็เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ ผมเลยเขียนโครงการนี้ไปให้ทางเทศบาลเอาเข้าแผนต่อไป

นอกจากโครงการสวนผัก ทางสำนักงานผมยังร่วมกับทางหอการค้าแก่งคอยมีแผนจะพัฒนาแพลทฟอร์มส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดท่าน้ำแก่งคอย ทำในรูปแบบสมาร์ทไกด์ (smart guide) มีการติดตั้งว่าถ้าใครอยากรู้ความเป็นมาของพื้นที่ อาจจะเข้าไปกดปุ่มฟังเสียงดู เป็น qr code ลองเปิดดูว่าที่นี่มีประวัติความเป็นมายังไง โดยนำร่องจากพื้นนี้ก่อน แล้วค่อยขยายไปตามจุดต่างๆ ทั่วเมือง

อีกโครงการที่อยากให้เกิดมากๆ คือสมาร์ทบัส (smart bus) อยากให้แก่งคอยเรามีรถวิ่งรอบเมือง เป็นรถพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ เพราะที่ผ่านมา แก่งคอยไม่มีขนส่งสาธารณะ ใครจะมาเที่ยวแก่งคอยก็ต้องขับรถส่วนตัว ช่วงเสาร์-อาทิตย์ รถจึงติดหนัก คนจากรอบนอกก็ไม่อยากเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในตลาด ถ้าเรามีสมาร์ทบัสวิ่งตามจุดต่างๆ ทั่วเมือง มันจะอำนวยความสะดวกทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวได้เยอะครับ

อาจเพราะผมเกิดและโตที่นี่ด้วย ผมจึงผูกพันกับที่นี่ และไม่รู้สึกว่าจะต้องย้ายไปทำงานที่ไหน มันเป็นความผูกพันแบบที่เห็นคนในตลาดทักทายกันทุกวัน ไปไหนก็เจอคนรู้จัก ขาดเหลืออะไรก็มีคนคอยช่วยเหลือกัน อบอุ่นประมาณนี้น่ะครับ ซึ่งมันแตกต่างจากเมืองใหญ่ที่ถึงผู้คนจะเยอะแยะกว่านี้ จะคึกคักกว่านี้มาก แต่กลับรู้สึกว่าทำไมมันเหงาเหลือเกิน เพราะทุกคนต่างใช้ชีวิต ต่างคนต่างอยู่

แต่นั่นล่ะครับ ถ้ามองในมุมของคนรุ่นใหม่ที่นี่อาจเหงาสักหน่อย เพราะคนรุ่นผมอยู่กันน้อยมากๆ ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าเมืองในปัจจุบันมันยังไม่รองรับ และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมอยากทำงานนี้ (นักดิจิทัลพัฒนาเมือง) เพื่อเปิดพื้นที่หรือโอกาสใหม่ๆ ให้คนรุ่นใหม่กลับเข้ามาอยู่ด้วยกันที่นี่”

สิรภพ แซ่จึง
นักดิจิทัลพัฒนาเมือง  

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย