/

แต่ไหนแต่ไร นักท่องเที่ยวมาเยือนหาดใหญ่เยอะมากอยู่แล้ว ใครทำอะไรมาก็ขายได้หมด ผู้ประกอบการจึงไม่เห็นความจำเป็นว่าจะต้องคุยกัน จนโควิดมานั่นแหละ ทุกอย่างเลยพังหมด

Start
394 views
12 mins read

“เมื่อราว 50 กว่าปีที่แล้ว ผมขับรถตุ๊กตุ๊กรับส่งนักท่องเที่ยวในตัวเมืองหาดใหญ่ ขับไปได้สักพักก็เริ่มรู้ว่าจะพานักท่องเที่ยวไปที่ไหนและไปเที่ยวอย่างไรให้ตอบโจทย์คนแต่ละกลุ่ม แล้วผมก็เลยสอบเพื่อขอใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ และทำอาชีพนี้มาจนถึงปัจจุบัน

กล่าวได้ว่าหลังจากหาดใหญ่เป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งจำหน่ายสินค้าราคาถูกมาเนิ่นนาน ผมเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเมืองนี้ก็ว่าได้

ซึ่งในยุคแรกพูดตรงๆ ได้เลยว่า เละครับ เรายังไม่มีการจัดการ ไกด์ผีหรือไกด์เถื่อนเยอะมาก นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา หลายคนโก่งราคาหรือไปหลอกเอาเงินจากเขา บางรายฮั้วกับสถานบันเทิงเพื่อฟันราคาเพิ่ม พาไปซื้อสินค้าคุณภาพต่ำ หรือในยุคที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ท ก็มีการเอารูปห้องพักปลอมมาหลอกนักท่องเที่ยว และพอเช็คอินจริงกลับไม่ใช่เสียอย่างนั้นก็มี

ตอนนั้นเมืองเรามีสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว ผมก็เลยเข้าไปหารือกับทางสมาคม เพราะปล่อยไว้แบบนี้ชื่อเสียงของเมืองก็จะเสีย นักท่องเที่ยวมาครั้งเดียวแล้วเข็ดและจะไม่กลับมาอีก นั่นเป็นเหตุผลที่ผมก่อตั้งชมรมมัคคุเทศก์จังหวัดสงขลา เพื่อสร้างเครือข่ายมัคคุเทศก์ ทำประวัติ และจัดอบรมเพื่อให้มัคคุเทศก์มีมาตรฐานทางการบริการและราคาเท่ากัน

แต่ถึงแม้จะมีเครือข่ายมัคคุเทศก์ ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งภาครัฐ โรงแรม ร้านค้า การเดินรถ และอื่นๆ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ จึงยังไม่เกิดการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งได้เสียที

ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นใช่ไหม? เพราะแต่ไหนแต่ไร นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวมาเลเซียมาเยือนหาดใหญ่เยอะมากอยู่แล้ว ใครทำอะไรมาก็ขายได้หมด อย่างที่บอกหลายคนก็ฉวยโอกาสเอาเปรียบพวกเขาด้วย ซึ่งพอดีมานด์มันมากขนาดนี้ ผู้ประกอบการเลยไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องคุยกัน การท่องเที่ยวของเมืองจึงมาในลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอามาแต่ไหนแต่ไร

ซึ่งนั่นแหละครับ พอโควิด-19 มาก็เจ๊งกันหมด เมืองเงียบไปเป็นปีๆ กระทั่งผมเองก็ไม่มีรายได้สักบาท ซ้ำยังไม่มีหน่วยงานไหนมาช่วย เพราะเราไม่มีเครือข่ายที่จะช่วยเหลือกันแต่แรก จะมีก็แค่เงินชดเชยจากรัฐบาลซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต

ผมจึงคิดว่าตอนนี้สบโอกาสที่เมืองกลับมาฟื้นแล้ว ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายควรมาปรึกษากันเรื่องการทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในเมืองของเรามีมาตรฐานเดียวกัน

ซึ่งไม่ใช่แค่ในระดับผู้ประกอบการ แต่ยังรวมถึงภาครัฐ สายการบิน และการรถไฟ เพราะที่ผ่านมา เราเห็นหลายโครงการมีความหวังดีในการสนับสนุนการท่องเที่ยว แต่ก็ต้องล้มพับไปเพราะไม่ได้คุยกันก่อน ที่เห็นได้ชัดคือครั้งหนึ่งมีการเปิดไฟล์ทบินตรงจากสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่รัฐกลับไม่มีโครงการช่วยสนับสนุนให้มีการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา ไฟล์ทดังกล่าวจึงต้องล้มพับไปในเวลาอันสั้น เช่นเดียวกับที่การรถไฟก็ไม่ได้มีการจัดสรรเวลาเดินรถให้สอดรับการต่อรถไปยังประเทศมาเลเซีย เป็นต้น  


ตรงนี้แหละที่ผมมองว่าน่าเศร้า มีหลายโครงการที่รัฐได้ทุ่มลงทุนมหาศาลเพื่อหวังผลทางการท่องเที่ยว แต่กลับต้องสูญเปล่าไปอย่างน่าเสียดาย อย่างโครงการ อควาเรียมสงขลา (ศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา – ผู้เรียบเรียง) ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่มากๆ แต่กลับถูกทิ้งร้างมา 10 กว่าปี ทั้งๆ ที่ถ้าเปิดใช้ได้จริง ก็จะเป็นอีกแม่เหล็กดึงดูดการท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดมากๆ

ส่วนข้อเสนอเพิ่มเติม ผมเห็นว่าเทศบาลน่าจะจัดสรรที่จอดรถเพิ่มเติมหรือไม่ก็ทางเลือกในการเดินทางที่มากกว่านี้ ที่สำคัญคือทางเท้า ไม่ใช่ว่าเมืองเราไม่มีทางเท้านะครับ แต่ถ้าคุณเข้ามาในย่านใจกลางเมือง ทางเท้าถูกยึดโดยร้านค้าแผงลอยเสียส่วนใหญ่ เราจึงเดินในเมืองลำบาก และถ้าคุณนั่งวีลแชร์อีก คุณไปไหนไม่ได้เลยนะ”   

วิทยา ลิ่ม
อดีตประธานชมรมมัคคุเทศก์จังหวัดสงขลา

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย