/

แม้หาดใหญ่จะเป็นเมืองศูนย์กลางทางการศึกษาของภาคใต้ แต่เมืองของเราก็ยังสามารถเพิ่มแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมือง ซึ่งเกี่ยวกับรากเหง้าของพวกเราโดยตรง ให้มากขึ้น และชัดเจนขึ้นได้อีก

Start
412 views
8 mins read

“แม้หาดใหญ่จะเป็นเมืองศูนย์กลางทางการศึกษาของภาคใต้ และภายในเขตเทศบาลก็มีศูนย์การเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ครอบคลุม ตั้งแต่อุทยานการเรียนรู้ ศูนย์สุขภาพ ไอที หอศิลป์ ไปจนถึงหอดูดาว แต่เมืองของเราก็ยังสามารถเพิ่มแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมือง ซึ่งเกี่ยวกับรากเหง้าของพวกเราโดยตรง ให้มากขึ้น และชัดเจนขึ้นได้อีก

ปัจจุบันสำนักการศึกษา เทศบาลนครหาดใหญ่ กำลังรวบรวมและจัดทำข้อมูลประวัติศาสตร์ของเมืองหาดใหญ่ เพื่อให้ทุกคนได้ทราบถึงที่มา พัฒนาการ และเกร็ดต่างๆ เกี่ยวกับเมืองแห่งนี้ โดยเรามีแผนจัดทำนิทรรศการเกี่ยวกับเมืองที่หอศิลป์นครหาดใหญ่ เฉลิมพระเกียรติฯ รวมถึงในรูปแบบของหนังสือ และสื่อออนไลน์ เพื่อเผยแพร่ถึงผู้คนในวงกว้างต่อไป

พี่คิดว่าสื่อที่เกี่ยวกับเมืองตรงนี้สำคัญ เพราะไม่เพียงทำให้คนในหาดใหญ่รู้จักที่มาที่ไปของตัวเอง และสถานที่ต่างๆ ที่แวดล้อมเราอยู่ แต่ยังช่วยสร้างความภูมิใจ เป็นเสมือนเครื่องมือดึงดูดให้คนรุ่นใหม่กลับมาทำงานที่นี่ ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองต่อไป

เพราะแม้เราจะเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาซึ่งดึงดูดให้เกิดการลงทุนจนเมืองมีการขยายตัวอย่างเช่นทุกวันนี้ แต่หนึ่งใน pain point ของเราก็คือ คนรุ่นใหม่หลายคนที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันใดสถาบันหนึ่งของที่นี่ ส่วนใหญ่กลับเลือกที่จะออกไปทำงานที่อื่น แม้เมืองจะมีการเติบโต แต่ก็ขาดพลังขับเคลื่อนจากคนรุ่นใหม่ไปพอสมควร

และด้วยเหตุนี้ควบคู่ไปกับการสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่มาทำงานที่หาดใหญ่ เทศบาลนครหาดใหญ่ก็พยายามชักชวนและพร้อมเปิดรับฟังข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวคิดของกลุ่มสตาร์ทอัพในเมืองเราอยู่เสมอ ขณะเดียวกัน พี่มองว่าการเชื่อมโยงของเครือข่ายการศึกษาในพื้นที่ก็เป็นสิ่งสำคัญ เรามีสถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้เฉพาะทางและมีคุณภาพ ถ้ามีการเชื่อมโยงกิจกรรมหรือหลักสูตรการศึกษาระหว่างสถาบัน โดยเฉพาะกับทักษะทางวิชาชีพ สิ่งนี้ไม่เพียงช่วยพัฒนาทักษะของผู้เรียน แต่ยังช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้คน และเมืองของเรา

เมื่อการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว การค้าการลงทุนในเมืองกลับมาคึกคักอีกครั้ง และอย่างที่ทราบกัน เมืองหาดใหญ่มีต้นทุนอันดีเยี่ยมอยู่สองเรื่องหลัก คือการเป็นศูนย์กลางการศึกษา และศูนย์กลางด้านการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ พี่จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะเชื่อมโยงต้นทุนทั้ง 2 เข้ากับการท่องเที่ยว และเมืองของเราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยมุมมองและพลังจากคนรุ่นใหม่มาขับเคลื่อนต่อไป”

ณภัทร วิทยาทันต์
ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา เทศบาลนครหาดใหญ่

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย