“แรกๆ คนแถวนี้ก็ไม่เข้าใจ เขาเรียกเราเป็นภาษาอีสานว่า ‘ผีบ้าเฮ็ดนา’ เพราะเห็นว่าเราทำนาไม่เหมือนชาวบ้าน”

Start
319 views
17 mins read

“พ่อแม่ผมเป็นชาวนา แต่พวกท่านอยากให้ผมเรียนหนังสือเพื่อทำอาชีพอื่นมากกว่า จึงส่งเรียนตามปกติ จบมาก็ไปทำงานที่กรุงเทพฯ อยู่ที่นั่นเกือบสิบปี ที่ทำงานสุดท้ายคือบริษัทโซนี่ แล้วก็เกิดอิ่มตัว ผมกับแฟนจึงชวนกันกลับมาอยู่บ้านที่กาฬสินธุ์

พอกลับมาก็ทำร้านเช่าวิดีโอก่อน ผลตอบรับดีมากๆ กระทั่งเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง จากดีๆ อยู่ ชั่วข้ามคืนก็กลายเป็นหนี้ถึงขั้นล้มละลาย ก็ต้องเสียที่ดินใช้หนี้ไปส่วนหนึ่ง แล้วธุรกิจนี้ก็ไปต่อไม่ได้ ทีนี้ก็มาคิดกันว่าจะทำอะไรต่อไป สุดท้ายก็นำต้นทุนที่ครอบครัวผมมีอยู่แล้วมาทำ นั่นคือการเป็นเกษตรกร

เราใช้ที่นาของที่บ้านมาทำ ที่ดินตรงนี้ดีหน่อยเพราะอยู่ในเขตชลประทาน ปีแรกเราทำนาปรังก่อน แต่ก็เจอปัญหาเรื่องเงินทุน เพราะทำแบบเกษตรกรทั่วไปคือปลูกข้าวไปขายโรงสี พึ่งพาปัจจัยภายนอกอย่างเดียว เลยไม่ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ ก็คิดกันว่าถ้าทำแบบนี้ต่อไป ก็คงไม่ยั่งยืนสักที เลยมาทบทวนโจทย์กันใหม่

ก็พอดีวันหนึ่งเราเปิดข่าวในพระราชสำนักช่วงหัวค่ำ เห็นสมเด็จพระเทพฯ ท่านโยนกล้าที่นครนายก เขาเรียกการทำนาโยน เราสนใจวิธีการนี้ จึงไปหาข้อมูลเพิ่มเติม หาหนังสือมาอ่าน และทดลองทำ ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จนมีโอกาสได้ไปเรียนเพิ่มเติมกับอาจารย์เดชา ศิริภัทร ปราชญ์พื้นบ้าน และผู้ก่อตั้งมูลนิธิข้าวขวัญที่สุพรรณบุรี ช่วงปี 2557-2558 ไปเรียนรู้การทำเกษตรธรรมชาติโดยใช้จุลินทรีย์เป็นหลักแทนการใช้ปุ๋ยเคมี และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้พวกเรากลับมาจัดสรรที่ดินและทรัพยากรใหม่ เริ่มทำเกษตรอินทรีย์ครั้งแรกที่กาฬสินธุ์

ผลผลิตแรกออกมาในปี 2559 ดีที่เราเคยเป็นทั้งพนักงานบริษัทและทำธุรกิจมาก่อน ก็เลยพอรู้ช่องทางในด้านการขายและทำการตลาด เราเอาสินค้าไปขึ้นโอทอป และได้เป็นโอทอป 5 ดาว ในผลิตภัณฑ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวเหนียวดำ และข้าวเหนียวแดง ซึ่งทั้งหมดเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง 

มาปี 2562 เมื่อช่องทางการขายอยู่ตัวแล้ว เราก็มาตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ‘ชาวนา บ้านนอก’ เพราะอยากสร้างเครือข่ายเกษตรกรในบ้านเกิดเรา ให้เขาหันมาทำเกษตรอินทรีย์พึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืน แต่แรกๆ เขาก็ไม่เข้าใจกัน เขาเรียกเราเป็นภาษาอีสานว่า ‘ผีบ้าเฮ็ดนา’ เพราะเห็นว่าเราทำนาไม่เหมือนชาวบ้าน เขาก็ยังสงสัยอยู่ว่าทำนาแล้วไม่ใส่ปุ๋ย ข้าวมันจะขึ้นได้ยังไง เราก็ไม่พยายามไปโต้เถียงอะไรเขา แต่ทำให้เขาเห็นมาเรื่อยๆ ว่าจุลินทรีย์มันทำได้จริง

จนชาวบ้านมาร่วมกับเราจริงๆ เมื่อปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งก็เพราะทางจังหวัดเขาจัดสรรงบประมาณมาส่งเสริมให้เกษตรกรทำอินทรีย์ด้วย และเราก็ทำของเราอยู่แล้ว เขาก็เลยขอให้เราเปิดเป็นศูนย์อบรมเลย จากที่เขาไม่เชื่อเรา เขาก็มาฟัง และมาเห็น จึงสามารถตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นมาได้

เราจะบอกเพื่อนเกษตรกรทุกคนว่าเกษตรอินทรีย์มันคือความปลอดภัยต่อตัวเราเองและผู้บริโภค ขณะเดียวกัน เราสามารถกำหนดราคาให้สอดรับกับต้นทุนได้ ไม่จำเป็นต้องให้โรงสีมากดราคาเหมือนเมื่อก่อน ที่สำคัญ คุณภาพข้าวก็ดีกว่า อย่างข้าวไรซ์เบอร์รี่นี่ทั้งหอมและนุ่มกว่า และพอเข้าโอทอป ยังทำให้เราเข้าถึงงานวิจัยของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งนำมาสู่องค์ความรู้ในการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก เช่นของเราเอง จากที่ทำข้าวกล้องอย่างเดียว ทุกวันนี้เราก็ทำทั้งผงจมูกข้าว น้ำส้มสายชูจากข้าว สบู่ รวมถึงล่าสุดที่ทำวิจัยกับทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการทำซุปข้าวหอม เป็นต้น

ความที่ผมเคยทำงานบริษัทโซนี่มา ทำให้มีทักษะในการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอ ก็ใช้ทักษะนี้ทำสื่อสร้างความรับรู้ผ่านเพจเฟซบุ๊ค (Facebook: ชาวนา บ้านนอก ข้าวธรรมชาติ เพื่อสุขภาพ) ซึ่งเพจนี้ไม่ใช่แค่มีไว้ขายของอย่างเดียว แต่จะคอยอัพเดตผลิตผลที่เราทำในพื้นที่ แบ่งปันองค์ความรู้ และเผยแพร่คลิปที่เราสองคนไปอบรมด้านการทำเกษตรในที่ต่างๆ ด้วย

ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ ผมอยากให้ที่นาของเราเป็นพื้นที่เรียนรู้ ที่ไม่ใช่แค่ศูนย์อบรมด้านการเกษตร อย่างที่ผ่านมา เทศบาลเขาพานักเรียนจากสภาเด็กและเยาวชนมาเรียนรู้เรื่องการทำนากับเรา พวกเราก็ยินดีเป็นวิทยากรให้มากๆ แต่เสียดายปีก่อนๆ เขามีเวลาให้แค่วันเดียว จึงได้แค่เรียนรู้ขั้นพื้นฐาน ปีนี้ผมเลยไปคุยกับเทศบาลว่าถ้าทำกิจกรรมสักสองวันได้ไหม จะได้ให้เด็กๆ เข้าใจกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สอนวิธีการลงทุนและการจำหน่าย ไม่ใช่แค่การมีประสบการณ์ร่วมเฉยๆ แล้วกลับไป

นอกจากนี้ เราก็พยายามทำหลักสูตรเรียนรู้นอกห้องเรียนไปเสนอกับทางโรงเรียนในสังกัดเทศบาลด้วย เพราะคิดว่าอย่างไรเสีย เด็กๆ ส่วนใหญ่ในอำเภอนี้ก็โตมากับสังคมเกษตรกรรม ถึงพวกเขาไม่คิดจะเป็นชาวนาในอนาคต แต่เรียนรู้พื้นฐานเรื่องนี้ไว้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย

ที่อยากทำเรื่องการศึกษา ก็เพราะมีเราสองคนเป็นกรณีศึกษาเลย จริงอยู่ ทุกวันนี้ค่านิยมในบ้านเรา ผู้ใหญ่ยังสอนให้ลูกๆ เรียนเก่ง จบมาจะได้เป็นเจ้าคนนายคน แต่ในความเป็นจริง การเป็นเจ้านายเนี่ย มีเก้าอี้ให้เรานั่งกี่ตัว? ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้นั่งเก้าอี้นั้น แล้วคนที่โอกาสไม่เอื้ออำนวยล่ะ พวกเขาจะทำยังไงกับชีวิต

และเราก็สอนลูกเราแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องเรียนเก่งได้ที่ 1 ของห้องก็ได้ แค่ให้รู้จักตัวเอง รู้ว่าต้นทุนเรามีอะไร และจะสามารถต่อยอดต้นทุนที่มีต่อไปยังไง เราไม่ปิดกั้นความฝันของเขา เขาอยากทำอะไรทำเลย แต่ถ้าท้ายที่สุด ถึงเขาจะไม่สามารถทำได้อย่างที่ฝัน เราก็ยังมีต้นทุนตรงนี้รองรับอยู่”  

ทองใบ ไชยสิงห์ และจิรพรรณ วรนิตย์  
กลุ่มผลิตข้าวเพื่อสุขภาพ ‘ชาวนา บ้านนอก’ อำเภอยางตลาด กาฬสินธุ์
https://www.facebook.com/Chawnabannog.kalasin/?locale=th_TH

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย