“โคก ภาษาอีสานคือเนิน โคกหนองนาคือการแบ่งระดับ จุดสูงสุดให้ปลูกเป็นต้นไม้ใหญ่”

Start
317 views
20 mins read

“เขาใหญ่ พาโนราม่า ฟาร์มทำโคกหนองนาตั้งแต่ปี 2560 เราขุดคลองไส้ไก่ มองเป็นโมเดลการบริหารจัดการน้ำ เสมือนจากภาคเหนือสู่ภาคใต้ ถ้าแต่ละพื้นที่ทำการขุดคลองไส้ไก่กันทั่ว เวลาน้ำมาจากทางเหนือจะค่อยๆ กระจาย แทนที่จะไหลหลากไปสู่ภาคใต้ ระหว่างนั้นเราบริหารจัดการน้ำได้ แบ่งเข้าไปแปลงต่างๆ ของแต่ละพื้นที่ หนึ่ง ลดน้ำหลากน้ำท่วม สอง ได้ประโยชน์จากน้ำ ได้เก็บน้ำ ได้กระจายน้ำลงดิน

เราได้พัฒนาพื้นที่เพิ่มจากทุนสนับสนุนของบพท. (หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่) มาปรับปรุงแต่ละจุดของศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทำการขุดเพิ่ม ลักษณะพื้นที่แถวนี้มีหินกระจายเยอะ พอเราขุดไปก็เจอหินอ่อนขนาดใหญ่ ก็ปล่อยไว้ธรรมชาติแบบนั้นเลย แล้วก็ทำเป็นทาง ขุดคลองแต่ละที่ลดหลั่นกันไป ท้ายสุดมันจะเชื่อมกัน แม้แต่น้ำที่ออกไปด้านโน้นก็จะไม่ท่วมไปถนน จะวกกลับมาลงที่นี่เหมือนเดิม พอฝนตกลงมาหนักๆ สามารถขึ้นสูงถึงรอยระดับน้ำที่เห็นเลย แต่พอเช้าน้ำจะจมดินลงไป ซึ่งก็ไปเติมน้ำให้ใต้ดิน

โคก ภาษาอีสานคือเนิน โคกหนองนาคือการแบ่งระดับ จุดสูงสุดให้ปลูกเป็นต้นไม้ใหญ่ หนองคืออยู่จุดต่ำสุด เพราะน้ำยังไงก็ต้องไหลลงหนอง ตรงนี้เป็นหนองหินอ่อน เลยทำเป็นโคกหนองนาเพื่อการท่องเที่ยวไปด้วย เพราะคำว่า โคกหนองนา แตกต่างไปตามบริบทพื้นที่ ถึงได้มีโคกหนองนาป่าลำไย โคกหนองนาป่ากล้วย โคกหนองนาป่าอะไรก็ได้ที่เป็นพืชของเขา อย่างเราไม่ใช่ที่ที่ทำนา ทำนาไม่ได้ ถ้าเป็นนาไร่ เคยปลูกข้าวไร่ ไม่ได้มีน้ำขัง ใช้รดน้ำ แต่ได้ผลผลิตไม่เท่าไหร่ ไม่เหมือนนาที่มีน้ำตลอดปี

เรามุ่งเน้นการเป็นเมืองอาหารอินทรีย์ นำศาสตร์ต่างๆ มาใช้ แล้วทำเป็นหลักสูตรเพื่อใช้เป็นแกนหลักในการฝึกอบรมสำหรับผู้สนใจซึ่งเข้ามาศึกษากันอย่างต่อเนื่อง มีหลายหลักสูตรให้เลือกตั้งแต่ 2 คืน 3 วัน 5 วัน 1 วัน ครึ่งวัน แต่เบื้องต้นเลย อยากให้มาหลักสูตรพื้นฐาน 2 คืน 3 วัน มีเนื้อหาเรียนรู้หลักทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 หลักกสิกรรมธรรมชาติ ทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดล หลักการออกแบบพื้นที่ ที่ไปทำแล้วถูกต้อง การทำปุ๋ยหมัก การห่มดินแห้งชามน้ำชาม (การคลุมดินแล้วตามด้วยปุ๋ยหมักแห้งและปุ๋ยหมักน้ำ) เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์ ให้มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด และได้ผลในเรื่องการทำอินทรีย์ 100% อย่างเมื่อก่อนท่านไหนเห็นหญ้าก็จะนึกว่าหญ้าเป็นศัตรูพืช แต่ในพื้นที่เรา ก็ใช้พวกใบไม้ต่างๆ ที่เราตัดแต่งกิ่งไม้มาห่มดินแห้งชามน้ำชามเพื่อเก็บความชื้นในดินให้กับระบบราก ไม่โดนแสงแดดโดยตรง ความชุ่มชื้นไม่ระเหย เกิดไส้เดือน เกิดพืชที่พรวนดินได้

ฐานปุ๋ยหมักแห้งหมักน้ำ เรียกว่า น้ำหมัก 7 รส เช่น น้ำหมักแบบฉุน แบบเปรี้ยว แบบขม แบบฝาด แบบจืด คือใช้ต่างสรรพคุณกัน ถ้าเป็นบ้านเรือน ใช้น้ำหมักรสเปรี้ยว ก็จะสอนวิธีเอาผลไม้รสเปรี้ยวที่เหลือใช้มาทำการหมัก คุณสมบัติน้ำหมักรสเปรี้ยวคือขจัดความมัน สิ่งสกปรก ก็เอามาผสมด่างขี้เถ้า ทำเป็นน้ำยาล้างจาน น้ำยาเอนกประสงค์ ใช้ซักผ้าได้ ขัดพื้นได้ ทำสบู่ แชมพู ที่นี่ไม่ซื้อพวกผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างจานมาตั้งแต่ก่อนหน้าทำโครงการแล้วค่ะ ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ กรณีปลูกพืช ก็เป็นปุ๋ยหมักรสจืด เราสอนว่าพวกพืชที่มีรสจืดต่างๆ สามารถเอาไปหมักทำปุ๋ยมาปรุงดิน ถ้าดินแข็งแรง พืชก็แข็งแรง โดยที่ไม่ต้องใช้สารเคมี อย่างที่ฟาร์มเราทำเกี่ยวกับเห็ด ก็เอาเศษเห็ดที่เราตัดแต่งหรือเศษเห็ดที่ใช้ไม่ได้ ผักที่ทำอาหาร หรืออันที่เราเด็ดส่วนเสียทิ้ง เอามาหมักตามสูตร เอาไปรด เรียกว่าการปรุงดินก่อนปลูกพืช คือในพื้นที่ 91 ไร่ พนักงานทุกคนจะมีแปลงที่ตัวเองรับผิดชอบ โดยทุกแปลงเราใช้หลักในการห่มดิน ซึ่งเป็นหัวใจเลย หมักดินอย่างน้อย 14 วันด้วยการคลุมดินแบบนี้ โรยปุ๋ยแห้ง น้ำหมักรสจืด จากนั้นพอดินร่วนซุยดี ก็เริ่มเอาต้นกล้าลง แต่ละแปลงจะเห็นว่ามีการปลูกดอกไม้แทรกไป เราเรียกว่าการบริหารการล่อแมลง ตัวห้ำตัวเบียน ดอกไม้ที่มีสีสัน ไม่มีกลิ่นฉุน ล่อแมลงดีมากำจัดแมลงไม่ดี เข้าฐานคนเอาถ่าน ทำถ่านก็ได้น้ำส้มควันไม้ ใช้ไล่แมลงได้อีก ทุกท่านที่มาเรียนหลักสูตรนี้ ก็จะได้รับหลักการพื้นฐานไปดูแลพื้นที่

หลายท่านมองว่าที่ดินเขาใหญ่มีมูลค่า จะมีซักกี่คนที่ยอมเอาพื้นที่มาขุดมาปรับเพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้ แต่ด้วยความตั้งใจของคุณปรเมศวร์ (ปรเมศวร์ สิทธิวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัย เขาใหญ่ พาโนราม่า ฟาร์ม) อยากให้เกิดเมืองอาหารอินทรีย์ แล้วคนเอาหลักของในหลวงร.9 ไปใช้ต่อยอด แล้วให้เกษตรกรมีแหล่งจำหน่ายจริงๆ หลายคนคือผลิตได้แต่ไม่รู้จะจำหน่ายยังไง คุณปรเมศวร์พยายามเชื่อมโยง เอาภาคีเครือข่าย เช่นมีท่านนายอำเภอ หลวงพ่อ ผู้ประกอบการค้า ภาคสื่อมวลชน สมาคมท่องเที่ยว โรงเรียน เข้ามาช่วยกัน จากที่เมื่อก่อนแยกกัน สิ่งสำคัญคือ ถ้าคนที่เป็นหลักมีความตั้งใจจริง ไม่ยอมถอย เจออุปสรรคระหว่างทาง จะแก้ไขเพื่อให้ไปต่อได้ ถึงแม้ว่าจบระยะเวลาโครงการ แต่คุณปรเมศวร์ยังทำอยู่ตลอด และมีความตั้งใจผลักดันให้เกษตรกรต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่เราเรียกว่า ขั้นก้าวหน้า ได้ คือถ้าแบบทั่วไป ก็ปลูก ได้ผลผลิตมา เกษตรกรทำก็เหนื่อยอยู่แล้ว ถ้าไปหาจ้างคนออกแบบแพ็กเกจจิงหรือแปรรูป ก็เสียค่าใช้จ่ายอีก เหมือนไม่ได้อะไร ไปกับทุนหมด เราก็พยายามหาแต่ละส่วน ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ มาทำตลาดให้ ใครเชี่ยวชาญอะไรก็ทำไป เชี่ยวชาญปลูกก็ปลูก เชี่ยวชาญแปรรูปก็แปรรูป แต่มารวมกันเพื่อส่งออกได้ ขายได้ ขึ้นระดับห้างได้ เกษตรกรต้องอยู่ได้ ขอให้คุณทำตามหลัก และเป็นอินทรีย์ ศูนย์ของเราเป็นตัวกลางโลจิสติกส์ให้ด้วย นอกจากประสานงานแล้ว เกษตรกรคนไหนมาไม่ได้ก็เข้าไปหา เพื่อที่จะเอาไปส่งให้ผู้ประกอบการ คือทุกโรงแรมในเขาใหญ่ มีไข่เป็นส่วนประกอบของอาหาร ก็พยายามเอาไข่อินทรีย์เข้าไปตามร้านอาหาร ผู้ประกอบการ หรือแม้แต่โรงเรียน เราวิ่งไปส่งเป็นรอบเลย เกษตรกรที่ทำไข่ก็ได้ขาย คนก็ได้กินของดี

ภาพในอนาคตคือเน้นความยั่งยืน คนที่มาอบรมได้ไปทำต่อในพื้นที่ของเขา คนที่อยู่ในพื้นที่ ถ้าเขาอยู่ได้ เมืองก็ดีในเรื่องของการใช้ชีวิต ถ้าคนมีสุขภาพดี ก็ช่วยลดโรคต่างๆ ภาพกว้างก็เป็นการลดภาระของกระทรวงสาธารณสุข อย่างการสนับสนุนให้เด็กกินไข่กินพืชผักอินทรีย์ เด็กก็เติบโตอย่างมีคุณภาพ ในด้านเศรษฐกิจก็ต้องช่วยกันพัฒนาให้เป็นเมืองที่กระตุ้นเศรษฐกิจ การรวมตัวกันจากจุดเริ่มต้นที่เป็นเครือข่าย มีโครงการอะไรดีๆ จะต่อยอดไปด้วยกัน เป็นภาพใหญ่ในการพัฒนาเมือง”

ณิรัสยาธร ขจรเศรษฐวิชญ์
นักวิจัย
บริษัท เขาใหญ่ พาโนราม่า วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย