“โรงโม่หินศิลาสากลพัฒนามาทำโครงการบ้านธารน้ำใจเทิดไท้องค์ราชัน สร้างบ้านให้คนจน คืออบต.ทั่วประเทศเขาทำให้ 1 หลัง แต่ของเราได้ 50 กว่าหลัง”

Start
322 views
14 mins read

“อบต.หนองน้ำแดง เน้นเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ผ่านมาในอดีต การพัฒนา อาจจะหมายถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ของเราคือพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือการเข้าถึงแหล่งความรู้ ประสานความร่วมมือกับภาคราชการหรือภาคเอกชน มีการจัดฝึกอบรมในเรื่องต่างๆ อยู่เป็นประจำ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาก็เอางบมาทำให้ ภาคเอกชนที่เขาอยากประกอบอาชีพนี้ ฝึกอาชีพนี้ หรือมาเรียนรู้เรื่องนี้ เรามีหน้าที่ประสานความร่วมมือให้เขามาเจอกัน กิจกรรมอบรม เช่น เรื่องการท่องเที่ยว การเสริมทักษะการแปรรูป การขายของออนไลน์ เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวกับผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่น

แหล่งท่องเที่ยวในโซนหนองน้ำแดง ก็มีหลากหลาย แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ มีวัดวชิราลงกรณวราราม วรวิหาร เป็นวัดในรัชกาลที่ 10 และมีรอยพระพุทธบาทอยู่บนภูเขา วัดถ้ำไตรรัตน์ ก็มีถ้ำ จริงๆ มีถ้ำธรรมชาติอยู่อีกหลายวัด เป็นจุด Unseen ที่นักท่องเที่ยวยังไม่รู้ อย่างวัดถ้ำพรหมจรรย์ไม่ค่อยมีคนรู้หรอก แต่เราเคยไป ก็จะรู้ว่าเป็นถ้ำธรรมชาติ แต่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว เป็นแหล่งสำหรับวิปัสสนา กรรมฐาน ปฏิบัติธรรม แต่ส่วนใหญ่คนก็ไม่ค่อยได้ขึ้น เพราะสูง ขึ้นลำบาก อย่างถ้ำสุริยาก็สวยนะ แต่พอวัดถ้ำเขาวงมาอยู่ก็มีการทำเพิ่มเติม ความเป็นธรรมชาติก็ลดน้อยลง ในชุมชนหนองน้ำแดงก็มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรหลายแห่ง คนในชุมชนเขาทำของเขาเอง อย่างที่ “บ้านหมากม่วง” เขาทำอาชีพเกษตรกรอยู่แล้ว ปลูกมะม่วงเป็นร้อยไร่ เขาก็เอามาแปรรูปเอง มีข้าวเหนียวมะม่วง ไอศกรีม แล้วก็ทำเป็นร้านอาหาร ร้านค้า สามารถรองรับกรุ๊ปทัวร์ได้ ลูกเจ้าของเขาเก่ง เรียนจบ Food Science มาต่อยอดให้พ่อ ก็เป็นกิจกรรมที่น่าส่งเสริม ซึ่งตรงนี้ในส่วนราชการเราก็พยายามส่งเสริมทักษะเหล่านี้

ผมมีโอกาสเข้าไปร่วมกับภาคเอกชนที่มีการจัดประชุม ส่งเสริมการเรียนรู้ และการพัฒนาโครงการเขาใหญ่ ปากช่อง เมืองอาหารอินทรีย์ คือตอนนี้ ทุกคนต้องกลับมาดูแลสุขภาพ เรื่องอยู่ เรื่องกิน ผมสังเกตหลายร้านอาหาร มีผักปลอดสารพิษ ถึงราคาจะสูงกว่า แต่เขาก็กินนะ สินค้าเกษตรอินทรีย์ก็มีโรงแรม รีสอร์ต ที่เขาต้องการอยู่ ซึ่งจากเดิม เกษตรกรทำเกษตรอย่างเดียวแล้วขายพ่อค้าคนกลาง ตอนนี้ก็หันมาทำเกษตร แปรรูปเอง อย่างในตำบลหนองน้ำแดงมีมะขามแช่อิ่ม ปีหนึ่งๆ ผลผลิตได้ถึง 50 ตันนะ เกษตรกรแปรรูปเสร็จ เราก็มาส่งเสริม ต่อยอดให้เขา ให้มาเรียนรู้เรื่องการทำแพ็กเกจจิง การพัฒนาคุณภาพของอาหาร หรือพวก Food Safety มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาก็ประสานความร่วมมือ มาช่วยออกแบบสติกเกอร์ ในส่วนราชการเอง กระทรวงมหาดไทยก็ทำ เช่น บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ส่งเสริมให้ข้าราชการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ คือผู้นำต้องทำก่อน เราก็ทำ ผักสดๆ ที่เราปลูกเอง อย่างกระเจี๊ยบเขียว ก็อร่อย หรือโครงการขยะเปียก ลดโลกร้อน ที่บ้านเรา แยกขยะอยู่แล้ว มีหลุมขยะเปียกที่เราขุดลงไป ใส่ถังตัดก้น เปิดฝาปิดฝา เต็มเราก็กลบแล้วย้ายหลุม มันก็อยู่ในพื้นที่เรา ดินก็อุดมสมบูรณ์ แต่บางคนไม่เข้าใจไง คิดว่าต้องไปเอาโน่นเอานี่มาใส่เป็นปุ๋ย ไม่ใช่ แค่กลบอย่างเดียวก็เป็นปุ๋ยแล้ว หรืออย่างขี้วัว ถ้าเอาไปใส่เลย มันก็ยังช้า แต่เกษตรกรมีกรรมวิธี เช่น เอามาแช่น้ำแล้วไปรด แต่ก็ต้องรู้ปริมาณรู้สูตรว่าต้องใช้เท่าไหร่ยังไง

วิถีชีวิตคนในพื้นที่หนองน้ำแดงก็โอเคอยู่ คนที่นี่มีศักยภาพพอที่จะดำเนินการเองได้ ต่อยอดได้ ขยายผลผลิตไปเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้เกษตรกรเก่ง บางทีเขาก็ทำส่งออกเอง แปรรูปเอง ราชการก็เป็นฝ่ายสนับสนุน พฤติกรรมเราก็ต้องเปลี่ยนตาม ในด้านโครงสร้างพื้นฐานในตำบลหนองน้ำแดงก็น่าจะครบแล้วล่ะ เรายังมีปัญหาน้ำประปา เพราะโซนบ้านเขาวง บ้านธารมงคล บ้านหนองมะกรูด โซนนั้นต้องเจาะบาดาลลงไป 200-250 เมตรนะ ถ้ากลุ่มเขาวง เขาจันทร์นี่ 300 เมตรนะ ปกติ 6 นิ้วรถเจาะได้ละ แต่นี่ต้องใช้บ่อขนาดใหญ่ 8 นิ้ว เราก็ประสานความร่วมมืออบต. กับภาคเอกชนที่มีจิตกุศล อย่าง PT เจาะให้ 3 บ่อ ธารมงคลเจาะให้ 1 บ่อ โครงการซีพีคืนสุขผู้สูงวัยก็มาทำให้ โรงโม่หินศิลาสากลพัฒนามาทำโครงการบ้านธารน้ำใจเทิดไท้องค์ราชัน สร้างบ้านให้คนจน คืออบต.ทั่วประเทศเขาให้ทำ 1 หลัง แต่ของเราได้ 50 กว่าหลังนะ หรือโครงการฝายมีชีวิต วัดป่าอำนวยผล ก็สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ บริเวณโดยรอบก็ชุ่มน้ำ ชะลอการไหลของน้ำ อย่างน้อยก็ซึมลงชั้นดิน อย่างบ้านเขาวง เราใช้ประปาผิวดิน มีสระน้ำขนาดใหญ่ ขุดลงไปลึก 6-7 เมตร ทำรางรับน้ำรอบเขา พอปลายฤดูฝน ภูเขาอิ่มน้ำก็จะไหลลงมาราง แล้วก็ลงสระ ถ้าเต็มสระคือใช้ได้เป็นปี ร้อยสองร้อยครัวเรือนใช้ได้สบาย”

วิชิต อกอุ่น
ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองน้ำแดง

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย