/

ในชุมชนเราอยู่กันแบบพี่น้อง มีความเอื้ออาทรกันตามชื่อหมู่บ้านเลย เพื่อนบ้านก็ต้องผูกมิตรกัน เพื่อเป็นหูเป็นตาให้กัน มันดีกว่ากล้องวงจรปิดอีกค่ะ

Start
478 views
11 mins read

“ชุมชนเราเป็นชุมชนเมือง มีขยะประเภทรีไซเคิลเยอะ ป้าก็เป็นแกนนำตั้งกลุ่มจิตอาสารักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนเอื้ออาทร 10/2 คลอง 10 เมื่อปี 2558 จากนั้นก็ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จดทะเบียนถูกต้อง พัฒนาขยะรีไซเคิล ทำผลิตภัณฑ์ด้านรักษาสิ่งแวดล้อม ของเราก็จะมีน้ำยาล้างจานที่ทำจาก EM (Effective Microorganisms กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพที่มีประโยชน์ต่อคน พืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม) ซึ่งก็รักษาสิ่งแวดล้อม น้ำที่ล้างลงไปก็จะขจัดคราบไขมันในท่อน้ำทิ้งก่อนจะปล่อยลงแม่น้ำลำคลอง น้ำก็จะสะอาดขึ้น น้ำยาล้างจานทั่วไปมีสารเคมีผสม บางคนก็แพ้ กัดมือ ป้าก็แพ้ เรามาพัฒนาน้ำยาของเรา มือเราก็ไม่แพ้

พวกขวดน้ำ ขวดน้ำอัดลม เอามาเพิ่มมูลค่าของขยะรีไซเคิล ทางราชมงคล (มทร.ธัญบุรี) มาพัฒนา ออกแบบเครื่องมือตัด ทำผลิตภัณฑ์ไม้กวาดรักษ์โลก วิธีทำคือเอาขวดน้ำ ขวดน้ำอัดลม ขวดเป็นสี ๆ ยิ่งสวย เดี๋ยวนี้เขาเปลี่ยนเป็นสีใส ๆ สีขาวหมด มาตัดด้วยเครื่องมือตัดให้เป็นเส้นแบน ๆ ออกมาตามความยาวของขวด เอาไปผ่านความร้อนสูงเพื่อเพิ่มความเกลียว ให้เส้นไม้กวาดแข็งแรง ของเราใช้ได้เป็นปีเลยนะคะ สึกยาก คุ้มค่าค่ะ แค่ 120 บาท เป็นไม้กวาดแข็งใช้กวาดนอกบ้าน กวาดถนน ใบไม้ กวาดน้ำ ขายดี ผลิตไม่ทันค่ะ คนซื้อก็เลือกขนาดด้ามได้ มีความสูงต่ำต่างกัน เราเลือกใช้ด้ามไม้ไผ่ ย่อยสลายได้ ราคาถูกกว่าพลาสติกด้วย

กิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน เน้นใช้วัตถุย่อยสลายได้ งดการใช้กล่องโฟม ร้านค้า ร้านอาหารใช้ถุงผ้า ซึ่งก็เป็นโครงการของการเคหะแห่งชาติอยู่แล้ว เรารณรงค์ใช้ถุงผ้ามาตั้งแต่ปี 2558-59 แล้วก็รณรงค์ให้คัดแยกขยะในครัวเรือนตั้งแต่ต้นทางเลย เรามีแจกถังตัดตูด ที่เป็นแนวคิดของกระทรวงมหาดไทยให้ฝังถังตัดตูดลงไปประมาณสามในสี่ ใส่เศษอาหารเศษผักลงฝังดินกลายเป็นปุ๋ย ส่วนกลางก็มีบ่อทิ้งขยะ 4 บ่อ อยู่ด้านหลังสำนักงานชุมชน ชาวบ้าน ร้านอาหาร ร้านขายผลไม้ที่มีเศษอาหารพวกนี้เยอะ ก็เอามาเท ประมาณสามเดือนเต็มก็ปิดบ่อหมักเป็นดินเอามาปลูกต้นไม้ได้ ทางเข้าชุมชนซึ่งเป็นหน้าเป็นตาของชุมชน เทศบาลเข้ามาตัดหญ้าเดือนละหนึ่งครั้ง แต่เพราะชุมชนมันเยอะเนอะ มันไม่ทัน เราก็รวมกลุ่มกันเข้าไปถางขยะกิ่งไม้อะไรที่ดูรกรุงรัง ตัดมาแล้วไม่รู้เอาไปทิ้งไหน ก็เอามาเผาถ่านไร้ควัน เอาไปจำหน่ายให้ตามร้านค้า เงินที่ขายถ่านมาต่อยอดกิจกรรมในชุมชน จ่ายค่าน้ำค่าไฟในสำนักงานเพราะเราไม่มีนิติ ไม่มีแม่บ้าน ไม่มีรปภ. เราดูแลกันเองเลย

ในชุมชนเราก็จะหาจิตอาสาไปเรื่อย ๆ ชวนกันมา จากเดิมสี่ห้าคน เดี๋ยวนี้สิบกว่าคน กระจายตามซอยให้ดูแลกันทั่วถึง มีกลุ่มรับซื้อขยะ 0 บาท เอาขยะมาแลกน้ำมันพืช แลกอาหารกระป๋อง กลุ่มรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วทุกวันอาทิตย์ กำไรจากน้ำมันก็เอามาร่วมทำกิจกรรมในชุมชน ซื้อของให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ซื้อนม ซื้อแพมเพิร์สให้ เรื่องที่จอดรถ ประธานชุมชนของเราก็ประกาศเรื่อย ๆ ว่า จอดรถอย่าให้กีดขวาง ให้เวลาเจ็บป่วยหรือไฟไหม้ รถจะได้เข้าถึง ได้ช่วยเหลือทัน คนอยู่อาศัยก็รับทราบกัน ก็ไม่ค่อยมีปัญหา ความสะอาดทั่วไปชาวบ้านก็ดูแลหน้าบ้านใครหน้าบ้านมันอยู่แล้ว บ้านไหนไม่มีคนอยู่ คนที่อยู่ใกล้ ๆ ก็ช่วยกันดูแล

คือในชุมชนเราอยู่กันแบบพี่น้อง มีความเอื้ออาทรกันตามชื่อหมู่บ้านเลย ตอนแรกเรามาอยู่ ทางการเคหะมีอบรมหลายโครงการ เรื่องดับเพลิง ดูแลสิ่งแวดล้อม ความเอื้ออาทรอยู่อาศัยร่วมกัน ยาเสพติดเรื่องสายใยรักจากครอบครัว เพื่อนบ้านก็ต้องผูกมิตรกัน เพื่อเป็นหูเป็นตาให้กัน มันดีกว่ากล้องวงจรปิดอีกค่ะ”

คัทธีญา ผาคำ

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรักษ์สิ่งแวดล้อม ชุมชนเอื้ออาทร 10/2 คลอง 10

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย