/

“ในสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เราพูดกันอยู่ทุกวันนี้ ถ้าโรงเรียนไม่ขับเคลื่อน ครอบครัวไม่ผลักดัน มันก็เป็นไปไม่ได้”

Start
320 views
13 mins read

“สิบสี่ปีที่แล้ว เราทำงานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ยุคนั้นเป็นยุคที่มีการนำเด็กๆ ในพื้นที่มาเป็นยุวมัคคุเทศก์กัน พิพิธภัณฑ์เราก็ทำกิจกรรมยุวมัคคุเทศก์อาสาเหมือนกัน โดยชวนนักเรียนจากสถานศึกษาต่างๆ ในจังหวัดมาเรียนรู้เกี่ยวกับเมืองและวัตถุจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้พวกเขาสามารถนำชมพิพิธภัณฑ์ได้

ความน่าสนใจก็คือ เมื่อเราไปชวนเด็กนักเรียน ส่วนมากเขาจะถามคำแรกก่อนว่ามีใบประกาศนียบัตรไหม เพราะเขาอยากเอาไปเป็นพอร์ตโฟลิโอ ขณะเดียวกัน เมื่อประสานไปยังโรงเรียนต่างๆ คุณครูก็มักจะเลือกเด็กนักเรียนที่เก่งที่สุดหรือมีทักษะทางการสื่อสารที่ดีที่สุดมาร่วมกิจกรรม

ผลปรากฏว่า หลังจากที่เราอบรมความรู้ต่างๆ แก่เด็กๆ และมอบใบประกาศนียบัตรเสร็จเรียบร้อย เด็กๆ ส่วนใหญ่ก็ไม่มาเป็นยุวมัคคุเทศก์อาสาของพิพิธภัณฑ์เราเลย โดยบอกว่าต้องเรียนพิเศษในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ กิจกรรมดังกล่าวจึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

เหตุการณ์นี้ทำให้เราคิดว่า การศึกษาและการเรียนรู้ในบ้านเราไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เด็กนักเรียนส่วนใหญ่มองว่ากิจกรรมที่เกี่ยวกับการศึกษา มันจะช่วยทำให้เขาได้คะแนนที่เพิ่มขึ้น หรือเป็นประโยชน์กับการศึกษาต่อ ไม่จำเป็นต้องสนใจที่จะเรียนรู้เนื้อหาก็ได้ แต่ขอให้ได้ร่วมกิจกรรมเพื่อเป็นแต้มต่อทางการศึกษา

ซึ่งคิดแบบนี้ก็ไม่ผิด แต่ก็น่าเสียดายที่เด็กๆ มีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ แต่น้อยคนที่จะได้เรียนรู้ในเนื้อหานั้นจริงๆ เพื่อนำไปต่อยอดต่อการใช้ชีวิต ขณะเดียวกัน กิจกรรมนอกห้องเรียนที่เกิดขึ้น มันจึงอยู่ในรูปแบบของการบังคับให้เข้าร่วมเพื่อผ่านเกณฑ์ หาใช่สิ่งที่เด็กๆ อยากเข้าร่วมอย่างสมัครใจ หรือเป็นสิ่งที่ออกมาจากข้างใน  

ราวสองสัปดาห์ก่อน เราได้คุยกับเพื่อนรุ่นพี่โบราณคดี ศิลปากร โดยตอนนี้เป็นรองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอัมพวา เขากำลังปลุกปั้นยุวมัคคุเทศก์ แต่คราวนี้เขาใช้วิธีการแบบโฮมสคูล ซึ่งมันตอบโจทย์กับพื้นที่อัมพวา เนื่องจากที่นั่นกำลังประสบปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กถูกยุบรวมกัน และทำให้เด็กๆ นักเรียนในครอบครัวที่ขาดทุนทรัพย์ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเดินทาง อบต. ที่นั่นจึงใช้ครูอัตราจ้างลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ โดยใช้ระบบโฮมสคูล

เพื่อนรุ่นพี่ท่านนั้นบอกว่าพอมาใช้ระบบนี้ การศึกษาแบบเก็บพอร์ทสะสมแต้มก็เริ่มลดลง เพราะมันลดการแข่งขันระหว่างเด็กนักเรียน ขณะเดียวกัน พอเป็นโฮมสคูล โฟกัสของการศึกษาจึงอยู่ที่การออกแบบการเรียนรู้ให้สอดรับกับความสนใจของผู้เรียน ครูกับนักเรียนคุยกันว่าแต่ละคนสนใจทำอะไร และช่วยกันออกแบบโปรเจกต์ที่จะทำร่วมกันในอนาคต

ซึ่งพอเป็นเช่นนี้ เด็กนักเรียนที่สนใจประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือการท่องเที่ยว เขาก็จะโฟกัสกับเรื่องนี้ และพร้อมจะเรียนรู้ที่จะเป็นยุวมัคคุเทศก์จริงๆ  

เพราะฉะนั้นระบบสังคม และรูปแบบการศึกษาใดๆ มันมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กมาก ทุกวันนี้ราชบุรีเรามีแหล่งเรียนรู้เยอะ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง สวนพฤกษศาสตร์ หอศิลป์ และอื่นๆ เพียงแต่การเข้าไปใช้พื้นที่ของเด็กๆ มันอยู่ในรูปแบบของทัศนศึกษาที่เป็นกิจกรรมภาคบังคับของโรงเรียน ไม่ใช่การที่เด็กค้นพบความสนใจของตัวเอง และอยากไปเยี่ยมชมพื้นที่นั้นจริงๆ

เราจึงคิดว่าการสร้างบรรยากาศให้เด็กสนใจเรียนรู้ด้วยตัวเองของโรงเรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกันครอบครัวก็ต้องสนับสนุน คุณครูก็ต้องเป็นผู้ชักนำที่ดี เช่นคุณพานักเรียนไปวัด ไม่ใช่แค่การทำให้เด็กๆ เข้าใจว่าวัดแห่งนี้สำคัญอย่างไร ทำไมต้องไป แต่เป็นการชี้ให้เด็กเห็นว่าศิลปะในวัดเป็นยังไง ประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับเมืองเป็นอย่างไร กระทั่งต้นไม้ใบหญ้าในพื้นที่ เราสามารถเรียนรู้ได้ทั้งหมด

เราเชื่อว่าโรงเรียนและครอบครัวไม่ควรสร้างแค่สังคมของการศึกษา แต่จำเป็นต้องสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ควบคู่กันไป สิ่งนี้จะทำให้เด็กๆ ค้นพบศักยภาพในตัวเอง และสามารถเติบโตไปในทิศทางที่ตัวเองสนใจจริงๆ  ซึ่งในสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เราพูดกันอยู่ทุกวันนี้ ถ้าโรงเรียนไม่ขับเคลื่อน ครอบครัวไม่ผลักดัน มันก็เป็นไปไม่ได้”

ปัทมา ก่อทอง
หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย