/

ไม่มากก็น้อย เราหวังให้เครื่องดื่มหรืออาหารที่เสิร์ฟ จุดประกายให้ลูกค้าได้รู้จักเมืองนครศรีธรรมราชมากยิ่งขึ้น และรักเมืองนคร ในแบบที่เรารัก

Start
362 views
16 mins read

“เนื่องจากแต่เดิมเรามีอาชีพเป็น product specialist ของบริษัทจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ จึงมีโอกาสได้ไปเห็นหลายเมืองทั่วประเทศ จากหน้าที่การงานที่ต้องเดินทางไปสอนลูกค้าใช้เครื่องมืออยู่เสมอ ซึ่งจากที่ได้ไปเห็นมาทั้งหมด เราพบว่านครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่เราอยากใช้ชีวิตอยู่มากที่สุด

ชอบหลายอย่างเลยค่ะ ทั้งภูเขา ทะเล อาหารการกิน ความเป็นเมืองที่ยังคงมีเสน่ห์แบบชนบท รวมถึงอุปนิสัยของคนท้องถิ่นที่เป็นมิตรและตรงไปตรงมา และนั่นทำให้แม้เราจะไม่ได้รับมอบหมายให้มาทำงานที่นคร แต่ถ้าเรามีวันหยุด เราจึงเลือกมาใช้เวลาพักผ่อนที่เมืองแห่งนี้

เรามีความฝันมาตลอดว่าอยากเปิดร้านกาแฟ ประกอบกับที่เราอิ่มตัวกับงานประจำ ก็เลยคิดว่างั้นมาเปิดที่เมืองที่เราอยากมาใช้ชีวิตอยู่อย่างนครแล้วกัน ช่วงก่อนออกจากงาน เราเลยเดินทางมาเที่ยวที่นี่หลายครั้งเพื่อหาทำเลสำหรับเปิดร้าน ไปๆ มาๆ อยู่ 3 รอบ ยังไม่เจอทำเลที่อยากได้เสียที

จนครั้งสุดท้าย ความที่เราเป็นสายมู ทุกครั้งที่มาที่นี่ เราจะแวะไหว้พระธาตุ (วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร) ก่อน คราวนี้เราเลยขอพรกับองค์พระธาตุว่า หนูชอบเมืองนี้มาก ถ้าหนูเหมาะกับเมืองนี้จริงๆ ก็ขอให้หนูได้เจอสถานที่ที่ใช่ และให้ร้านที่หนูกำลังจะทำมันคุ้มค่าต่อการลาออกจากงานที่มั่นคงของหนู และเราก็สัญญากับพระธาตุว่า ถ้าได้เจอ เราจะทำให้ร้านนี้เป็นร้านของคนนคร ร้านที่เป็นตัวชูโรงของจังหวัดนครศรีธรรมราช

จำได้ว่าขอพรไปประมาณนี้ จากนั้นก็ไปเที่ยวไปพักผ่อนต่อ จนวันที่เราจะขึ้นเครื่องกลับ ปรากฏว่าตึกแถวบนถนนราชดำเนิน ตรงข้ามกับวัดพระธาตุ ร้อยวันพันปีเขาก็ปิดไว้เฉยๆ ไม่ได้ให้ใครเช่า จู่ๆ เขาก็ติดป้ายให้เช่าเสียอย่างนั้น ดูเป็นเรื่องดวงสมพงษ์มากๆ เพราะถ้าเรามาเห็นช้ากว่านี้ ก็อาจไม่ได้ที่นี่

เราตั้งชื่อ Ergo Coffee มาจากคำว่า ergonomics แปลว่า สรีรศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาวิชากายภาพบำบัดที่เราเรียนมา คือนอกจากเสิร์ฟกาแฟ เราก็อยากให้ลูกค้านั่งสบาย และมีความสุขที่มาในร้านเรา เลยจะเห็นว่าโต๊ะและเก้าอี้ในร้านมีการออกแบบให้คำนึงถึงหลักสรีรศาสตร์อยู่พอสมควร


และที่สำคัญคือคอนเซปต์ร้าน อย่างที่บอกว่าเราให้สัญญากับองค์พระธาตุไว้ว่าจะทำร้านนี้เป็นที่จดจำในฐานะร้านกาแฟของเมืองนคร และด้วยทำเลที่อยู่กลางเมืองแบบนี้ด้วย เราจึงพยายามใช้วัตถุดิบท้องถิ่นหรือนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาสร้าง story ใส่เข้าไปในเมนู เพราะเราประทับใจเมืองนี้ ก็อยากนำเสนอความดีงามของเมือง ผ่านสิ่งที่เราเสิร์ฟกับลูกค้าให้ได้มากที่สุด

เช่น ‘ลาปูชิโน’ ซึ่งเป็นกาแฟนมแบบคาปูชิโน แต่เราเสิร์ฟกับขนมลา ขนมพื้นบ้านที่นำมาจากบ้านขนมลา (หอยราก) ในอำเภอปากพนัง ให้ลูกค้าได้ดริปขนมลากับฟองนม หรือกินแกล้มแบบบิสกิต หรือ ‘คีรีวงศ์แบล็คคอฟฟี่’ กาแฟเอสเพรสโซช็อตผสมน้ำผลไม้รวมและโซดา หลายคนเข้าใจผิดว่าเราเอาเมล็ดกาแฟมาจากบ้านคีรีวงศ์ แต่จริงๆ แล้วที่นำมาคือน้ำผลไม้ค่ะ เพราะนอกจากคีรีวงศ์จะได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านที่อากาศดีที่สุด หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าหมู่บ้านนี้เป็นแหล่งปลูกผลไม้เมืองร้อนที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์มากด้วย เราก็อยากให้ลูกค้าจดจำเรื่องนี้ และถ้ามีโอกาสไปคีรีวงศ์ก็อยากให้แวะไปกิน เช่นที่ไปปากพนังแล้วต้องไปชิมขนมลา

หรือหมอนทองลาเต้ กาแฟลาเต้เสิร์ฟกับทุเรียนหมอนทอง ซึ่งเป็นอีกผลไม้ขึ้นชื่อของนคร รวมถึงนครม็อคคา ซึ่งเป็นกาแฟผสมโกโก้ เราก็ใช้โกโก้จากเกษตรกรท้องถิ่นด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับขนมพื้นบ้าน และขนมไทย คือเราไม่ได้เสิร์ฟกาแฟคู่กับเค้กหรือครัวซองต์แบบตะวันตกอย่างเดียว ขนมหวานแบบบ้านๆ ก็ไปกันได้ด้วยดีกับกาแฟและชาเหมือนกัน

เราเปิดร้านนี้ก่อนที่โควิดจะเข้ามาได้ไม่เท่าไหร่ ถือเป็นการเปิดในจังหวะที่ดีท่ามกลางสถานการณ์ที่แย่ เพราะอย่างน้อยเรายังมีเวลาประมาณ 3 เดือนที่ทำให้คนรู้จักและได้ลูกค้าประจำ ก่อนที่โรคระบาดจะทำให้เราต้องปิดร้านไปพักหนึ่ง และก็เพราะเหตุนั้นบวกกับทำเลของร้านที่ดีมากด้วย พอรัฐบาลประกาศให้กลับมาเปิดร้านได้ ก็มีลูกค้ากลับมาอย่างต่อเนื่อง จนโควิดรอบที่ 2 กลับมาใหม่ และค่อยๆ ซาลง ผลตอบรับของร้านค่อนข้างดีจนเราต้องขอเช่าอาคารข้างๆ เพื่อต่อเติมพื้นที่เพิ่ม

 ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องยกเครดิตให้ความเป็นลักษณะเฉพาะแบบเมืองนครด้วย เพราะแม้ที่นี่จะไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวแบบภูเก็ตหรือหาดใหญ่ แต่เมืองก็ไม่เคยเงียบ ผู้คนในเมืองใช้ชีวิตและสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นอยู่ตลอด ขณะเดียวกันความที่เมืองเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุและวัดดังๆ มากมาย ก็ดึงดูดให้คนจากทั่วประเทศมาไหว้พระขอพรไม่ขาดสาย ยังคิดมาถึงทุกวันนี้เลยว่าถ้าเราเปิดร้านกาแฟในเมืองอื่น ท่ามกลางสถานการณ์โควิดแบบนี้ เราอาจต้องปิดร้านไปนานแล้ว

แม้ร้านจะได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี แต่เราก็ไม่หยุดเรียนรู้เพื่อที่จะพัฒนาเครื่องดื่ม เมนูใหม่ๆ และการบริการอยู่เสมอ ยังคงยึดมั่นในจุดยืนเดิม คือการทำให้ร้านสื่อสารอัตลักษณ์และความภาคภูมิใจของเมืองนคร อยากให้นักท่องเที่ยวหลังจากไหว้พระ แล้วมานั่งพักดื่มเครื่องดื่มที่ร้านเรา ไม่มากก็น้อย ก็หวังให้สิ่งที่เราเสิร์ฟ จุดประกายให้เขาได้รู้จักเมืองนครมากยิ่งขึ้น และรักเมืองนคร ในแบบที่เรารัก”  

ยุวนิดา มะณุโชติ
เจ้าของร้านกาแฟ Ergo Coffee

https://www.facebook.com/ErgoCoffeeThailand

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย