ไม่ใช่นักออกแบบทุกคนที่อยากเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ หลายคนก็อยากทำงานที่ตัวเองรักในบ้านเกิดตัวเอง แต่ที่ผ่านมามันเป็นไปได้ยาก

Start
537 views
9 mins read

“แม่ผมเป็นช่างเย็บผ้า จำได้ว่าตอนเด็กๆ ผมค่อนข้างซนและไปกวนแม่ตอนทำงาน แม่เลยเอาสมุดวาดเขียนและดินสอสีมาให้ผมวาดรูประหว่างรอแม่ กลายเป็นว่าผมชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก

ตอนแรกอยากเรียนสถาปัตย์ครับ แต่พ่อกับแม่ไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ จำไม่ได้แล้วว่าทำไม พอจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย เลยเลือกเรียนสาขานวัตกรรมการออกแบบและสร้างสรรค์สื่อ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ. ปัตตานี (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี – ผู้เรียบเรียง) แทน ที่เลือกสาขานี้เพราะเหมือนเราสามารถประยุกต์ทักษะทางศิลปะที่เราชอบให้เป็นอาชีพอันหลากหลายได้ โดยระหว่างเรียนผมก็พบตัวเองว่าน่าจะจบไปทำงานด้านกราฟิกดีไซน์

ตอนทำโปรเจกต์เรียนจบ ผมทำเรื่องงานออกแบบกราฟิกกับแลนด์มาร์คของเมืองยะลา ความที่ผมเป็นคนยะลา เห็นเมืองนี้มาตั้งแต่เด็ก คิดว่าเมืองน่าจะสวยขึ้นกว่านี้ ถ้ามีการนำกราฟิกดีไซน์ร่วมสมัยมาใช้กับป้ายบอกทางต่างๆ และพื้นที่สาธารณะ ช่วงเวลานั้นทำให้ผมเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์และเรื่องราวต่างๆ ของเมืองยะลา และนั่นทำให้ผมรู้จักพี่บอล (เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์ – นักออกแบบโครงการยะลาไอคอน) ซึ่งเขาเคยทำงานครีเอทีฟที่กรุงเทพฯ ก่อนกลับมาถางเส้นทางนี้ที่บ้านเกิดในยะลา เลยมีโอกาสร่วมงานกับพี่บอล และเริ่มเห็นถึงความเป็นไปได้ในการทำอาชีพนักออกแบบในยะลาเหมือนพี่เขา

หลังเรียนจบ ผมไปทำงานกราฟิกดีไซน์เนอร์ที่กรุงเทพฯ และก็ได้งานฟรีแลนซ์ให้บริษัทที่มาเลเซีย แต่พอโควิด-19 มา จึงตัดสินใจออกมาเป็นฟรีแลนซ์และกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่ยะลา พอพี่บอลรู้ว่าผมกลับมาอยู่บ้านแล้ว เขาก็ชวนผมทำโปรเจกต์ยะลาไอคอน ซึ่งเป็นงานยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นด้วยงานออกแบบ ก่อนที่ทางโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้จะเข้ามาชวนพวกเราทำงานยะลาสตอรี่ เมื่อกลางปีที่ผ่านมา โดยผมรับหน้าที่ในการดูแลงานกราฟิกทั้งหมดของงาน

ทุกวันนี้ผมเป็นกราฟิกประจำ SoulSouth Studio ของพี่บอล โดยมีผมและเพื่อนที่เรียน ม.อ.ปัตตานี ด้วยกันมาช่วยกัน ซึ่งก็ทำหมดตั้งแต่การออกแบบ งานครีเอทีฟมาร์เกตติ้ง แบรนด์ดิ้ง ไปจนถึงสื่อวิดีโอ งานออกแบบสามมิติ และอื่นๆ ก็มีงานเรื่อยๆ ครับ เพราะพี่บอลเป็นที่รู้จัก และมีเครือข่ายผู้ประกอบการและองค์กรต่างๆ ในเมืองอื่นๆ อยู่มาก

แน่นอน งานกราฟิกในสเกลระดับท้องถิ่น อาจทำรายได้ไม่ฟู่ฟ่า หรือเปิดโอกาสให้เราได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ ให้กับลูกค้าไม่มากนัก แต่ถ้าเทียบกับการได้ทำงานที่เรารักในบ้านเกิด รวมถึงการมีเวลาพอที่จะได้ทำงานส่วนตัวที่เราและทีมงานสนใจ ผมก็ว่าสิ่งนี้ก็คุ้มค่า และทำให้เรามีสมดุลในการใช้ชีวิตที่ดีมากๆ

ก็หวังว่าสิ่งที่เราทำจะมีส่วนช่วยยกระดับอาชีพสายครีเอทีฟนี้ให้ยะลาและเมืองเล็กๆ เมืองอื่น เพราะไม่ใช่นักออกแบบทุกคนที่อยากเข้าไปทำงานกรุงเทพฯ หลายคนก็อยากทำงานที่บ้านเกิดตัวเอง เพียงแต่ที่ผ่านมา พอคนในท้องถิ่นไม่ได้เห็นคุณค่าในงานสายนี้เท่าไหร่ การประกอบอาชีพจึงเป็นไปได้ยาก”  

อับดุลการิม ปัตนกุล

นักออกแบบ SoulSouth Studio

https://www.facebook.com/SoulSouthStudio

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย