/

“การท่องเที่ยวโดยชุมชนเนี่ย ไม่เพียงช่วยรื้อฟื้นวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ แต่มันยังเป็นเครื่องมือพัฒนาชุมชน ไปจนถึงพัฒนาเมืองของเราได้”

Start
134 views
18 mins read

“พี่ทำบริษัททัวร์มา 30 กว่าปี เรียกได้ว่าเกือบทั้งชีวิต แต่ก่อนนี้ก็เหมือนคนในอุตสาหกรรมนี้ส่วนใหญ่คือทำเรื่องการท่องเที่ยวจ๋า พาทัวร์ไปดูนั่นนี่ทั้งในและต่างประเทศ ไปกินข้าว ไปช้อปปิ้ง ไปพักผ่อน จนมีอยู่ครั้งหนึ่งที่จู่ๆ เราก็รู้สึกเหมือนที่ไหนก็เหมือนกันหมด พอสถานที่ใดสถานที่หนึ่งถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสินค้าด้านการท่องเที่ยว หลายชุมชนก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อรองรับกระแสของตลาด สูญเสียอัตลักษณ์ตัวเองไป ตรงนี้มันทำให้พี่ฉุกคิด และค่อยๆ เบนเข็มมาทำงานด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างเต็มตัว  

ก็เริ่มจากเข้าไปเรียนรู้ชุมชน หาจุดเด่น จุดด้อย และให้เขาปรับปรุงบางเรื่องที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่อการท่องเที่ยวโดยไม่ไปกระทบกับวิถีชีวิตหรือรากเหง้าของเขา และก็ให้เขานำจุดเด่นที่มาจากตัวเองจริงๆ นำเสนอไป ไม่ต้องไปหาของจากเมืองอื่นมาขายหรอก ขายของที่เรากิน ที่เราใช้ หรือที่เราผลิตเองนี่แหละ

และพี่ก็จะบอกลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวพี่อยู่เสมอว่า เวลาคุณไปเยือนที่ชุมชนไหน คุณกำลังเอาเงินไปอุดหนุนชุมชนเขา ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่เขาดีขึ้น ชุมชนเขาซื่อสัตย์กับความเป็นตัวเขาเอง คุณก็ต้องให้ความเคารพเขาด้วย

และเพราะแบบนี้ พี่จึงมองว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนเนี่ย มันไม่เพียงช่วยรื้อฟื้นวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ แต่มันยังเป็นเครื่องมือพัฒนาชุมชน ไปจนถึงพัฒนาเมืองของเราได้

ก่อนหน้านี้เลยมีโอกาสไปทำงานส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนหลายที่เลยโดยเฉพาะที่เชียงใหม่ ปราจีนบุรี รวมถึงได้ร่วมงานกับอาจารย์ทรงชัย วรรณกุล ที่ฟื้นฟูวัฒนธรรมไท-ยวน ที่เสาไห้ โดยท่านยังถือเป็นผู้จุดประกายแรงบันดาลใจในการนำเสนอวัฒนธรรมกับพี่มากๆ

ก่อนจะกลับมาราวปี 2558 พี่ทำงานส่งเสริมอยู่ในจังหวัดหนึ่งทางภาคตะวันออก ก็ขับรถไปๆ กลับๆ อยู่หลายรอบ จนผู้ใหญ่ที่นั่นชวนให้พี่มาประจำที่จังหวัด เขาเสนอให้พี่เป็นประธานสมาคมท่องเที่ยวประจำจังหวัดนั้นด้วย จะได้มีอำนาจในการขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ ตอนนั้นก็คิดว่าจะย้ายไปอยู่แล้ว แต่จู่ๆ ก็มาฉุกคิดว่าเราเป็นคนเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ถ้าจะต้องทำงานประจำที่ไหนสักที่ ทำไมไม่กลับไปพัฒนาบ้านเกิดเราล่ะ สุดท้ายก็เลยปฏิเสธงานนั้นไป และเลือกกลับมาอยู่บ้านที่สระบุรีแทน

พอกลับมา พี่ก็หอบบริษัทที่มีในกรุงเทพฯ มาเปิดแบบออนไลน์ด้วย ทำทั้งการขายทัวร์ ขายตั๋วเครื่องบิน ไปจนถึงทำออร์แกไนซ์ด้านการท่องเที่ยว พอทุกอย่างลงตัว ก็เลยมีเวลาทำงานด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนและงานอาสาสมัครอย่างที่เราสนใจเหมือนเดิม จนมาปี 2561 ได้เข้าเป็นสมาชิกหอการค้าจังหวัดสระบุรี และได้รู้จักคุณหม่อง (นพดล ธรรมวิวัฒน์) เลยได้มีโอกาสร่วมงานกับเขาในหลายโครงการ ถึงปี 2563 คุณหม่องอยากฟื้นฟูตลาดท่าน้ำแก่งคอย เขาก็ชวนให้เรามาร่วมทีมด้วย เราก็โอเคเลย เพราะตลาดนั้นขับเคลื่อนโดยชุมชนเมืองแก่งคอยอยู่แล้ว ซึ่งเราก็ถนัด นั่นจึงทำให้พี่ได้มาช่วยงานที่แก่งคอย จนมาถึงโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ในปัจจุบัน

พอได้คลุกคลีกับแก่งคอย พี่ก็เห็นทั้งข้อจำกัด ปัญหา และโอกาส เมืองนี้มีวิกฤตตรงที่ว่าคนรุ่นใหม่เลือกจะไปอยู่ที่อื่นเพราะเขามองไม่เห็นอนาคต และยิ่งเศรษฐกิจพักหลังแย่ สถานการณ์ก็แย่ลงไปใหญ่ เราก็มองกันว่างั้นทำให้เศรษฐกิจดี ดึงคนให้มาเที่ยวเมืองด้วยการฟื้นฟูย่าน พัฒนาพื้นที่ที่มีให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ก็เริ่มจากทำถนนคนเดินในตลาดท่าน้ำนี้ก่อน พร้อมกันนั้นก็ลองพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่ทำกิจกรรมบริเวณแม่น้ำป่าสัก และภูเขารอบๆ ดึงคนรุ่นใหม่มาช่วยงาน ในอีกด้านคุณหม่องก็พยายามผลักดันโครงการ food valley เสริมจุดแข็งด้านการเป็นแหล่งผลิตอาหารระดับประเทศ

จากที่สำรวจมา พี่ว่าแก่งคอยพร้อมจะเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้เลยนะ ด้วยทำเลที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ และเป็นทางผ่านสำคัญของถนนมิตรภาพ แต่ปัจจัยหลักตอนนี้ที่เราขาดคือที่พัก แก่งคอยไม่มีที่พักให้นักท่องเที่ยวเลย ไม่จำเป็นต้องเป็นรีสอร์ทหรูก็ได้ อาจเป็นที่พักขนาดเล็กหรือโฮมสเตย์ที่ได้มาตรฐาน และดึงจุดแข็งด้านทำเลออกมา ถ้าอย่างน้อยเรามีที่พัก การบริการอื่นๆ ก็จะตามมา อาหารการกิน สินค้าที่ระลึก รวมไปถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวเพิ่มเติม

อีกเรื่องที่เป็นจุดแข็งแต่ชาวบ้านอาจมองข้าม คือวัฒนธรรมอาหารที่มากับคนไทยเชื้อสายจีนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ในตลาด หลายบ้านทำขนมอาหารและขนมอร่อยมากๆ แต่พวกเขาคิดว่ามันก็เป็นอาหารพื้นๆ แต่ในมุมของคนที่อยู่ที่อื่นแบบพี่ซึ่งจะบอกว่าเป็นนักท่องเที่ยวก็ได้ พี่ว่ามันไม่พื้น ถ้ามันถูกยกระดับ มันจะขายได้ และถ้าการท่องเที่ยวเปิด อาหารเหล่านี้จะขายดีเป็นแม่เหล็กสำคัญ

สำหรับพี่ แก่งคอยคือเมืองพักผ่อนที่ดีมากๆ ด้วยทำเลที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ คุณไม่ต้องขับรถส่วนตัวมาก็ได้ นั่งรถไฟแป๊บเดียวก็ถึง ถ้าเมืองมีที่พักอย่างที่บอก และมีระบบขนส่งมวลชนเล็กๆ ที่พานักท่องเที่ยวเดินทางต่อจากสถานีรถไฟได้นี่ก็จะลงตัว หรือความพยายามจะทำให้แก่งคอยเป็นเมืองเดินได้ นี่ก็สำคัญ ถ้าเมืองมันเดินสะดวกและร่มรื่น มันส่งเสริมเรื่องนี้มาก

จากสถานีรถไฟคุณนั่งรถสาธารณะหรือเดินไปโรงแรม เอากระเป๋าไปเก็บ เดินเล่นในเมือง ไปไหว้พระที่วัดและศาลเจ้า หาของอร่อยกิน และนั่งเล่นริมแม่น้ำป่าสัก แค่นี้สองวันหนึ่งคืนคุณก็ได้ชาร์จพลังแล้ว ส่วนสายผจญภัย แม่น้ำป่าสักมีเรือหรือซับบอร์ดให้พายเล่น ออกไปนอกเมืองหน่อยก็มีสถานที่แคมป์ปิ้ง หรือปีนเขา อย่างที่บอกเมืองมันค่อนข้างครบ แค่ตอนนี้มันยังขาดการเชื่อมโยง และยังไม่มี facility ที่พร้อม ซึ่งถ้ามี ต่อไปรถไฟความเร็วสูงผ่านด้วย เชื่อเลย แก่งคอยจะเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวหลายต่อหลายรุ่นที่ต้องไม่พลาด”

จินตนาภรณ์ จิตกิตศิลปิน
นักจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน
และนักวิจัยโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้แก่งคอย

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย