“ภายใต้โครงการวิจัยย่อยที่ 1 การพัฒนาศูนย์เรียนรู้เชิงวัฒนธรรมและเกษตรอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เรารับผิดชอบดูแลการจัดศูนย์เรียนรู้เชิงเกษตร เก็บข้อมูลทั้งอำเภอขลุง ครอบคลุมทั้ง 12 ตำบล เราแยกกลุ่มชัดเจน กลุ่มที่เป็นเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มชาวบ้าน กลุ่มนักท่องเที่ยว กลุ่มนิสิตนักศึกษา กระจายไป 200 กว่าชุดข้อมูล เพื่อสอบถามและหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเชิงเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเกษตรดั้งเดิม เกษตรภูมิปัญญาชาวบ้าน เกษตรปัจจุบัน และความต้องการในอนาคตด้านการเกษตรของขลุง
พอได้ข้อมูลเชิงสำรวจ ก็วิเคราะห์ข้อมูล แล้วโฟกัสไปที่การสัมภาษณ์ เจาะกลุ่มที่เรามองว่าเป็นกลุ่มที่มีบทบาทและกำกับโครงสร้างการพัฒนาของอำเภอขลุง จะมุ่งเป้าไปที่สำนักงานการเกษตรอำเภอขลุง ซึ่งดูแลในส่วนของเกษตรบก เชิงพืช อีกส่วนก็เป็นของปศุสัตว์ ฟาร์ม และส่วนของประมง ไปที่สำนักงานประมงอำเภอ พอได้ข้อมูลด้านเกษตรครบทั้ง 3 ด้านจากกลุ่มที่มีบทบาทภาครัฐ เราก็สามารถต่อไปได้ว่า ถ้าเป็นข้อมูลด้านการเกษตร เราควรจะผ่านเกษตรกรท่านใด ประมงควรจะไปท่านใด ปศุสัตว์ควรไปท่านใด
เราได้ข้อมูลว่า ประมงของอำเภอขลุงเจอเรื่องกฎหมายที่ทำให้เขาโตลำบาก พ.ร.บ.ประมงทำให้ขยายพื้นที่ในการทำประมงไม่ได้ ทำได้แค่นี้ และเครื่องมือที่ใช้ในการประมง คือ โพงพาง เป็นเครื่องมือที่อยู่ในพ.ร.บ.ว่าห้ามใช้ เพราะก่อให้เกิดความสูญเสียทรัพยากรบางอย่างจากการทำประมง แต่ชาวบ้านใช้เครื่องมือนี้เก่ง เพราะเป็นวิถีของเขามาแต่เดิม แต่ถูกห้ามใช้ ซึ่งก็เคยคุยถึงการแก้ไข ที่ทำได้คือการอนุโลมให้ทำไปก่อนนะ ส่วนใหญ่เป็นประมงพื้นบ้าน เขาก็มีรูปแบบจัดการที่มาทดแทนสิ่งที่สูญเสียไป เช่น เขาจับปูตัวเล็กตัวน้อยมา ก็จะเอาไข่ไปให้ธนาคารปูช่วยเลี้ยงแล้วเอากลับคืน ในส่วนปศุสัตว์ขลุงแทบไม่มีเลย มีเพียงของบริษัทเอกชน เบทาโกร ซีพี เนื่องจากพื้นที่ภาคตะวันออกถูกบริหารด้วยมาตรการการแพร่ระบาดของโรค คือต่อให้เอาสัตว์เข้ามาเลี้ยงในพื้นที่ตัวเอง ก็ต้องไปผ่านโรคมาก่อนถึงจะเลี้ยงได้ ซึ่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เชิงบริษัททำได้ แต่การที่จะทำให้ปลอดโรค ชาวบ้านทำไม่ได้ รายเล็กๆ ทำได้แค่เลี้ยงในครัวเรือน และที่เราไปเจอเป็นประเภทรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ประเภทใหม่ คือฟาร์มไก่แจ้ เนื่องจากเป็นการเลี้ยงเพื่อประกวด แล้วการประกวดไม่มีเรื่องการทรมานสัตว์ ธุรกิจที่ได้มาเป็นวงจรที่ค่อนข้างครบคือ เลี้ยง ขายไก่แจ้ตัวน้อย ขายไก่ขัน ก็สามารถสร้างรายได้ตัวใหม่ แล้วลายไก่แจ้ภาคตะวันออกที่เอามาผสมพันธุ์ที่นี่เป็นลายเอกลักษณ์ที่พอเห็นปุ๊บ รู้เลยว่านี่คือไก่แจ้จันทบุรี
ส่วนของเกษตรบก ก็ผลไม้เป็นหลัก ที่เยอะคือทุเรียน รูปแบบการพัฒนาเกษตรพื้นที่ขลุง บอกเลยว่าเป็นเกษตรที่อิงการใช้สารเคมีเป็นหลัก เพราะผลตอบแทนคุ้ม ดูแลบริหารจัดการได้ค่อนข้างง่าย แต่ด้วยนโยบายที่พยายามให้สอดแทรกเกษตรอินทรีย์เข้าไป ก็จะมีกลุ่มเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ที่เป็นแกนนำหลายราย เช่น สวนลุงต้อย (สุทธิเดช กฤษณะเศรณี) เป็นแปลงต้นแบบทุเรียนโบราณ สวนคุณชนะพล โห้หาญ เป็นมังคุดอินทรีย์ผิวสวย คนจะบอกว่าทำไม่ได้หรอก เดี๋ยวก็มีแมลงมาทำให้ผิวเสีย แต่คุณชนะพลศึกษาด้วยตัวเองว่าควบคุมได้เพียงแต่ต้องจัดการระบบนิเวศในสวนให้เหมาะ ปลูกพืชอันนี้ร่วมกับพืชอันนี้ มีสูงมีต่ำเพิ่มระดับให้เกิดการไหลเวียนของอากาศ เกิดการถ่ายเทของอุณหภูมิข้างใน มังคุดของเขาจะผิวสวยมาก ได้คุณภาพดี แล้วก็ไม่ได้ตั้งเป้าว่าการทำมังคุดผิวสวยอินทรีย์จะต้องได้ราคาสูง คือได้ราคาก็ดี แต่อย่างน้อยที่สุดคือปลอดภัย เน้นตรงนี้ ซึ่งสวนคุณชนะพลก็เป็นแหล่งการเรียนรู้ หน่วยราชการหลายหน่วยมาใช้ศึกษาการทำเกษตรอินทรีย์ และเป็นแปลงต้นแบบของสำนักงานเกษตรอำเภอขลุงด้วย
การเกษตรของขลุงพยายามเปลี่ยนถ่ายจากเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ ก็ยังได้ไม่เยอะนะคะ เนื่องจากคนก็ยังติดภาพเกษตรเคมีซึ่งได้ผลตอบแทนที่เร็ว อีกส่วนคือ Smart Farm แต่ยังไม่ค่อยเยอะนักด้วยเหตุผลคือ สวนส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่สวนที่ปลูกใหม่จะกลายเป็นสวนผสมที่มีทั้งทุเรียน มังคุด ลองกอง อยู่ระดับสูงต่ำไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น การพ่นยามีความสูญเสียเกิดขึ้นค่อนข้างเยอะ แล้วก็มีการลงทุน ดังนั้นก็ยังค่อยๆ แต่ก็เป็นนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนให้มาช่วยเป็นเครื่องทุ่นแรง เริ่มมีกลุ่ม Smart Farm และ Young Smart Farm เข้ามามีบทบาทมากขึ้น มีศูนย์การเรียนรู้ หน่วยราชการก็ค่อนข้างส่งเสริม แต่ก็กำลังทำกันอยู่ ยังไม่ชัดเจนนัก สำนักงานเกษตรอำเภอขลุงก็พยายามต่อยอดไปเรื่อยๆ เนื่องจากพื้นที่อำเภอขลุงเป็นกลุ่มพื้นที่ที่ประชากรมีรายได้ค่อนข้างสูงของจังหวัดจันทบุรี และมีหัวก้าวหน้าในการทำงาน ก็คาดว่าไม่น่าจะใช้เวลาในการเปลี่ยนถ่ายนานเท่าไหร่ในการปรับเรื่องของเกษตรสมาร์ทฟาร์มหรือการใช้โดรนช่วยทำการเกษตร แต่การเปลี่ยนเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ ก็ไม่ง่าย ต้องใช้เวลา เพราะการบริหารจัดการ ถ้าเป็นเคมีแค่สั่งลูกน้องไปก็คือจบ ไม่ต้องติดตามอะไรเยอะ ถ้าเป็นอินทรีย์จะทิ้งไม่ได้เลย
เดิมทีข้อมูลด้านเกษตรบก ประมง ปศุสัตว์ กระจัดกระจาย หลายๆ ที่มีการเก็บเป็นเชิงข้อมูลดิบ ยังไม่ได้สังเคราะห์ข้อมูลออกมา เช่น การทำนา เมื่อก่อนขลุงมีพื้นที่การทำนาเยอะ แต่พอเป็นระบบน้ำกร่อยขึ้นมา การทำนาก็ไม่ค่อยได้รับความสำเร็จเท่าไหร่ แต่มันก็มีวิธีการทำนาระบบน้ำกร่อย เราก็ถอดชุดความรู้ตรงนี้ออกมาว่า การทำนาน้ำกร่อย มีขั้นตอน กระบวนการอย่างไร ก็นำส่งชุดข้อมูลให้กับโครงการวิจัยฯ ไปต่อยอดสร้างเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อเอาไปใช้และเผยแพร่เป็นชุดความรู้ เชื่อมโยงกับหน่วยงาน เช่น อบต. ให้ข้อมูลในพื้นที่เพิ่มเติมได้ด้วย ซึ่ง ณ ตอนนี้ เรายังเก็บข้อมูลไม่ครบทั้งอำเภอ มีบางจุดที่ยังเข้าไม่ถึง เรามีการประสานงานกับสำนักงานการเกษตรอำเภอขลุง เพื่อเอาข้อมูลมาใส่ในแพลตฟอร์มนี้ด้วย คือไม่เหมือนข้อมูลวัฒนธรรมที่มีเส้นทางวัฒนธรรม แต่เกษตรใช้การเก็บข้อมูลที่จะสามารถโฆษณาให้รู้ว่าแต่ละตำบลมีตรงไหนเป็นจุดเด่น ตรงไหนมีปราชญ์ชุมชน ตรงไหนมีศูนย์การเรียนรู้ ยังจะต้องเพิ่มเติมข้อมูลตรงนี้ใส่เข้ามาเพื่อความสมบูรณ์ ซึ่งในอนาคต สำนักงานเกษตรอำเภอขลุงก็บอกว่า ถ้าแพลตฟอร์มทุกอย่างเสร็จหมดแล้ว แปะลิงก์ไว้ที่นี่ เขาจะอัปข้อมูลผ่านของเขา ตรงนี้ก็จะอัปเดตข้อมูลไปด้วย ตัวดาตาเบสก็จะไม่ตาย มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
อย่างตำบลตรอกนองขับเคลื่อนด้วยเกษตรกรรม ทำรายได้ให้จังหวัดด้วยสวนผลไม้ มีมังคุดแปลงใหญ่ ทุเรียนพันธุ์กระดุม สวนลุงต้อยเป็นพันธุ์นกหยิบโบราณ เพราะฉะนั้นเราสามารถผนวกตัวปราชญ์ชุมชนที่พร้อมจะถ่ายทอด ให้ความรู้พร้อมอาหารพร้อมท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงเกษตรปัจจุบันก็ค่อนข้างมีบทบาท ทำรายได้ให้จังหวัดค่อนข้างดี ถ้าผนวกความรู้และจุดท่องเที่ยวทางเกษตรเหล่านี้ นักท่องเที่ยวมา ได้เที่ยว ได้ความรู้ ได้กินผลไม้ปลอดภัย ได้กลับบ้านอย่างมีความสุข ก็เป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ซึ่งคิดว่าขลุงก็พร้อมจะพัฒนาไปในเส้นทางนี้ ทางเราก็เสนอแนะว่า ต้องสร้างจุดขายในแต่ละสวนให้มากขึ้น แล้วให้แต่ละจุดมีการอัปเดตข้อมูลเกษตรแล้วเข้ามายังส่วนกลาง เพราะเสียงส่วนกลางเวลาโฆษณาเสียงใหญ่ ไม่เหมือนอำเภอ ตำบล ที่เสียงจะเล็ก ฉะนั้นการโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มนี้ หรือผ่านจังหวัด ช่วยให้เห็นภาพในวงกว้างไปมากขึ้น มองว่าตอนนี้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเชิงเกษตร การท่องเที่ยวที่มีสตอรี่ มีเรื่องราว อิงไปกับภูมิปัญญาชาวบ้าน วัฒนธรรม อาหารท้องถิ่น ต่างชาติก็สนใจ อาจจะต้องมีการทำเว็บสองภาษา หรือการทำดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เป็นภาพเสมือนจริง ประกอบการตัดสินใจก่อนมาเห็นของจริง เช่น มีแพ็กเกจท่องเที่ยว 3 วัน 2 คืน ไปกินผลไม้ที่นี่ ดูปูแป้นที่นี่ ดูวัดที่นี่ พักที่นี่ ถ้ามาจะเป็นแบบนี้นะ การประชาสัมพันธ์คงต้องเป็นภาพใหญ่เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนได้มากขึ้น”
ผศ.ดร.ปัทมา ศรีน้ำเงิน
ผู้วิจัยโครงการวิจัยย่อยที่ 1
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการแก่สังคม คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี