“การได้เห็นคนมาไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่แล้วมีความอิ่มเอมกลับไป หรือคนมาขอพรแล้วสมหวัง พี่คิดว่างานที่ทำอยู่นี้ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจมากๆ แล้ว”

“พี่เป็นคนพิจิตร มาเรียนมหาวิทยาลัยที่พิษณุโลก จบมาก็ไปทำงานกรุงเทพฯ อยู่พักหนึ่ง และมีครอบครัว มีลูกสองคน อยากให้ลูกกลับมาเรียนแถวบ้าน พี่เลยย้ายมาอยู่พิษณุโลก เพราะพี่มองว่านี่เป็นเมืองที่โรงเรียนมีมาตรฐานดี และมีบรรยากาศที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของลูกๆ

พี่เป็นแม่บ้านค่ะ สามีจะทำงานเป็นหลัก พอย้ายมาพิษณุโลก เราก็ทุ่มเวลากับการเลี้ยงลูก จนลูกคนโตสอบเข้าโรงเรียนจุฬาภรณ์ (โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก) ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ พี่ก็เลยมีเวลาว่าง จึงคิดหางานเสริม พอดีกับมีเพื่อนมาบอกว่าศาลเจ้าปุ่นเถ่ากง-ม่าและศาลเจ้าพ่อเสือ ตรงตลาดใต้ กำลังหาเสมียนมาทำบัญชี พี่ก็เลยสมัครงานนี้ไป ตอนนี้ทำมาได้ 3 ปีแล้ว

ตอนแรกที่มาทำ พี่เห็นว่าศาลเจ้ายังคงมีรูปแบบที่ดั้งเดิมอยู่ คือขายธูปเทียนน้ำมันให้คนมาไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่ แล้วก็กลับไป ศาลเจ้าจะคึกคักก็เฉพาะตอนมีเทศกาล ได้แก่ ตรุษจีน เทศกาลง่วนเซียว (เทศกาลโคม) และสารทจีน นอกจากนั้นศาลเจ้าก็จะเงียบๆ จะมีเฉพาะผู้ที่ศรัทธาที่เป็นคนในตลาดและคนจากที่อื่นหมุนเวียนมาไหว้เจ้าเป็นประจำ แต่ก็จะดึงดูดเฉพาะคนที่ศรัทธาอยู่แล้ว ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 

ระหว่างนั้นพี่ไปเห็นศาลเจ้าแห่งอื่นๆ ในจังหวัด โดยเฉพาะโรงเจไซทีฮุกตึ๊งบนเขาสมอแคลง เขามีวัตถุมงคลให้เช่าบูชา มีจุดถ่ายรูปเช็คอิน และมีโรงเจ ซึ่งดึงดูดให้คนมาเยือนราวกับสถานที่ท่องเที่ยว พี่ก็คิดว่าศาลเจ้าเราน่าจะมีอย่างเขาบ้าง คือไม่ถึงกับต้องเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแฟนซีอะไรนักหรอก แค่มีของให้เช่าบูชา หารายได้ให้ศาลเราบ้างเท่านั้นเลย

พี่ก็เลยไปคุยกับคณะกรรมการศาลเจ้าว่าเราน่าจะทำการตลาดบ้าง เอาโคมจีนมาขายเป็นที่ระลึกเชิงสิริมงคล งานสารทจีนก็พับกระดาษทำภูเขาเงิน ภูเขาทองขาย และพี่ก็ไปเรียนกับผู้ดูแลโรงเจเพื่อทำอ่วงมึ้ง หรือม่านเพ้าเส้นๆ แบบจีนโบราณ เพื่อเอามาจำหน่ายที่ศาลเจ้า ดีที่คณะกรรมการศาลเจ้าชุดนี้ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ เขาก็เห็นดีด้วยว่าศาลเราน่าจะหารายได้ และสร้างกิมมิกดึงดูดให้คนมาไหว้เจ้ามากขึ้น คือถ้ากรรมการเขาไม่เอาด้วย เราก็คงทำไม่ได้น่ะ

แล้วก็เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อเจ้าแม่และเจ้าพ่อเสือด้วย กลายเป็นว่าพักหลังๆ มีคนมาขอพร ก็ได้ในสิ่งที่ต้องการ เขาก็เลยมาบูชาวัตถุมงคลกลับไปมากขึ้น และก็ประกอบกับที่ทางอาจารย์ใหม่ (ธนวัฒน์ ขวัญบุญ) จากมหาวิทยาลัยนเรศวร เขามาทำโครงการย่านเก่าเล่าเรื่องในย่านตลาดใต้ โดยใช้สื่อโซเชียลประชาสัมพันธ์ย่านแห่งนี้ จึงมีคนพิษณุโลกและนักท่องเที่ยวมาเยือนตลาดใต้และแวะสักการะเจ้าพ่อเจ้าแม่ที่ศาลเจ้ามากขึ้น

จริงๆ หน้าที่ของพี่คือการทำบัญชีค่ะ แต่ความที่เจ้าหน้าที่ประจำศาลเจ้ามีอยู่สองคน ก็เลยทำเกือบทุกหน้าที่ จะบอกว่าถ้าเราไม่ทำสินค้าหรือวัตถุมงคลให้คนบูชา งานพี่ก็จะไม่เยอะหรอก รอรับเงินเดือนเขาสบายๆ แต่อีกมุม เรารับเงินเดือนเขาแล้วนะ เราศรัทธาศาลเจ้าสองแห่งนี้ด้วย ก็อยากให้คนมากันเยอะๆ และช่วยศาลเจ้าหารายได้ให้มากๆ ด้วย คือแทนที่จะได้แค่ค่าธูปเทียน 20 บาท เราทำกระทงขาย 3 อัน 100 บาท รวมน้ำมันตะเกียงเป็นชุด หรือพวกของไหว้อื่นๆ เอย ก็สร้างมูลค่าเพิ่มได้ คนมากันเยอะขึ้น เราก็ไม่เหงาด้วย

ทุกวันนี้ศาลเจ้าปุ่นเถ่ากง-ม่าและศาลเจ้าพ่อเสือในตลาดใต้กลายเป็นจุดเช็คอินใหม่ของนักท่องเที่ยวสายมูเตลูไปแล้ว (หัวเราะ) ก็ดีใจนะ ที่พี่เป็นส่วนหนึ่งทำให้ศาลเจ้าเป็นที่รู้จัก แต่จริงๆ อย่างที่บอก หัวใจสำคัญคือความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างหาก ที่ใครมาขอพรหรือบนบานศาลกล่าวอะไรไว้แล้วก็ได้ เขาก็เอาไปบอกต่อ ทีนี้ เขาก็กลับมาทำบุญ มีงานเทศกาลอะไร ศาลเจ้าขาดอะไร เหล่าคนที่เคยมาไหว้เขาก็ยินดีช่วยเหลือเต็มที่

ถึงพี่จะเป็นคนสอนวิธีดูเลขเซียมซีศาลเจ้าพ่อเสือ แต่พี่ก็ไม่เคยซื้อล็อตเตอรี่ค่ะ (หัวเราะ) เลยไม่เคยขอให้ถูกรางวัล แต่ก็ขอพรทั่วๆ ไปอยู่แล้ว หลักๆ ก็แค่อยากให้ลูกๆ พี่ประสบความสำเร็จในชีวิตแค่นั้นเลย ส่วนงานที่ทำ นอกจากได้รายได้เลี้ยงชีพแล้ว การได้เห็นศาลเจ้ามีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดี เห็นคนมาไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่แล้วมีความอิ่มเอมกลับไป หรือคนมาขอพรแล้วสมหวัง พี่ก็คิดว่างานที่ทำอยู่นี้ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจมากๆ แล้ว”

สุธาสินี จั่นทับ
เจ้าหน้าที่ศาลเจ้าปุ่นเถ่ากง-ม่า และศาลเจ้าพ่อเสือ พิษณุโลก

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

อ่านเสียงแก่งคอย เสียงของเมืองที่ก้าวข้ามบาดแผลประวัติศาสตร์มาสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

WeCitizens ชวนผู้อ่านเรียนรู้เมืองแก่งคอย เมืองประวัติศาสตร์ที่มีบาดแผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในวันนี้ แก่งคอยเปลี่ยนบาดแผลแห่งประวัติศาสตร์เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอ่านความคิด วิถีชีวิตผู้คนแก่งคอยได้ที่ WeCitizens : เสียงแก่งคอย, สระบุรี - WeCitizens Flip PDF…

1 year ago

ฟังเสียงนครสวรรค์ เมืองศูนย์กลางแห่งภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน

WeCitizens ชวนผู้อ่านเดินทางไปจังหวัดนครสวรรค์ เมืองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างภาคเหนือและภาคกลาง เมืองที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางทางน้ำในอดีต นครสวรรค์จึงเป็นเมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่งในฐานะของเมืองที่เป็นศูนย์กลาง (Hub) ทั้งด้านการค้า การคมนาคม และนำมาซึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะชาวจีนโพ้นทะเล E-book ฉบับเสียงนครสวรรค์ฉบับนี้ จะพาผู้อ่านทุกคนไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนครสวรรค์ วัฒนธรรมชาวจีนและเทศกาลตรุษจีนที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับประเทศและนานาชาติ และไปฟังเสียงผู้คนชาวนครสวรรค์ที่มองบ้านเมืองของตนเองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน…

1 year ago

แก่งคอย…ย้อนรอยสงครามโลกเปลี่ยนบาดแผลประวัติศาสตร์สู่เมืองเรียนรู้ตลอดชีวิต

นอกจากจะถูกจดจำจากเพลงดังที่มีชื่อเดียวกับชื่ออำเภอของ ก้าน แก้วสุพรรณ และเพลงฮิตของคาราบาว ซึ่งสื่อถึงที่มาของชื่อ ‘แก่งคอย’ อย่าง ‘แร้งคอย’ หากไม่ใช่คนในพื้นที่ อาจนึกภาพไม่ออกว่าอำเภอของจังหวัดสระบุรีที่เป็นปากทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และประตูสู่ภาคอีสาน มีความสำคัญอย่างไร? ไม่เพียงเป็นเมืองท่าที่สำคัญในการขนส่งสินค้าผ่านแม่น้ำป่าสักและทางรถไฟ อำเภอแก่งคอย ยังเป็นจุดเริ่มต้น (ต่อจากอำเภอเมืองสระบุรี)…

1 year ago

ขอนแก่นโมเดล
The Legacy of City Development

เพราะเมือง คือ ผู้คน และผู้คน คือ ตัวแปรสำคัญที่สุดในการพัฒนาเมือง ความเจริญงอกงามทางวัฒนธรรมหรือการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมาตรฐานคุณภาพชีวิต จึงขึ้นอยู่กับศักยภาพ ความสามารถ และความร่วมมือร่วมใจของคนในเมืองเป็นฐานสำคัญ กว่าทศวรรษที่ ‘ขอนแก่นโมเดล’ เป็นโมเดลการพัฒนาเมืองที่ได้รับการยอมรับ และพูดถึงในฐานะแนวคิดและปฏิบัติการการพัฒนาเมืองที่ก้าวหน้ามากที่สุด…

1 year ago

“ขอนแก่นเราไม่ใช่เป็นเมืองที่นั่งรอคนเข้ามาทำนู่นนี่ให้”

เมืองขอนแก่น ผู้คน กับการเรียนรู้เพื่อก้าวต่อไป           ไม่มีภูเขา ไม่มีแม่น้ำสายใหญ่ อยู่ไกลโพ้นจากชายทะเล แหล่งท่องเที่ยวมีชื่อ หรือทรัพยากรธรรมชาติสำคัญก็น้อยนิด แต่มีคนที่เอาจริงเอาจังกับการพัฒนาเมืองกลุ่มใหญ่ที่กล้าคิดกล้าฝัน พยายามทำทุกลู่ให้ความหวังเป็นจริงได้ นี่คือปัจจัยที่ทำให้ช่วงเวลาเพียงกึงศตวรรษนำพาเมืองขอนแก่น เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด  ‘ผู้คน และความร่วมมือ…

1 year ago

“สำนึกรักท้องถิ่น ถือเป็นหัวใจสำคัญของจิตสำนึกของคนขอนแก่น”

“เมื่อพูดถึงเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning City ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่รับผิดชอบของเทศบาลนครขอนแก่น เราดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ที่ว่า ‘พัฒนาเมืองสู่สากล สร้างสังคมแห่งความสุข’ การที่เมืองจะพัฒนาได้และสร้างสังคมที่เป็นสุข ต้องเริ่มที่ ‘คน’ คนที่เป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันพัฒนาเมือง ยกตัวอย่างในกรณีที่เปรียบเทียบง่าย ๆ เช่น ถ้าเราจะพัฒนาขอนแก่นเป็นเมือง…

1 year ago