“กาฬสินธุ์เป็นเมืองอุดมสุขในวิสัยทัศน์ของผม หมายความถึงคนกาฬสินธุ์ทุกวัยอยู่แล้วมีความสุข มีที่อยู่อาศัย ที่พักผ่อน มีแหล่งงาน และที่พึ่ง รวมถึงทุกคนมีเงินในกระเป๋าอย่างเพียงพอและภาคภูมิใจที่ได้อยู่ในเมืองเมืองนี้”

“ผมเป็นนายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ครั้งแรกปี 2545 ก่อนหน้านี้ผมทำงานเป็นทนายความ ควบคู่ไปกับบริหารธุรกิจกงสีที่บ้าน ซึ่งนั่นช่วยผมในการทำงานเทศบาลได้มากเลยนะ เพราะขณะที่ผมเอาทักษะของการบริหารธุรกิจมาบริหารราชการ การเป็นทนายความก็ทำให้ผมหนักแน่นในหลักการ และตระหนักดีว่าไม่ว่าจะทำงานอะไรก็แล้วแต่ จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์และเครื่องชี้วัด

และเพราะเหตุนี้ช่วงปีแรก ผมจึงวางยุทธศาสตร์ก่อนเลยว่าต้องทำให้กาฬสินธุ์เป็นเมืองน่าอยู่ด้วยการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เมืองสะอาด ควบคู่ไปกับการทำสาธารณูปโภคให้ดี น้ำไหล ไฟสว่าง และแก้ปัญหาสังคมและยาเสพติด โดยเริ่มเข้าไปแก้ปัญหาชุมชนแออัดที่รุกล้ำพื้นที่ริมน้ำปาว ซึ่งสร้างปัญหาเรื่องทัศนียภาพและสุขอนามัยให้กับเมืองมาช้านาน พร้อมไปกับการกวดขันเจ้าหน้าที่ในการเก็บขยะในพื้นที่ จนได้ทั้งรางวัลด้านความสะอาดระดับประเทศในปี 2546 รวมถึงรางวัลด้านธรรมาภิบาล 3 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2547-2551 เนื่องจากแก้ปัญหาเรื่องชุมชนแออัดอย่างโปร่งใส และสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมระหว่างภาคประชาชนและเอกชนด้วยการจัดหาที่พักใหม่ให้ผู้คนในชุมชนที่รุกล้ำ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐสักบาท 

จากนั้นเทศบาลก็ส่งประกวดเรื่องการบริหารจัดการและได้รางวัลในระดับประเทศและภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องชี้วัดของการพัฒนา รวมถึงการกำหนดวิสัยทัศน์ให้บุคลากรและประชาชนเข้าใจอยู่เสมอว่าเทศบาลกำลังไปในทิศทางไหน เช่น ช่วงปีแรกที่ผมกำหนดให้กาฬสินธุ์เป็น ‘เมืองน่าอยู่คู่ธรรมาภิบาล’ ทำให้ผู้คนเห็นว่าเทศบาลเราจะใช้ตัวชี้วัดเรื่องเมืองน่าอยู่ของสหประชาชาติตาม Agenda 21 (แผนแม่บทของโลกสำหรับการดำเนินงานที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม) ขณะเดียวกันก็มีธรรมาภิบาล บริหารงานอย่างโปร่งใสด้วย 

พอมาปี 2564 ผมได้รับเลือกตั้งเข้ามาบริหารอีกสมัย เราพิสูจน์เรื่องธรรมาภิบาลให้ทุกคนเห็นกันหมดแล้ว จึงมาเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่โดยยังยืนพื้นถึงการเป็นเมืองน่าอยู่เหมือนเดิม จึงคิดกันว่าแล้วปลายทางของการเป็นเมืองน่าอยู่คืออะไร นั่นคือการที่ผู้คนในเมืองเรามีความสุข จึงเป็นที่มาของวิสัยทัศน์ ‘เมืองอุดมสุข’

เมืองอุดมสุขที่ว่า ไม่ใช่แค่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างบรรยากาศให้เมืองมีความพร้อมต่อการลงทุน ต่อการท่องเที่ยว รวมถึงการศึกษาเรียนรู้ ตอบโจทย์กับผู้คนทุกช่วงวัย เยาวชนอยากมาเรียนกับเรา จบมามีแหล่งงานที่พร้อมให้เขาได้ทำงานที่นี่โดยไม่ต้องเข้าไปหางานในเมืองใหญ่ ส่วนนักลงทุนก็ใช้ศักยภาพเมืองให้เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ

ผมจึงให้ความสำคัญกับกลไกด้านพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เพราะเมืองเรามีต้นทุนทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมที่มันสามารถต่อยอดด้านการท่องเที่ยวได้ดี ไม่ว่าจะเป็นตำนานเมืองฟ้าแดดสงยาง ผ้าไหมแพรวา เครื่องดนตรีโปงลาง วัฒนธรรมภูไท เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ที่เป็น think tank ให้กับเมือง ทั้งงานวิจัยไปจนถึงการสร้างบุคลากรมาช่วยพัฒนาเมือง

และพอมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์มาเสนอเรื่องการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ผมจึงสนับสนุนเต็มที่ เพราะการเรียนรู้ที่ว่ามันไม่ใช่แค่การพัฒนาทักษะด้านอาชีพ แต่มันคือการแปลงต้นทุนของเมืองเป็นองค์ความรู้ และให้คนกาฬสินธุ์มาเรียนรู้ เพื่อนำไปต่อยอดด้านเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิต 

ซึ่งก็เชื่อมโยงกับสิ่งที่เทศบาลกำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะการนำหลักสูตรท้องถิ่นของเมืองไปใช้กับโรงเรียนในสังกัด หรือการทำพื้นที่การเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมผ่านหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ และพิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ การจัดกิจกรรมเผยแพร่ศิลปะการดนตรีเกี่ยวกับโปงลาง หรือการนำประวัติศาสตร์การก่อตั้งเมืองมาช่วยฟื้นฟูพื้นที่ริมลำน้ำปาว รวมไปถึงการทำประชาคมให้คนในเขตเทศบาลมาแลกเปลี่ยนกันว่าเราอยากพัฒนาเมืองในมิติอะไร หรือแก้ปัญหาตรงไหน เป็นต้น

ที่พูดมาข้างต้น นี่ยังไม่รวมผู้สูงวัยซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของเมืองเราด้วย กาฬสินธุ์เป็นเมืองที่มีค่าเฉลี่ยผู้สูงอายุเยอะ อาจเพราะเป็นเมืองสงบ ผู้คนจึงอายุยืน เทศบาลเราจึงใส่ใจที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้สูงอายุ ให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุข ก็มีการขับเคลื่อนเรื่องชมรมผู้สูงอายุ และจัดกิจกรรมต่างๆ ขณะเดียวกันก็มีการทำแอพพลิเคชั่นคอยมอนิเตอร์ด้านสวัสดิภาพ และสายด่วนเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ 1132 ให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินและดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง สายด่วนนี้มันไม่ใช่รับแจ้งแค่อุบัติเหตุ แต่ถ้าบ้านคุณมีคนชรา คนพิการ หรือผู้ป่วยติดเตียง ที่ต้องเดินทางไปตรวจสุขภาพหรือเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาล ก็แค่โทรหาเรา เราก็จะมีอาสาสมัครขับรถไปรับ-ส่งให้ เป็นต้น

กาฬสินธุ์จึงเป็นเมืองอุดมสุขในวิสัยทัศน์ของผม ซึ่งหมายความถึงคนกาฬสินธุ์ทุกวัยอยู่แล้วมีความสุข มีที่อยู่อาศัย ที่พักผ่อน มีแหล่งงาน และที่พึ่ง รวมถึงทุกคนมีเงินในกระเป๋าอย่างเพียงพอและภาคภูมิใจที่ได้อยู่ในเมืองเมืองนี้”

จารุวัฒน์ บุญเพิ่ม
นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

THE INSIDER : ณัฐธิยาภรณ์ อ้วนวงศ์ นักวิจัยโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ร้อยเอ็ด และนักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…

4 days ago

WeCitizens : The Concept

ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…

6 days ago

WeCitizens เมืองร้อยเอ็ด : ก้าวสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด

WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…

1 month ago

City View : ๑๐๑ เมืองรองที่ไม่เป็นรองใคร

ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…

1 month ago

๑๐๑ สานพลังผู้คนเพื่อกำหนดทิศทางเมือง

สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…

1 month ago

THE MAYOR : บรรจง โฆษิตจิรนันท์ : นายเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด และนายกสมาคมเทศบาลนครและเมือง

"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…

2 months ago