/

“กาฬสินธุ์เป็นเมืองอุดมสุขในวิสัยทัศน์ของผม หมายความถึงคนกาฬสินธุ์ทุกวัยอยู่แล้วมีความสุข มีที่อยู่อาศัย ที่พักผ่อน มีแหล่งงาน และที่พึ่ง รวมถึงทุกคนมีเงินในกระเป๋าอย่างเพียงพอและภาคภูมิใจที่ได้อยู่ในเมืองเมืองนี้”

Start
198 views
16 mins read

“ผมเป็นนายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ครั้งแรกปี 2545 ก่อนหน้านี้ผมทำงานเป็นทนายความ ควบคู่ไปกับบริหารธุรกิจกงสีที่บ้าน ซึ่งนั่นช่วยผมในการทำงานเทศบาลได้มากเลยนะ เพราะขณะที่ผมเอาทักษะของการบริหารธุรกิจมาบริหารราชการ การเป็นทนายความก็ทำให้ผมหนักแน่นในหลักการ และตระหนักดีว่าไม่ว่าจะทำงานอะไรก็แล้วแต่ จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์และเครื่องชี้วัด

และเพราะเหตุนี้ช่วงปีแรก ผมจึงวางยุทธศาสตร์ก่อนเลยว่าต้องทำให้กาฬสินธุ์เป็นเมืองน่าอยู่ด้วยการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เมืองสะอาด ควบคู่ไปกับการทำสาธารณูปโภคให้ดี น้ำไหล ไฟสว่าง และแก้ปัญหาสังคมและยาเสพติด โดยเริ่มเข้าไปแก้ปัญหาชุมชนแออัดที่รุกล้ำพื้นที่ริมน้ำปาว ซึ่งสร้างปัญหาเรื่องทัศนียภาพและสุขอนามัยให้กับเมืองมาช้านาน พร้อมไปกับการกวดขันเจ้าหน้าที่ในการเก็บขยะในพื้นที่ จนได้ทั้งรางวัลด้านความสะอาดระดับประเทศในปี 2546 รวมถึงรางวัลด้านธรรมาภิบาล 3 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2547-2551 เนื่องจากแก้ปัญหาเรื่องชุมชนแออัดอย่างโปร่งใส และสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมระหว่างภาคประชาชนและเอกชนด้วยการจัดหาที่พักใหม่ให้ผู้คนในชุมชนที่รุกล้ำ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐสักบาท 

จากนั้นเทศบาลก็ส่งประกวดเรื่องการบริหารจัดการและได้รางวัลในระดับประเทศและภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องชี้วัดของการพัฒนา รวมถึงการกำหนดวิสัยทัศน์ให้บุคลากรและประชาชนเข้าใจอยู่เสมอว่าเทศบาลกำลังไปในทิศทางไหน เช่น ช่วงปีแรกที่ผมกำหนดให้กาฬสินธุ์เป็น ‘เมืองน่าอยู่คู่ธรรมาภิบาล’ ทำให้ผู้คนเห็นว่าเทศบาลเราจะใช้ตัวชี้วัดเรื่องเมืองน่าอยู่ของสหประชาชาติตาม Agenda 21 (แผนแม่บทของโลกสำหรับการดำเนินงานที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม) ขณะเดียวกันก็มีธรรมาภิบาล บริหารงานอย่างโปร่งใสด้วย 

พอมาปี 2564 ผมได้รับเลือกตั้งเข้ามาบริหารอีกสมัย เราพิสูจน์เรื่องธรรมาภิบาลให้ทุกคนเห็นกันหมดแล้ว จึงมาเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่โดยยังยืนพื้นถึงการเป็นเมืองน่าอยู่เหมือนเดิม จึงคิดกันว่าแล้วปลายทางของการเป็นเมืองน่าอยู่คืออะไร นั่นคือการที่ผู้คนในเมืองเรามีความสุข จึงเป็นที่มาของวิสัยทัศน์ ‘เมืองอุดมสุข’

เมืองอุดมสุขที่ว่า ไม่ใช่แค่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างบรรยากาศให้เมืองมีความพร้อมต่อการลงทุน ต่อการท่องเที่ยว รวมถึงการศึกษาเรียนรู้ ตอบโจทย์กับผู้คนทุกช่วงวัย เยาวชนอยากมาเรียนกับเรา จบมามีแหล่งงานที่พร้อมให้เขาได้ทำงานที่นี่โดยไม่ต้องเข้าไปหางานในเมืองใหญ่ ส่วนนักลงทุนก็ใช้ศักยภาพเมืองให้เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ

ผมจึงให้ความสำคัญกับกลไกด้านพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เพราะเมืองเรามีต้นทุนทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมที่มันสามารถต่อยอดด้านการท่องเที่ยวได้ดี ไม่ว่าจะเป็นตำนานเมืองฟ้าแดดสงยาง ผ้าไหมแพรวา เครื่องดนตรีโปงลาง วัฒนธรรมภูไท เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ที่เป็น think tank ให้กับเมือง ทั้งงานวิจัยไปจนถึงการสร้างบุคลากรมาช่วยพัฒนาเมือง

และพอมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์มาเสนอเรื่องการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ผมจึงสนับสนุนเต็มที่ เพราะการเรียนรู้ที่ว่ามันไม่ใช่แค่การพัฒนาทักษะด้านอาชีพ แต่มันคือการแปลงต้นทุนของเมืองเป็นองค์ความรู้ และให้คนกาฬสินธุ์มาเรียนรู้ เพื่อนำไปต่อยอดด้านเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิต 

ซึ่งก็เชื่อมโยงกับสิ่งที่เทศบาลกำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะการนำหลักสูตรท้องถิ่นของเมืองไปใช้กับโรงเรียนในสังกัด หรือการทำพื้นที่การเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมผ่านหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ และพิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ การจัดกิจกรรมเผยแพร่ศิลปะการดนตรีเกี่ยวกับโปงลาง หรือการนำประวัติศาสตร์การก่อตั้งเมืองมาช่วยฟื้นฟูพื้นที่ริมลำน้ำปาว รวมไปถึงการทำประชาคมให้คนในเขตเทศบาลมาแลกเปลี่ยนกันว่าเราอยากพัฒนาเมืองในมิติอะไร หรือแก้ปัญหาตรงไหน เป็นต้น

ที่พูดมาข้างต้น นี่ยังไม่รวมผู้สูงวัยซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของเมืองเราด้วย กาฬสินธุ์เป็นเมืองที่มีค่าเฉลี่ยผู้สูงอายุเยอะ อาจเพราะเป็นเมืองสงบ ผู้คนจึงอายุยืน เทศบาลเราจึงใส่ใจที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้สูงอายุ ให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุข ก็มีการขับเคลื่อนเรื่องชมรมผู้สูงอายุ และจัดกิจกรรมต่างๆ ขณะเดียวกันก็มีการทำแอพพลิเคชั่นคอยมอนิเตอร์ด้านสวัสดิภาพ และสายด่วนเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ 1132 ให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินและดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง สายด่วนนี้มันไม่ใช่รับแจ้งแค่อุบัติเหตุ แต่ถ้าบ้านคุณมีคนชรา คนพิการ หรือผู้ป่วยติดเตียง ที่ต้องเดินทางไปตรวจสุขภาพหรือเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาล ก็แค่โทรหาเรา เราก็จะมีอาสาสมัครขับรถไปรับ-ส่งให้ เป็นต้น

กาฬสินธุ์จึงเป็นเมืองอุดมสุขในวิสัยทัศน์ของผม ซึ่งหมายความถึงคนกาฬสินธุ์ทุกวัยอยู่แล้วมีความสุข มีที่อยู่อาศัย ที่พักผ่อน มีแหล่งงาน และที่พึ่ง รวมถึงทุกคนมีเงินในกระเป๋าอย่างเพียงพอและภาคภูมิใจที่ได้อยู่ในเมืองเมืองนี้”

จารุวัฒน์ บุญเพิ่ม
นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย