“สำหรับพี่ พิษณุโลกเป็นเมืองเสน่ห์หลบในน่ะ… คือมันเป็นเมืองที่มีเสน่ห์นะ แต่คุณจะไม่มีทางพบเจอ ถ้าเพียงแค่มองผ่านๆ
ถ้าให้เปรียบก็เหมือนผู้หญิงคนหนึ่งที่หน้าตาอาจไม่ได้สวยเด่นอะไร แต่พอคุณได้นั่งคุย ได้ทำความรู้จัก ผู้หญิงคนนี้อาจมีเสน่ห์มากไปกว่าผู้หญิงสวยๆ หลายคนเสียอีก แต่ก็เพราะเมืองเรามันเป็นเมืองเสน่ห์หลบในแบบนี้ ความท้าทายของคนที่ทำงานที่เกี่ยวกับเมือง คือการสื่อสารเสน่ห์ของเมืองเมืองนี้ออกไปให้คนอื่นๆ ได้รู้จัก
ในฐานะที่พี่เป็นเจ้าของบริษัท พาวเวอร์พลัสครีเอชั่น จำกัด ซึ่งทำงานด้านการจัดอีเวนท์และสัมมนาในเมืองพิษณุโลก รวมถึงทำงานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลกมาหลายปี พี่พอจะถอดดีเอ็นเอของเมืองเมืองนี้มาได้ 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ หนึ่ง. การเป็นเมืองประวัติศาสตร์ สอง. เรื่องอาหารการกิน สาม. เมืองสุขภาพ หรือ Wellness City เพราะเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลและสถานบริการสุขภาพที่ครอบคลุมตั้งแต้ต้นน้ำจนปลายน้ำ และเรื่องสุดท้าย คือการเป็นเมืองสำหรับจัดกิจกรรมด้านการกีฬา จากทำเลที่เป็นศูนย์กลางของภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งง่ายต่อการเข้าถึงทั้งภาคเหนือ กลาง และอีสาน พิษณุโลกจึงเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งกีฬาทั้งระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับนานาชาติหลายครั้ง
และด้วยดีเอ็นเอที่มาพร้อมกับทำเล สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ TCEB ก็เข้ามาที่พิษณุโลก ชวนพวกเรา (หอการค้าจังหวัดพิษณุโลก) เสนอชื่อเป็น MICE City หรือเมืองแห่งการจัดประชุมและนิทรรศการ โดยองค์กรเขาจะทำการรับรองให้ ถ้าเรานำเสนอข้อมูลของเมืองให้ผ่าน 41 ตัวชี้วัดใน 8 ด้าน พวกพี่ก็เลยรวมข้อมูลและยื่นตามนั้น จนพิษณุโลกได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563 เป็นจังหวัดที่ 9 ของประเทศ แต่นั่นล่ะ หลังประกาศไม่นาน โควิด-19 ก็ระบาดใหญ่ คนในเมืองเลยไม่รู้จักว่าอะไรคือ MICE City และกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดประชุมสัมมนาก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
จนปีที่แล้วที่ทุกอย่างเริ่มฟื้นฟู เราก็เลยกลับมาสื่อสารเรื่องนี้อีกครั้งไปพร้อมกับการลงมือทำ ซึ่งก็ได้ TCEB นี่แหละที่ช่วยสนับสนุนดึงงานใหญ่ๆ เข้าสู่จังหวัด หนึ่งในนั้นคือการมีโอกาสได้ร่วม bidding เพื่อเป็นเจ้าภาพงานเลอแทปไทยแลนด์ (L’Etape Thailand by Tour De France) การแข่งขันปั่นจักรยานระดับนานาชาติลิขสิทธิ์ของตรูเดอร์ฟรองส์ ซึ่งเป็นการแข่งขันจักยานที่ติดอันดับ 1 ใน 10 การแข่งขันกีฬายอดนิยมอันดับโลก โดยผู้ที่จะได้เป็นเจ้าภาพต้องเป็นเมือง MICE City เท่านั้น
ซึ่งนอกจากพิษณุโลกที่ยื่นขอเป็นเจ้าภาพ ก็มี อุดรธานี นครราชสีมา และขอนแก่น เป็นคู่แข่ง ทางหอการค้าเราก็ทำพรีเซนเทชั่นส่งให้ทางฝรั่งเศสพิจารณาทางออนไลน์ พี่ก็ทำวิดีโอนำเสนอศักยภาพของเมือง พร้อมดึงเอาคอมมูนิตี้ของคนปั่นจักรยานทางมืออาชีพและมือสมัครเล่นเกือบ 5,000 คนมานำเสนอ ให้ทางนั้นเห็นว่าเมืองเรามีบรรยากาศของการปั่นจักรยานจริงๆ นะ ก็ปรากฏว่าพิษณุโลกเราได้คะแนนในการนำเสนอเป็นอันดับ 1
จากนั้นเราก็ทำกิจกรรมนำร่องชื่อ Yellow Day ชวนอินฟลูเอนเซอร์ระดับประเทศมาปั่นจักรยานชมเมือง หนึ่งในนั้นคือ คุณวีรศักดิ์ โคว์สุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งพอเราประชาสัมพันธ์ และมีกิจกรรมนำร่อง ภาครัฐก็ตื่นตัว เสกถนนใหม่ให้เรียบร้อยมีและความพร้อมต่อการปั่นจักรยายหลายสายทั่วเมืองเลยทันใจเลย โดยจะเคลมว่าการเป็น MICE City กับการจัดงานระดับนานาชาติ มีส่วนพัฒนาเมืองให้เห็นเป็นรูปธรรมได้จริง ก็ไม่เกินไป
ท้ายที่สุดเราก็ได้เป็นเจ้าภาพงานนี้ไป และเพิ่งจัดการแข่งขันเลอแทปพิษณุโลกสนามแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา
ถามว่าแล้วพี่มีส่วนร่วมกับโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ตลาดใต้ตรงไหน? ก็หลายเรื่องเลยค่ะ เพราะพี่คุ้นเคยกับอาจารย์ใหม่ดี (อาจารย์ธนวัฒน์ ขวัญบุญ หัวหน้าโครงการ) จึงได้ไปร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองกับชาวตลาดใต้ รวมถึงอย่างงาน Yellow Day ที่ผ่านมา พี่ก็ชวนอินฟลูเอนเซอร์มาปั่นจักรยานเที่ยวตลาดใต้ด้วย เพราะตลาดแห่งนี้สะท้อนคาแรกเตอร์ดั้งเดิมของตลาดเมืองพิษณุโลก ในทางกลับกัน พี่ยังขอวิดีโอที่ทางทีมอาจารย์ใหม่ทำ ส่งไปให้ทางกรรมการเลอแทปดู เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพความเป็นเมืองท่องเที่ยวของเราด้วย
พี่มองว่านี่เป็นโครงการที่ดี เพราะมันช่วยจุดประกายให้ทุกคนเห็นพื้นที่ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแห่งใหม่ๆ ในเมืองของเรา ซึ่งมันมีย่านที่มีอัตลักษณ์ชัดเจนแบบนี้อีกหลายย่านมาก เช่น ย่านสถานีรถไฟที่ทางเราเคยร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร ขับเคลื่อนมาก่อน หรือ ตลาด 120 ปีวังทอง ในอำเภอวังทอง ที่ยังมีกลุ่มอาคารไม้ริมแม่น้ำดั้งเดิมอยู่
และเพราะเรามีศักยภาพตามย่านเล็กๆ เหล่านี้ พี่จึงอยากให้มีจุดที่เราจะสามารถสร้างสะพานการเล่าเรื่องเมืองให้เชื่อมโยงกัน ในแบบที่ในแต่ละกลุ่มเป้าหมายต้องการ เพราะจริงๆ แล้วพิษณุโลกมันสามารถทำสินค้าทางการท่องเที่ยวที่เฉพาะกลุ่ม หรือ Niche ได้
พี่ยังเคยบอกอาจารย์ใหม่เลยว่า โครงการย่านเก่าเล่าเรื่องในตลาดใต้น่ะดีมากแล้ว แต่จะดีกว่านี้อีกถ้าเราสามารถสร้างให้มันเฉพาะไปอีกว่า ย่านเก่าเล่าเรื่องเนี่ย จะเล่าให้ใครฟัง ให้ผู้สูงอายุฟัง ให้คนรุ่นใหม่ฟัง ให้นักท่องเที่ยวฟัง หรือให้นักลงทุนฟัง เราออกแบบเนื้อหา เพื่อโยงให้โครงการที่เราทำตอบวัตถุประสงค์การพัฒนาเมืองในทิศทางใดทิศทางหนึ่งได้หมด
เพราะสำหรับพี่คนอื่นเขาไม่สนใจหรอกว่าเรามีอะไร เขาสนใจว่าเราจะให้อะไรกับเขามากกว่า ซึ่งมันไม่ใช่แค่ในย่านตลาดใต้ แต่หมายรวมถึงเมืองพิษณุโลกทั้งเมือง โจทย์ของเราคือ จะสื่อสารเมืองของเราออกไปยังไงมากกว่า”
ดร.พันธุ์ทิพา ขวัญทองอินทร์
รองประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก
นายกสมาคมเครือข่ายไมซ์ภาคเหนือตอนล่าง
https://www.powerpluscreation.com/
“เมืองอาหารปลอดภัยไม่ได้ให้ประโยชน์แค่เฉพาะผู้คนในเขตเทศบาลฯแต่มันสามารถเป็นต้นแบบให้เมืองอื่น ๆ ที่อยากส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนได้เช่นกัน” “งานประชุมนานาชาติของสมาคมพืชสวนโลก (AIPH Spring Meeting Green City Conference 2025) ที่เชียงรายเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา เน้นย้ำถึงทิศทางการพัฒนาเมืองสีเขียว…
“ทั้งพื้นที่การเรียนรู้ นโยบายเมืองอาหารปลอดภัย และโรงเรียนสำหรับผู้สูงวัยคือสารตั้งต้นที่จะทำให้เชียงรายเป็นเมืองแห่งสุขภาพ (Wellness City)” “กล่าวอย่างรวบรัด ภารกิจของกองการแพทย์ เทศบาลนครเชียงราย คือการทำให้ประชาชนไม่เจ็บป่วย หรือถ้าป่วยแล้วก็ต้องมีกระบวนการรักษาที่เหมาะสม ครบวงจร ที่นี่เราจึงมีครบทั้งงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การรักษาเมื่อเจ็บป่วย และระบบดูแลต่อเนื่องถึงบ้าน…
“การจะพัฒนาเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณูปโภคแต่ต้องพุ่งเป้าไปที่พัฒนาคนและไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า การศึกษา” “แม้เทศบาลนครเชียงรายจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกแห่งแรกของไทยในปี 2562 แต่การเตรียมเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหลายสิบปี ในอดีต เชียงรายเป็นเมืองที่ห่างไกลความเจริญ ทางเทศบาลฯ เล็งเห็นว่าการจะพัฒนาเมือง ไม่สามารถทำได้แค่การทำให้เมืองมีสาธารณูปโภคครบ แต่ต้องพัฒนาผู้คนที่เป็นหัวใจสำคัญของเมือง และไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า ‘การศึกษา’…
“ถ้าอาหารปลอดภัยเป็นทางเลือกหลักของผู้บริโภคเชียงรายจะเป็นเมืองที่น่าอยู่กว่านี้อีกเยอะ” “นอกจากบทบาทของการพัฒนาชุมชนและสังคมสงเคราะห์ กองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครเชียงราย ยังมีกลไกในการส่งเสริมเศรษฐกิจของพี่น้อง 65 ชุมชน ภายในเขตเทศบาลฯ โดยกลไกนี้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ และช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมในทางอ้อมด้วยกลไกที่ว่าคือ ‘สหกรณ์นครเชียงราย’ โดยสหกรณ์ฯ นี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 หลักเราคือการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน…
“แม่อยากปลูกผักปลอดภัยให้ตัวเองและคนในเมืองกินไม่ใช่ปลูกผักเพื่อส่งขาย แต่คนปลูกไม่กล้ากินเอง” “บ้านป่างิ้ว ตั้งอยู่ละแวกสวนสาธารณะหาดนครเชียงราย เราและชุมชนฮ่องลี่ที่อยู่ข้างเคียงเป็นชุมชนเกษตรที่ปลูกพริก ปลูกผักไปขายตามตลาดมาแต่ไหนแต่ไร กระทั่งราวปี 2548 สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองเชียงราย มาส่งเสริมให้ทำเกษตรปลอดภัย คนในชุมชนก็เห็นด้วย เพราะอยากทำให้สิ่งที่เราปลูกมันกินได้จริง ๆ ไม่ใช่ว่าเกษตรกรปลูกแล้วส่งขาย แต่ไม่กล้าเก็บไว้กินเองเพราะกลัวยาฆ่าแมลงที่ตัวเองใส่…
“วิวเมืองเชียงรายจากสกายวอล์กสวยมาก ๆขณะที่ผืนป่าชุมชนของที่นี่ก็มีความอุดมสมบูรณ์จนไม่น่าเชื่อว่านี่คือป่าที่อยู่ในตัวเมืองเชียงราย” “ก่อนหน้านี้เราเป็นพนักงานบริษัทเอกชนที่ต่างจังหวัด จนเทศบาลนครเชียงรายเขาเปิดสกายวอล์กที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนดอยสะเก็น และหาพนักงานนำชม เราก็เลยกลับมาสมัคร เพราะจะได้กลับมาอยู่บ้านด้วย ตรงนี้มีหอคอยชมวิวอยู่แล้ว แต่เทศบาลฯ อยากทำให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็เลยต่อขยายเป็นสกายวอล์กอย่างที่เห็น ซึ่งสุดปลายของมันยังอยู่ใกล้กับต้นยวนผึ้งเก่าแก่ที่มีผึ้งหลวงมาทำรังหลายร้อยรัง รวมถึงยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนภูเขา ในป่าชุมชนผืนนี้ จริง…