“ความลับของลูกชิ้นปลากรายหรือคะ ความจริงแล้วเราไม่ใช้แค่เนื้อปลากรายอย่างเดียว”

Start
314 views
8 mins read

“ชื่อนายตี๋ ลูกชิ้นปลากราย มาจากชื่อเตี่ยค่ะ เตี่ยชื่อเล่นชื่อตี๋ ชื่อจริงชื่อคมสันต์ สุวิทยารักษ์ เปิดร้านนี้มาเกือบ 30 ปีแล้ว แรกเริ่มเลย ต้องย้อนไปสมัยอากง อากงเป็นคนจีนมาตั้งรกรากที่นครสวรรค์ และทำก๋วยเตี๋ยวเป็ดขายเป็นหลัก พร้อมกับขายลูกชิ้นปลากรายเสริมด้วย หลังอากงเสียชีวิต เตี่ยก็มารับช่วงต่อ โดยขายลูกชิ้นปลากรายอย่างเดียว เพราะสมัยนั้นลูกชิ้นปลากรายเริ่มเป็นของฝากของจังหวัดนครสวรรค์แล้ว โดยทำส่งร้านค้าในตลาดก่อน พวกแผงปลา หรือร้านก๋วยเตี๋ยวอื่นๆ

ความที่ลูกชิ้นเราไม่ใส่สารกันบูด เวลาฝากร้านเขาขาย แล้วร้านขายไม่หมด เขาก็จะตีสินค้าคืนมา เราก็ขาดทุน เตี่ยก็เลยคิดว่างั้นทำรถเข็นขายก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาของเราเองดีกว่า เพราะแต่ไหนแต่ไร เวลามีงานบุญอะไร เราก็ทำก๋วยเตี๋ยวอยู่แล้ว น้ำซุปเราก็มีสูตรของเรา เตี่ยก็เลยเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวเมื่อราว 30 ปีที่แล้ว ขายชามละ 10 บาท ขายอยู่ในห้องไม้ฝั่งตรงข้ามนี้ร่วมกับร้านหมูสะเต๊ะของน้องชายเตี่ย ก่อนย้ายมาขายในรถเข็นของตัวเอง จนเก็บเงินซื้อตึกตรงนี้ได้ และขยายสาขาเพิ่มอีก 2 สาขาในปัจจุบัน เราเป็นรุ่นที่ 2 ค่ะ มาช่วยตอนที่ก๋วยเตี๋ยวนายตี๋ติดตลาดแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ช่วยที่บ้านตั้งแต่ตอนทำลูกชิ้นส่งขายเลย พอมาถึงรุ่นเรา เราก็หาเมนูอื่นๆ มาเสริม มีอาหารจานเดียว ของกินเล่น ของหวานให้ครบวงจร เพราะลูกค้าบางคนอาจไม่ได้อยากกินก๋วยเตี๋ยว แต่ตามเพื่อนมา เขาจะได้มีทางเลือก โดยสาขาหลักสาขานี้มีเรากับน้องชายบริหาร แต่เตี่ยก็ยังมาคุมอยู่หน้าร้าน ส่วนอีกสองสาขา (หน้าวัดยางโทน ทางไปอำเภอโกรกพระ และสาขาเส้นเลี่ยงเมือง ตรงข้ามบุญทวีวัสดุ) จะมีน้องสาว และน้องชายดูแล เป็นธุรกิจครอบครัวอย่างแท้จริง (ยิ้ม)

ความลับของลูกชิ้นปลากรายหรือคะ ความจริงแล้วเราไม่ใช้แค่เนื้อปลากรายอย่างเดียว แต่เราจะผสมเนื้อปลากรายกับเนื้อปลาฉลาดด้วย รสสัมผัสจะออกมาพอดี เมื่อก่อนเราหาปลาเอง ไปซื้อจากพิจิตร รังสิต และเรานี่แหละรับจ้างแม่ขูดเกล็ดปลาได้ค่าแรงตัวละ 3 บาท แต่เดี๋ยวนี้ พอลูกชิ้นปลากรายได้รับความนิยม ก็มีแม่ค้ามาเสนอขายให้เลย เราก็จะเช็คเนื้อปลาก่อนแปรรูปทุกครั้ง ทุกวันนี้แม่ก็ยังเป็นคนคุมสูตรไม่ให้เพี้ยน

ความที่พอมีสื่อหรือโซเชียลมีเดียมาทำคอนเทนต์ร้านเราบ่อยๆ มาก ตี๋ลูกชิ้นปลากรายเลยได้รับความสนใจเป็นหนึ่งในจุดเช็คอิน หรือเป็นหน้าเป็นตาของเมืองนครสวรรค์ไปกลายๆ เราตระหนักเรื่องนี้ดี จึงต้องพยายามรักษามาตรฐานของรสชาติและการบริการให้ดีอยู่ตลอด เราก็หวังให้ร้านก๋วยเตี๋ยวร้านนี้เป็นร้านคู่เมืองต่อไปอีกหลายๆ รุ่น”

รุ่งรัตน์ สุวิทยารักษ์ และนายตี๋ คมสันต์ สุวิทยารักษ์
เจ้าของร้านตี๋ ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลากราย นครสวรรค์

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย