/

“ความสำเร็จ คือ อย่างน้อย ๆ คนขอนแก่นได้คิด และลองพยายามทำแล้ว นี่แหละนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเมืองของจริง”

Start
139 views
29 mins read

ตอนนี้เป็นคนขอนแก่น แต่จริงๆ ผมเกิดหนองคาย พ่อแม่รับราชการ ไปโตที่โคราช เรียนมหาลัยจบแล้วก็ไปทำงานที่ The Nation พอ The Nation เขาจะตั้งศูนย์ข่าวภูมิภาคที่ขอนแก่น และต้องการคนที่อยู่ในภูมิภาคให้กลับมาทำศูนย์ข่าว ผมก็เลยย้ายมาอยู่ที่นี่

ส่วนตัวผมมองว่าเมืองขอนแก่น ด้วย Location มันเป็นศูนย์กลางของภาคอีสาน เป็นศูนย์กลางอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ถ้ากางแผนที่ดูจะพบว่าขอนแก่นตั้งอยู่ตรงกลางพอดี ไม่แปลกใจที่โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จึงถูกวางไว้ที่นี่ย้อนไปไกลถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายก ตามหน้าประวัติศาสตร์ยุคจอมพลสฤษดิ์ เมืองขอนแก่นมีหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้น อย่างเช่น  การสร้างมหาลัยขอนแก่น เขื่อนอุบลรัตน์ แบงก์ชาติ ศูนย์กลางราชการต่างๆ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็วางไว้ว่า ขอนแก่นจะถูกพัฒนาให้เป็นเมืองหลักของภูมิภาคอีสาน แม้กระทั่งสายงานสื่อมวลชน เวลาเขาจะเลือกสำนักงาน ก็ต้องเลือกมาลงที่ขอนแก่น เพราะว่าในทางกายภาพ Logistic มันเดินทางไปได้หมดทั้งอีสานเหนืออีสานใต้ แล้วก็มีสนามบิน และกับสถานีรถไฟ  

การพัฒนาในรูปแบบนี้ทำให้ขอนแก่นเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย ผสมผสานทั้งคนอีสาน คนภาคกลาง คนจีนที่มาลงทุน และคนญวน ขอนแก่นจึงไม่ใช่อีสานจ๋า ๆ เมื่อเทียบกับจังหวัดใกล้เคียง อย่างมหาสารคามอันนั้นเขาอีสานเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

อย่างภาคธุรกิจถ้ามองจากสายตาคนทำสื่อ ผมเห็นความแตกต่างระหว่างนักธุรกิจโคราช นักธุรกิจขอนแก่น นักธุรกิจอุดร แม้จะลักษณะดูเหมือนคล้ายกัน แต่จริง ๆ ไม่คล้ายกันเลย ที่โดยเฉพาะนักธุรกิจขอนแก่นรุ่นแรก ๆ จะเห็นชัดเลยว่า เขาจะประสบความสำเร็จมากขอยกตัวอย่าง ดร.วิญญู คุวานันท์ ผู้ก่อตั้งโค้วยู่ฮะมอเตอร์  อีกคนหนึ่งที่คู่กันมาเลยคือ ดร.ประภา ภักดิ์โพธิ์ เจ้าของมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งสองท่านเสียชีวิตไปแล้วนะครับ แต่ตอนที่ท่านยังมีชีวิต เขาทำหลาย ๆ อย่างให้สังคมเมืองขอนแก่น เป็นคนที่สนใจเรื่องสังคม สนใจเรื่องบ้านเรื่องเมือง และคนรุ่นนี้ได้กลายเป็นต้นแบบให้กับนักธุรกิจรุ่นหลัง ๆ เดินตาม ถ้าเดี๋ยวนี้คนก็จะคิดถึง คุณสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย หรือเชื่อมไปถึงองค์กรจีน 24  องค์กรที่เป็นกลุ่มตระกูลแซ่ต่างๆ ที่อยู่ที่ขอนแก่น ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็สืบต่อสิ่งดี ๆ ต่อๆ กันมา คือ ออกมาช่วยสังคม ช่วยงานเมืองอยู่เป็นประจำ นี่คือหนึ่งในต้นทุนชั้นดีที่ทำให้ขอนแก่นเดินหน้ามาถึงทุกวันนี้

ขอพูดต่อเรื่องการรวมกลุ่ม บางคนอาจสงสัยว่าถ้ามีรัฐ มีเอกชน ก็น่าจะเพียงพอแล้วกับการขับเคลื่อนเมืองต่อไป แต่ที่ขอนแก่น วิธีคิดของการรวมกลุ่มเพื่อจะทำงานเพื่อบ้านเพื่อเมืองมันมีรากของมันอยู่ ซึ่งน่าสนใจ เช่นเมื่อกี้ที่เล่าไปเรื่องต้นแบบนักธุรกิจน้ำดี นั้นเป็นฝั่งเอกชน ในฝั่งพลเมืองกับท้องถิ่นก็มีการรวมกลุ่ม ย้อนไปสัก 20 ปีตอนนั้นผมทำสื่อแล้วได้มีโอกาสเห็นการทำงานของอดีตนายกเทศมนตรีคุณพีระพล พัฒนพีระเดช คนนี้แหละ เป็นคนที่วางพื้นฐานแนวคิดในเรื่องของการมีส่วนรวมกับพัฒนาเมืองฝั่งพลเมืองประชาสังคม ตอนนั้นก็มีการตั้งของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช.ภาคอีสาน เป็นหน่วยงานที่ประสานงานกับเครือข่ายนักพัฒนาก็อยู่ที่ขอนแก่น เรียกว่าประจวบเหมาะ แล้วเกิดการทำงานร่วมกัน เป็นจุดที่ทำให้เห็นการเชื่อมโยงกันระหว่างนักพัฒนากับการเมืองท้องถิ่น ในยุคนั้นมี NGO ก็คือพี่เดชา เปรมฤดีเลิศ พี่สมภพ บุนนาค เขาทำงานกับนายกพีระพล แนวคิดการพัฒนาแบบมีส่วนรวมให้ความสำคัญกับคนเล็กคนน้อยจากนักพัฒนาก็ซึมเข้าไปในการทำงานของเทศบาล และเริ่มมีการวางรากฐานสร้างคนรุ่นใหม่ คนในปัจจุบันที่เกี่ยวข้อกับงานพัฒนาเมือง ก็เป็นผลผลิตจากเทศบาลยุคนั้น อย่างคุณธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นคนปัจจุบันก็อยู่ในทีม อยู่ในกลุ่มการเมืองท้องถิ่นกลุ่มเดียวกัน

ในฝั่งการเมืองในเขตเมืองขอนแก่นก็เคยมีการแข่งกันมาก่อนระหว่างรักขอนแก่นกับพัฒนาขอนแก่น ต่อมาก็รวมตัวกัน เพราะก็รู้จักกันและรู้ว่าแข่งกันเองไปก็เจ็บเลยจับมือกันเป็นกลุ่ม รักพัฒนานครขอนแก่น  และทำงานอยู่กันต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ย้อนกลับเรื่องการมีส่วนร่วม ผมยังจำได้แม่นตอนนั้นผมไปคุยกับนายกพีระพล ผมบอกว่าผมทำสื่อ ผมตั้งคำถามว่าในเรื่องของการพัฒนาแผนในยุทธศาสตร์ไม่เคยเห็นประชาชนมีส่วนรวม เขาก็ตอบผมว่าไปดูแผนสภาพัฒน์แล้ว กรอบแนวคิดสภาพัฒน์เขาเขียนว่ามีส่วนรวม 4 ภาคส่วน 4 ระดับ คือเท่าที่พิจารณาร่วมกันโดยข้อเท็จจริงโครงสร้างมันไม่ได้เอื้อให้มีส่วนรวมจริง ๆ ก็เป็นคำถามกันว่าแล้วเราจะทำยังไง ผมก็เลยกลับมาเขียน proposal ของบมาจัดกิจกรรมชื่อ ‘เหลียวหลังมองปัจจุบันกับความคาดหวังขอนแก่นทศวรรษหน้า’ เชิญคนผ่านกลไกภาคีต่างๆ เข้ามาร่วมพูดคุยว่าเราจะทำอย่างไรให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ตอนนั้นก็มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ‘ปัญจมิตร’ ขอนแก่น ปัญจะคือ 5 ก็จะมีหอการค้า สภาอุตสาหกรรม อบจ. เทศบาล และสภาทนายความ ผมคิดว่านี้คือช่วงรอยต่อสำคัญก่อนการเกิดขึ้นของบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (KKTT) บทบาทสำคัญที่พูดแล้วคนน่าจะจดจำกันได้คือ ช่วงปี 35-37 ธุรกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่พวก แม็คโคร โลตัส บิ๊กซี เริ่มบุกไปเปิดตามหัวเมืองต่างๆ ตอนนั้นมีกระแสต่อต้านกันเยอะ เพราะมันกระทบคนท้องถิ่น อย่างที่โคราชนี่แรงเลยถึงขั้น ‘มึงมากูเผา’ แบบนั้นเลยแต่ก็สู้ไม่ได้ ทางขอนแก่นเราก็ใช้กลไกของปัญจมิตรเข้าไปคุยกับทางห้างใหญ่ ร้องขอให้เข้าเสียภาษีให้กับท้องถิ่น ซึ่งยุคนั้นยังไม่ต้องเสีย สุดท้ายก็คุยกันได้ลงตัว กลุ่มก็ขึ้นป้ายใหญ่เป็นการขอบคุณ

 การทำงานของปัญจมิตร ก็เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ผมมาตั้งมูลนิธิขอนแก่นทศวรรษหน้า และมีการจัดกิจกรรมเหลียวหลังมองปัจจุบันกับความคาดหวังขอนแก่นทศวรรษหน้าขึ้นอีกหลายครั้ง ช่วงนั้นคือราว ๆ ปี 51 การเมืองมีความขัดแย้งรุนแรง คนขอนแก่นต่างมองกันว่าต้องเร่งวางแผนอนาคตให้ชัดเจน ตอนนั้นได้งบจากทางเทศบาลฯ และอบจ.มาช่วยสนับสนุนจัดเวที ทำแบบนี้ต่อเนื่องมาจนถึงปี 58 แล้วจึงตั้งมูลนิธิขอนแก่นทศวรรษหน้าในปีนั้น ช่วงที่จัดกิจกรรมเสวนา ประเด็นของเมืองขอนแก่นที่คนพูดถึงกันมากก็มี เรื่องทรัพยากรน้ำที่มีความเสี่ยงว่าจะมีไม่พอใช้ เราจะทำยังไงในอนาคตกับเขื่อนอุบลรัตน์ จะผลิตไฟหรือว่าจะเอื้อให้ภาคการเกษตรด้วย เพราะก็มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่แถวนั้นซึ่งจะได้รับผลกระทบ หรือปัญหาเรื่องขยะกับมลภาวะซึ่งมีช่วงหนึ่งขอนแก่นมีปัญหาเรื่องขยะล้นเมืองอย่างรุนแรง  อีกอันคือเรื่องขนส่งมวลชนกับ Green City

วงพูดคุยแบบขอนแก่นทศวรรษหน้าดำเนินมาได้ระยะหนึ่ง รวมผู้คนได้หลากหลายและทำหน้าที่เป็น Think Tank สร้างข้อเสนอแนะและยุทธศาสตร์ให้กับเมืองและจังหวัดได้เป็นอย่างดี จนวันหนึ่งคุณ ธนะ ศิริธนชัย (กรรมการบริหารศิริการกรุ๊ป 90 จำกัด)  ถามผมว่า “พี่ขอนแก่นทศวรรษหน้าตกลงเราทำอะไร จะคุยกันแบบนี้อย่างเดียวใช่ไหม” ผมก็บอก “ใช่” เขาก็คงหงุดหงิดผม (หัวเราะ) คือด้วยธรรมชาตินักพัฒนาจะเน้นที่งานขับเคลื่อนความคิดเป็นหลัก ส่วนนักธุรกิจเขาก็อยากจะลงมือทำทันที จึงเป็นที่มาของกลุ่มนักธุรกิจรุ่นกลาง รุ่นใหม่ เขาไปรวมตัวลงขันกันจัดตั้ง บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (KKTT) นิยามตัวเองว่าเป็น Think Tank ที่ลงมือทำด้วย  พอดีกับช่วงนั้นขอนแก่นทศวรรษหน้าได้จัดเวทีเรื่องคุยเรื่องผังเมืองในอนาคต เราได้เชิญอาจารย์นักวิชาการจากหลายแห่งมาคุย หารือ จนเป็นที่มาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจระดับเทศบาลซึ่งมีเรื่องการฟื้นฟูย่านเก่า 5 ย่านขึ้นมา เป็นที่มาของการผลักดันการฟื้นฟูย่านศรีจันทร์อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน  ส่วนเรื่อง smart city ก็มาในช่วงรัฐบาล คสช. ตอนนั้นเขาประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 กำลังมาและในระดับภูมิภาคก็มีจังหวัดนำร่องอยู่ 3 จังหวัดที่จะเป็นเมือง ICT มีขอนแก่น เชียงใหม่ และภูเก็ต จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวของ Smart city และการพัฒนาด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีของเมืองขอนแก่น ซึ่งทาง KKTT เขามองว่ามันเชื่อมกัน และเชื่อมกับ ขอนแก่น MICE City ที่ตอนแรก KTT เขาก็กะว่าจะลงทุนสร้างศูนย์จัดแสดงสินค้า แต่พอดี CP เข้ามาแล้วมาทำ KICE มันก็เลยลงล็อค KKTT เลยกลับมาดูเรื่องการพัฒนาเมืองเก่า เรื่องปัญหาการจราจร และเริ่มมีการศึกษาเรื่อง LRT กับ BRT โดยม.ขอนแก่น ซึ่งต่อมาก็มีการลงทุนรถเมล์ขอนแก่นซิตี้บัส (Khon Kaen City Bus) วิ่งบริการในเมืองเชื่อมไปกับสนามบิน และมีการจัดตั้งบริษัท ขอนแก่นทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) โดยความร่วมมือของ 5 เทศบาลใช้โมเดลจากกรุงเทพธนาคมเป็นต้นแบบ เพื่อผลักดันการสร้างรถไฟฟ้ารางเบาครอบคลุมพื้นที่เขตเมืองขอนแก่น  

ในยุคนี้แผนยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนเมืองขอนแก่น เรื่อง Smart city ถือว่าเป็นแกนความคิดหลักที่ยังคงร่วมกันผลักดัน ผมเคยแสดงความเห็นในเวที APEC ว่าเรื่อง smart city ผมมองตัวขอนแก่นพัฒนาเมืองเป็นนวัตกรรมการพัฒนานะครับ ที่ผ่านมาเวลาเราพูดเรื่องการพัฒนา ถ้าเป็นแต่ก่อนจะเป็นรัฐจะเป็นฝ่ายเดียวที่ริเริ่ม เอกชนส่วนใหญ่ก็เกาะรัฐกันไปแล้วหาประโยชน์ นี่คือโมเดลรูปแบบเก่า แต่วันนี้เอกชนเขาลุกขึ้นมาแล้ว เขาก็บอกว่าเขาขอมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองด้วย ขอมาร่วมกับรัฐในงานพัฒนาเมือง เพื่อปิดข้อจำกัดของรัฐในบางเรื่อง เพราะบางอย่างเอกชนสามารถทำได้เลย แล้วถ้ารัฐกระจายอำนาจออกมาให้ท้องถิ่น กับคนในจังหวัดได้ตัดสินใจเอง อันนี้ผมคิดว่าเป็นความท้าทาย มันคือสิ่งที่คนขอนแก่นพยายามช่วยกันทำ ถือว่าเป็น Start Up ที่คิดเราสร้างนวัตกรรมขึ้นมา ความสำเร็จ คือ อย่างน้อย ๆ คนขอนแก่นได้คิดและลองพยายามทำแล้ว นี่แหละนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเมืองของจริง” 

เจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ
นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่น

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย