/

“จุดดีของขอนแก่น คือ เราแข็งแกร่ง ในช่วงเริ่มต้นมีการประชุมบ่อยครั้ง แต่ยังไม่เห็นผลงาน ฉะนั้นเราต้องทำให้เขาเชื่อถือ นั่นหมายความว่าต้องทำอะไรที่จับต้องได้”

Start
111 views
19 mins read

“ผมเริ่มจากการเป็นนักพัฒนาที่ดิน โรงแรมนี้น่าประมาณ 16-17 ปีได้แล้ว เป็นรีสอร์ทสไตล์โรงแรม ตอนที่สร้างขอนแก่นยังไม่มีโรงแรมสไตล์แนวราบฟิลรีสอร์ทแบบนี้ ที่เลือกมาทำที่นี่เพราะผมเห็นศักยภาพของถนนเส้นนี้ที่อยู่หน้าสนามบินเชื่อว่า traffic ส่วนหนึ่งคาดหวังจากการท่องเที่ยว และนักเดินทาง แต่ในช่วงหลังทิศทางธุรกิจจะเป็นจากลูกค้ากลุ่มประชุมสัมมนา และกลายก็เป็นรายได้ราว 60% ของเรา ส่วนหนึ่งผมคิดว่าไม่ใช่เพราะขอนแก่นถูกเลือกเป็นเมือง MICE City แต่เพราะว่าที่นี่เรามีสำนักงานเขตของราชการ บริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล หน่วยงานองค์กรราชการ ร่วม ๆ 280 หน่วยงาน นี่เป็นลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของเมืองขอนแก่น

ในแง่การลงทุนขอนแก่นค่อนข้างแตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ คือนักธุรกิจส่วนใหญ่ที่ลงทุนในเมืองขอนแก่นเป็นคนขอนแก่น จึงเหมือนเป็นโชคดีที่เอื้อให้เกิดการรวมตัวของนักธุรกิจในท้องถิ่น และเราแทบจะไม่มีนักธุรกิจต่างถิ่นเหมือนภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ ที่มีความหลากหลาย ตรงนี้จึงเป็นจุดแข็งของเรา การรู้จัก background กัน สร้างความเข้าใจกัน และมองอนาคตที่จะเกิดกับลูกหลานเป็นหลัก ผมว่าตรงนี้จะทำให้เราทำงานสอดคล้องในทิศทางเดียวกันได้ เช่นเดียวกับการที่เรามีบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง หรือหอการค้าขอนแก่นที่เรามีกิจกรรมค่อนข้างเยอะ และมองร่วมกันว่าขอนแก่นน่าจะเป็น Hub ในเรื่องการแพทย์ หรือเป็นเมือง Logistic เป็นเมืองด้านการศึกษา ได้ในอนาคต

นอกจากการเชื่อมโยงคนในเมือง สิ่งที่เราช่วยกันทำมา 7-8 ปีต่อเนื่องมาคือการเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะนครหลวงเวียงจันทน์ เพราะเรารู้ว่าอนาคตขอนแก่นมีศักยภาพและโอกาสในการเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน การผลักดันให้ขอนแก่นและนครหลวงเวียงจันทน์เป็นเมืองคู่มิตร หรือ โFriendship city แม้เรื่องนี้จะต้องรอกระบวนการ MOU ที่ต้องขออนุญาตกระทรวงมหาดไทย กับกระทรวงต่างประเทศซึ่งต้องใช้เวลา หอการค้าขอนแก่นกับก็สภาการค้าลาวจึงเชื่อมกันเองไว้ก่อน ผมเองมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเยือนนักธุรกิจลาว กับนักธุรกิจไทยที่ไปทำโรงงานที่ลาวอยู่บ่อย ๆ  อย่างวันพรุ่งนี้ก็จะมี Online conference ระหว่างขอนแก่นและนครหลวงเวียงจันทน์ จะเห็นว่าตรงนี้หอการค้าขอนแก่น นักธุรกิจขอนแก่นได้เดินหน้าไปแล้ว เพราะเราคล่องตัวและต่อก็ได้เร็ว แต่พอจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนต่อเนื่อง มีกิจกรรม มีโครงการ เป็นหลักเป็นการก็ต้องรอภาครัฐ ซึ่งผมมองว่าเรื่องนี้มีผลอย่างมากในการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองให้เกิดผลสำเร็จ

จริงๆ คือเราเห็นข้อจำกัดทางโครงสร้างแบบนี้มาตลอด ภาคเอกชนขอนแก่นจึงจับมือกัน และเดินหน้าไปก่อน ระหว่างที่ฝันกันก็หาลู่ทางในการจับมือภาครัฐ ทั้งท้องถิ่น และส่วนกลางไปด้วย เรื่องระบบรางนี่เป็นตัวอย่างได้เลย ใช้พลังกันเยอะ เพราะมันเป็นเรื่องใหม่ เรื่องใหญ่ แต่ถ้า Change ได้มันจะเป็นตัวแปรสำคัญของการพัฒนาเมืองแบบก้าวกระโดด โจทย์ยากเรื่องหนึ่งคือการหาพันธมิตรมาร่วมลงทุน เราก็หวังไปที่ต่างชาติอย่าง เยอรมัน ญี่ปุ่น หรือจีน หวังว่าเขาจะมองเห็นโอกาสตรง และอยากเปิดตลาด ซึ่งงานตรงนี้คุณสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย (Co-Founder บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง) ก็ทำหน้าที่ตรงนี้อย่างแข็งขัน เป็นงานที่ต้องใช้เวลา และแสวงหาโอกาส

ส่วนตัวผมมองว่าเราทำโจทย์ที่ยากไปสักหน่อย ผมก็เริ่มคุยกับพรรคพวกว่าบางทีถ้าเป้าหมายใหญ่ยังไปไม่ถึง อาจจะทำอะไรที่มันสัมผัสได้ก่อนไหมและค่อย ๆ ไป เช่น การที่จะเป็นรถรางเลยเราอาจจะเป็นล้อ เป็น BRT ไฟฟ้าล้อเพื่อลงทุนง่าย และเมื่อพอหาเงินได้ หรือมีคนเห็นด้วย คนสนับสนุนจึงค่อย Upgrade นี่คือสิ่งที่ผมคิด ผมได้ลองปรึกษากับคุณสุรเดชแล้ว เขาก็บอกว่าการที่จะเข้า Infrastructure fund มันต้องเป็นระบบรางเป็นระบบล้อไม่ได้ ถ้าจะยืนโจทย์ข้อนี้อยู่ผมก็เข้าใจ แต่ก็มองว่าสถานการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้อาจต้องมองระยะใกล้ มอง Quick Win อาจต้องปรับโจทย์ให้ง่ายขึ้น หรือเป็นโจทย์ที่ทำเรื่องใหม่ Project ใหม่ เพื่อให้ KKTS หรือผลงานของขอนแก่นพัฒนาเมืองมันสำเร็จจับต้องได้ จะเป็นโรงไฟฟ้าขยะก็ได้ เป็นต้น

การที่จะทำโครงการให้สำเร็จต้องมาจากแรงศรัทธา มีความเชื่อมั่น คำถามคือ เราเป็นใครเขาถึงจะมาเชื่อมั่นเรา จริงอยู่เราทำโครงการรถไฟฟ้ายังไม่สำเร็จ แต่เราคิดดี โครงการดี และจะทำยังไงให้หัวหน้าส่วนที่เขาเกี่ยวมาเชื่อมั่นเราในเมื่อเรายังไม่มีอะไรที่สำเร็จ เพราะทุกคนสามารถคิดได้ฝันได้แต่เขาไม่รู้ว่าเรามีอุปสรรคอะไร ยากแค่ไหน เขามองมาจากมุมนอกไม่เห็น ฉะนั้นผมมองว่าอันนี้เป็นเรื่องสำคัญต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่มาร่วมมือร่วมงาน ผมหมายถึงราชการ หรือคนที่อยู่ในจังหวัดก็ดี ซึ่งข้อนี้ก็มีทางออกคือเราต้องมีความน่าเชื่อถือในตัวเอง พวกเราไม่เกี่ยวกับการเมือง ไม่ทำธุรกิจสีเทา อันนี้คือดีมาก แต่ส่วนหนึ่งผมวิเคราะห์ว่าเรายังขาดผู้นำท้องถิ่นที่นำพาความเชื่อมั่นของเรา และมวลชนไปพร้อมกัน

จุดดีของขอนแก่น คือ เราแข็งแกร่งในช่วงเริ่มต้น มีการประชุมบ่อยครั้ง แต่ยังไม่เห็นผลงาน ฉะนั้นเราต้องทำให้เขาเชื่อถือ และเชื่อมั่น นั่นหมายความว่าต้องทำอะไรที่จับต้องได้ 

อีกเรื่องนอกจากโครงการภายในเมือง ผมว่าเรื่องมุมมองที่มีต่อ Position เมืองของเรานั้นสำคัญ อยากชวนมองให้กว้างกว่าเดิม อย่ามองว่าขอนแก่นคือขอนแก่น หรือมองว่าขอนแก่นคือเมืองหลวงของภาคอีสาน อันนี้อันตรายที่สุดเพราะหลายคนคิดและเชื่ออย่างนั้น เชื่อว่าฉันเก่งอยู่คนเดียว เพราะถ้ามองว่าเราเป็น Gateway สู่จังหวัดรอบข้าง เพราะสภาพภูมิศาสตร์ และโครงสร้างพื้นที่ฐานของเราพร้อม จะไปกาฬสินธุ์ก็แค่ชั่วโมงเดียว ถ้าเราเปลี่ยนบทบาทตรงนี้ให้เราเป็นตัวแทนภาคอีสานเป็น Gateway ผมว่าพลังเราจะเยอะขึ้น มหาสารคามก็จะมาสนับสนุนเรา หรือจะเชื่อมโยงกับบุรีรัมย์ ซึ่งเขามี Racing circuit ขอนแก่นมีโรงแรม สนามบิน ทำไมเทศบาลขอนแก่นหรือภาคเอกชนไม่จับมือกับบุรีรัมย์เป็นคู่มิตรกัน แข่งขันเสร็จแล้วเชิญชวนนักท่องเที่ยวบ้านเราต่อ หรือมีรอบรถบัสพิเศษวิ่งช่วง ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ที่เขามีการแข่ง สิ่งนี้เคยมีการนำเสนอแต่มันขาดการขับเคลื่อนต่อ ผมว่าไม่ว่าจะเมืองใครก็ช่าง แต่ถ้าได้ประโยชน์ร่วมกัน ผมว่าเมืองต่างๆ เขาเอา แลกกันเพื่อจะได้ Win ด้วยกัน นี่ไง Quick Win แบบไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แค่จับมือแล้วไปด้วยกัน”   

เข็มชาติ สมใจวงษ์
ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดขอนแก่น

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย