“กาฬสินธุ์มีโรงงานอุตสาหกรรมหนักแห่งเดียวในจังหวัดคือโรงงานแปรรูปไม้ หรือโรงเลื่อย ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนที่แม่เป็นประธาน นั่นคือชุมชนหน้าโรงเลื่อย
ชุมชนหน้าโรงเลื่อยตั้งอยู่ติดกับลำน้ำปาว หรือคลองปาว ซึ่งยังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อโสมพะมิตร ผู้ก่อตั้งเมืองกาฬสินธุ์ โดยพระยาโสมพะมิตร เดิมเป็นเจ้านายลาวที่อพยพเทครัวมาจากเวียงจันทน์ มาตั้งรกรากใหม่บริเวณแก้งส้มโฮง ดงสงเปือย (แก่งสำโรง โค้งสงเปือย) หรือบริเวณริมคลองปาวแห่งนี้ ก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จไปเข้าเฝ้าในหลวง รัชกาลที่ 1 เพื่อขอสวามิภักดิ์เข้ากับสยาม ในปี พ.ศ. 2336
ในการเฝ้าครั้งนั้นพระองค์ท่านนำกาน้ำสำริดที่ติดตัวมาจากเวียงจันทน์เป็นเครื่องบรรณาการมอบแด่รัชกาลที่ 1 สยามจึงยกฐานะบ้านแก่งสำโรงให้เป็นเมืองขึ้น ตั้งชื่อว่า ‘กาฬสินธุ์’ และแต่งตั้งพระยาโสมพะมิตร เป็นพระยาชัยสุนทร เจ้าเมืองคนแรกของกาฬสินธุ์ ภายหลังเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน จากหัวเมืองประเทศราช กาฬสินธุ์ก็กลายเป็นหนึ่งในจังหวัดของสยามมาจนถึงปัจจุบัน
แม่เป็นคนกาฬสินธุ์ตั้งแต่กำเนิด ทำธุรกิจร้านรับทำป้าย (ต๊ะโปสเตอร์) และเป็นประธานชุมชนแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2527 สมัยก่อนโรงเลื่อยแห่งนี้เป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของเมือง เปิดมาไม่ต่ำกว่า 60 ปีแล้ว คนงานในโรงเลื่อยก็มีทั้งคนในชุมชนและชาวลาว โดยก่อนหน้านี้โรงเลื่อยเดิมเป็นโรงกลั่นเหล้า จนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีกฎหมายไม่ให้ทำการกลั่นเหล้าในเมือง ก็เลยเปลี่ยนมาเป็นโรงเลื่อย มายุคหลังที่คนจีนเข้ามาเช่าทำต่อ เขาจะแปรรูปไม้ประดู่อย่างเดียว ส่งกลับไปที่ประเทศจีน แต่ความที่โรงเลื่อยมันสร้างมลภาวะให้คนในเมืองด้วย พอเจ้าของมีแผนที่จะขยายโรงงาน เลยตัดสินใจไปตั้งโรงงานใหม่นอกเมือง
ชุมชนหน้าโรงเลื่อยที่แม่อยู่จึงมีประวัติศาสตร์สำคัญสองเรื่อง คือเป็นชุมชนดั้งเดิมในยุคตั้งเมืองเมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว กับเป็นที่ตั้งของโรงงานเก่าแก่แห่งเดียวในตัวเมือง ในทุกเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เมืองกาฬสินธุ์จะมีการจัดพิธีบวงสรวงพระยาชัยสุนทร โดยจัดทำขบวนแห่จากบริเวณอนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทรตรงหน้าไปรษณีย์ ผ่านวัดกลาง บนถนนกาฬสินธุ์ และมาสิ้นสุดที่ศาลเจ้าพ่อโสมพะมิตรในชุมชนของแม่
พอแห่มาถึงศาลเจ้า ก็จะมีพิธีสะเดาะเคราะห์ และพวกแม่ๆ พร้อมตัวแทนจากชุมชนคนอื่นๆ ก็จะจัดขบวนฟ้อนภูไทเพื่อเป็นการบวงสรวงพระองค์ท่านทุกปี นอกจากงานนี้ เวลามีข้าราชการคนไหนเข้ารับตำแหน่งในเมืองกาฬสินธุ์ รวมถึงคนที่ย้ายมาทำงาน เรียนหนังสือ หรือตั้งรกรากที่นี่ ก็จะมีการจัดพิธีถวายตัวเป็นลูกเจ้าเมือง ก็จะมีตัวแทนจากทั้ง 11 อำเภอของจังหวัดมาเข้าร่วมพิธีที่นี่ พวกแม่ๆ ก็มาฟ้อนบวงสรวงในพิธีกรรมไปพร้อมกัน
แต่ก่อนบริเวณริมคลองตรงศาลเจ้าพ่อโสมพะมิตรค่อนข้างเสื่อมโทรม จนเทศบาลเข้ามาฟื้นฟู ก่อสร้างทางเดินริมน้ำให้คนได้พักผ่อนและออกกำลังกาย ซึ่งใกล้จะเสร็จแล้ว และช่วงที่ใกล้จะเสร็จก็ตรงกับที่มีงานบวงสรวงด้วย จากที่จัดกันเล็กๆ ในชุมชน ปีนี้เลยจัดใหญ่ เพราะมีทางมหาวิทยาลัย และหน่วยงานรัฐต่างๆ มาร่วมด้วย จึงเกิดเป็น มหกรรมฟื้นใจเมือง ‘ภูมิถิ่น แก่งสำโรง โค้งสงเปือย’ มีการออกร้านจากชุมชนต่างๆ แม่ก็ไปเปิดร้านขายขนมและเครื่องดื่มกับเขาด้วย นอกจากนี้ ยังมีการแสดงจากนักเรียนในโรงเรียนเขตเทศบาล มีการแสดงดนตรี และฉายหนังกลางแปลง รวมถึงหนังที่บอกเล่าประวัติศาสตร์การก่อตั้งเมืองด้วย
ชุดที่แม่ใส่ฟ้อนวันนี้เป็นชุดภูไทดำ 1 ใน 4 ชนเผ่าภูไทของเมืองกาฬสินธุ์ แม่ไม่ใช่คนภูไทหรอก แต่ภูไทก็ถือเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมประจำจังหวัดเรา และชุดนี้ก็สวยมาก เราก็เลยตกลงกับช่างฟ้อนว่าจะสวมชุดภูไทไปร่วมพิธีกรรม
นอกจากประวัติศาสตร์ ชุมชนแม่ยังมีขนมเบื้องญวนเป็นของอร่อยขึ้นชื่อ ซึ่งมีการสืบทอดตำรับมาหลายรุ่น รวมถึงไส้กรอกปลากาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่นายกเทศมนตรี จารุวัฒน์ บุญเพิ่ม คิดค้นร่วมกับนักวิจัยด้านอาหาร เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาทีหลัง แต่ก็กลายเป็นของฝากขึ้นชื่ออีกอย่างของกาฬสินธุ์ โดยโรงงานที่ผลิตไส้กรอกปลาก็อยู่ในละแวกชุมชนเรานี่เอง
แม่อยู่กาฬสินธุ์มาหลายสิบปีแล้วนะ เห็นว่าช่วงหลังมานี่แหละที่เมืองมีการพัฒนาขึ้นมาก อย่างสมัยก่อนบริเวณริมคลองปาวนี่ดูไม่ได้เลย มีชุมชนแออัดมาอยู่ และค่อนข้างสกปรก เทศบาลก็ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ หาที่อยู่ใหม่ให้เขา และปรับปรุงภูมิทัศน์ให้กลายเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ ถนนหลายสายก็ได้รับการปรับปรุงดีขึ้นมาก
จริงอยู่ เมืองเราอาจไม่ได้มีโครงการขนาดใหญ่มาดึงดูดเศรษฐกิจหรือการท่องเที่ยว แต่ถ้าถามคนในเมืองอย่างแม่ ที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ดีมากแล้ว”
สายหยุด ตะติยรัตน์
ประธานชุมชนหน้าโรงเลื่อย