/

ตรุษจีนปากน้ำโพ ภาพสะท้อนการพัฒนาเมืองแบบคนนครสวรรค์

Start
184 views
47 mins read

ฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมผังเมืองไทยและเลขานุการกฎบัตรไทย นักวิจัยที่เข้ามายังเทศบาลนครนครสวรรค์และมีส่วนขับเคลื่อนให้เกิดคณะกรรมการกฎบัตรนครสวรรค์เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาเมือง กล่าวชื่นชมเมืองแห่งนี้ว่าเป็นเมืองที่เขาพบความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างน่าทึ่งและไม่เคยพบจากเมืองไหนมาก่อน ถึงขนาดนิยามว่านครสวรรค์มีศักยภาพเป็นเมืองหลวงแห่งกฎบัตรของประเทศไทย

เช่นเดียวกับสองคีย์แมนคนสำคัญอย่าง นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ จิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ และประธานสภาเทศบาลฯ สมศักดิ์ อรุณสุรัตน์ ที่ได้รับเสียงชื่นชมจากทั้งกลุ่มนักวิชาการ เครือข่ายภาคธุรกิจและภาคประชาชน ถึงความตั้งใจสานความร่วมมือและเปิดโอกาสให้คนนครสวรรค์ทุกกลุ่มมีส่วนในการแบ่งปันข้อคิดเห็นเพื่อกำหนดทิศทางของเมือง รวมถึงการออกแบบกรอบของกฎบัตรและแนวทางพัฒนาเมืองด้วยสมาร์ทซิตี้ ที่ครอบคลุมผู้คนทุกระดับ รวมทั้งผู้มีรายได้น้อยอย่างทั่วถึง

แต่นั่นล่ะ ไม่ใช่เพียงเพราะการที่เมืองมีผู้นำเข้มแข็ง เท่าที่ WeCitizens พูดคุยกับผู้คนหลายสิบรายในเมืองแห่งนี้ เกือบทั้งหมดตั้งข้อสังเกตว่า ที่เมืองมีนิมิตหมายแห่งการพัฒนาที่น่าชื่นชมเช่นนี้ได้เป็นเพราะความร่วมแรงร่วมใจของภาคธุรกิจและประชาชน ซึ่งเป็นผลมาจากการมีพื้นฐานทางวัฒนธรรม…

“ผู้คนในเมืองนี้ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวจีน ทุกคนจึงรู้จักกันหมดตั้งแต่รุ่นอากง กระทั่งทำธุรกิจแบบเดียวกัน น้อยรายที่จะมองเป็นคู่แข่งกัน ผมมองว่านี่คือจุดเด่นของเมืองนครสวรรค์” วิรัช ตั้งประดิษฐ์ กรรมการหอการค้า และประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 กล่าว

หรือเช่นที่ จิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีฯ กล่าวไว้…

“เทศบาลสร้างพาสานได้ก็เพราะผู้ประกอบการในปากน้ำโพรวบรวมเงินกันซื้อที่ดินบริเวณเกาะยม ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจะยกให้เทศบาล เป็นที่ก่อสร้างแลนด์มาร์คใหม่ของเมือง หรือองค์เจ้าแม่กวนอิมที่มีแผนจะจัดสร้างบริเวณอุทยานวัฒนธรรมต้นน้ำเจ้าพระยา มูลค่ากว่า 38 ล้านบาท นี่ก็เป็นเงินที่รวมกันเองของภาคประชาชนทั้งหมด”

จริงอยู่ที่นครสวรรค์เป็นเมืองที่รุ่มรวยด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ใช่เฉพาะคนไทยเชื้อสายจีนในย่านการค้าเท่านั้น หากก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เพราะวัฒนธรรมแบบ ‘ปั่กน่ำโพโหงวซก’ หรือวัฒนธรรมของคนจีน 5 ภาษา ที่เข้ามาตั้งรกรากในเมืองปากแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการบุกเบิกเมืองนับร้อยกว่าปีที่แล้ว ก่อนจะผสานเข้ากับวัฒนธรรมของคนต่างเชื้อชาติในพื้นที่ จนทำให้เมืองเล็กๆ แห่งนี้ กลายเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมในการพัฒนาหลากหลายมิติ

และเพื่อให้เห็นรูปธรรมของความร่วมมือดังกล่าว ไม่มีอะไรจะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ดีไปกว่าเทศกาลตรุษจีน หรืองานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ งานตรุษจีนประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย งานที่มีจุดเริ่มต้นจากความร่วมแรง ร่วมใจ และร่วมทุนจากคนปากน้ำโพ


FEATURE ฉบับเมืองแห่งการเรียนรู้นครสวรรค์ ฉบับนี้ จะพาไปสำรวจภาพสะท้อนการพัฒนาเมืองแบบคนนครสวรรค์ ผ่านเทศกาลที่กลายเป็นหน้าเป็นตาของเมือง เทศกาลที่ไม่เฉพาะคนจีน หากคนทุกเชื้อชาติในเมืองเมืองนี้ ล้วนมีส่วนขับเคลื่อนให้เกิดต่อเนื่องมากว่า 107 ปี จนถึงปัจจุบัน

ปากน้ำโพมาจากไหน

ก่อนไปทำความรู้จักตรุษจีนปากน้ำโพ เราอยากชวนทุกคนทำความเข้าใจชื่อเรียกของสถานที่จัดงาน นั่นก็คือเมืองปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์

‘ปากน้ำโพ’ คือจุดที่แม่น้ำปิง (ที่รวมกับแม่น้ำวัง) และแม่น้ำน่าน (ที่รวมกับแม่น้ำยม) ไหลมาสบรวมกัน จนเกิดเป็นต้นแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงสู่ภาคกลางผ่านกรุงเทพฯ ก่อนจะออกสู่อ่าวไทยที่สมุทรปราการ มีข้อสันนิษฐานถึงชื่อปากน้ำโพหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นชื่อที่เพี้ยนมาจากคำว่า ปากน้ำโผล่ หรือจุดที่ปากน้ำหรือต้นแม่น้ำปรากฏ หรือมาจากปากน้ำโพธิ์ เนื่องจากแต่เดิมมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำ

สุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียนและผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ชื่อ ‘โพ’ มาจากชื่อคลองโพในจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ไหลลงแม่น้ำน่าน แต่เดิมคนเรียกแม่น้ำน่านทั้งสายที่ไหลจากอุตรดิตถ์ลงนครสวรรค์ว่าแม่น้ำโพ และเรียกบริเวณที่เป็นปากน้ำที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปิงว่า ‘ปากน้ำโพ’

ทั้งนี้  ไม่ว่าที่มาที่แท้จริงคืออะไร หากผู้คนก็จดจำชื่อปากน้ำโพในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของเมืองนครสวรรค์ รวมถึงจุดที่แม่น้ำสำคัญ 4 สายในภาคเหนือมารวมกัน ก่อนจะทอดยาวหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในที่ราบลุ่มภาคกลางมานานหลายศตวรรษ

เมืองแม่น้ำสองสี

หากเราขึ้นไปบนพาสาน แลนด์มาร์คใหม่ของเมืองที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา จะเห็นความแตกต่างของสายน้ำทั้งสองสายได้อย่างชัดเจน โดยแม่น้ำน่านจะมีสีค่อนข้างแดง ส่วนแม่น้ำปิงจะมีสีค่อนข้างเขียว นั่นทำให้นอกจากนครสวรรค์จะถูกขนานนามว่า ‘เมืองสี่แคว’ จากการมีแม่น้ำ 4 สายไหลผ่าน ยังเป็นที่รู้จักในอีกชื่อว่า ‘เมืองแม่น้ำสองสี’ ด้วย

ปั่กน่ำโพโหงวซก –คนจีน 5 ภาษา ผู้บุกเบิกปากน้ำโพ

คำว่า ‘ปั่กน่ำโพโหวงซก’ เป็นภาษาจีน แปลว่า เมืองคนจีน 5 ภาษาในปากน้ำโพ ต้นกำเนิดของเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปช่วงปลายสมัยอยุธยา ในขณะนั้นประเทศจีนเกิดสงครามกลางเมือง ประสบภาวะข้าวยากหมากแพง ชาวจีนในมณฑลต่างๆ จึงมองหาอนาคตใหม่ ด้วยการแสวงโชคหอบเสื่อผืนหมอนใบออกเรือเดินทางจากแผ่นดินแม่ ล่องไปตามเส้นทางการค้า จนมาหยุดที่ดินแดนที่ปัจจุบันกลายเป็นประเทศไทย

นั่นคือยุคสมัยที่ชาวจีนเข้ามาตั้งรกรากในเมืองท่าหลายแห่งในบ้านเรา รวมถึงปากน้ำโพ ชัยภูมิสำคัญที่เป็นเสมือนศูนย์กลางการขนส่งทางเรือในสมัยก่อน ที่เชื่อมภาคเหนือและกลางไว้ด้วยกัน

ในบรรดาคนจีนทั้งหมดที่อพยพเข้ามาในนครสวรรค์ คนจีนไหหลำได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนที่อำเภอเก้าเลี้ยว และตำบลบ้านมะเกลือ อำเภอเมืองนครสวรรค์ ต่อมา คนจีนแต้จิ๋ว จีนแคะ จีนกวางตุ้ง และจีนฮกเกี้ยน ก็ทยอยตามกันมา โดยเลือกอาศัยอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง รวมถึงใกล้กับบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอเมืองนครสวรรค์ ซึ่งเป็นชัยภูมิสำคัญของการเดินเรือ

นับแต่นั้นคนจีนทั้ง 5 ภาษา ก็ได้เริ่มบุกเบิกการค้าในพื้นที่ จนเกิดเป็นตลาดปากน้ำโพ พร้อมกับนำอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความเชื่อของตนเองมาหลอมรวมเข้ากับวิถีชีวิตพื้นถิ่นจนเกิดเป็นรูปแบบทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และถูกเรียกขานว่า ‘ปากน้ำโพโหงวซก’ ในที่สุด

ศาลเจ้าพ่อ เจ้าแม่ ศูนย์กลางความศรัทธาชาวปากน้ำโพ

แม้คนจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในปากน้ำโพจะมีพื้นเพทางภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือการนับถือบรรพบุรุษและเทพเจ้า ซึ่งเมื่อพวกเขาไปถึงหรืออาศัยอยู่ที่ไหน ก็จะอัญเชิญเทพเจ้าที่ตนนับถือมาด้วย ที่ตลาดปากน้ำโพก็เช่นกัน ชาวจีนที่นับถือเจ้าพ่อเทพารักษ์ เจ้าแม่ทับทิม เจ้าพ่อกวนอู และเจ้าแม่สวรรค์ ก็ได้อัญเชิญเทพเจ้ามาพร้อมกับการตั้งศาลเป็นที่ประทับ โดยมีการตั้งอยู่สองศาลหลักๆ คือ ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ ริมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันออกของตลาดปากน้ำโพ และศาลเจ้าแม่หน้าผา ริมแม่น้ำปิง ที่บ้านหน้าผา บริเวณทิศเหนือของตลาดปากน้ำโพ

นอกจากนี้ เนื่องจากคนเชื้อสายจีนตั้งรกรากกระจายไปทั่วเมือง จึงมีการตั้งศาลเจ้าตามมาอีกหลายแห่ง อาทิ ศาลเจ้าพ่อกวนอู บริเวณถนนมาตุลี หรือศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ศูนย์การค้านครสวรรค์ บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครสวรรค์ อันเป็นย่านเศรษฐกิจใหม่ของเมือง เป็นต้น

เมื่อมีศาลเจ้าสถิตเป็นศูนย์กลางความศรัทธาของคนจีนในพื้นที่ นั่นทำให้ในทุกๆ วันตรุษจีน ชาวปากน้ำโพจะจัดพิธีเฉลิมฉลองด้วยการแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ทางเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยา (เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มีการตัดถนนครอบคลุมเมืองเช่นทุกวันนี้) โดยจะจัดพิธีกันสองวัน วันแรกจะอัญเชิญเจ้าพ่อเทพารักษ์ เจ้าพ่อกวนอู และเจ้าแม่ทับทิม ประทับบนเกี้ยวและนำลงเรือบรรทุกข้าวหรือเรือบรรทุกไม้ ล่องไปทางตลาดใต้ (ทิศใต้ของปากแม่น้ำเจ้าพระยา) ก่อนอัญเชิญกลับศาล ส่วนวันที่สองจะแห่ขึ้นทางเหนือ ฝั่งแม่น้ำน่าน (ที่รวมกับแม่น้ำยม) ไปทางสถานีรถไฟปากน้ำโพ

เหตุเกิดเพราะอหิวาตกโรค

ไม่มีการบันทึกว่าประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ทางเรือเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ กระนั้นจุดเปลี่ยนสำคัญ ซึ่งนำมาสู่การเริ่มต้นประเพณีนี้อย่างเป็นทางการคือราวปี พ.ศ.2460 เกิดโรคอหิวาตกโรคระบาดและคร่าชีวิตชาวปากน้ำโพไปจำนวนมาก ในสมัยนั้นการแพทย์ยังไม่มีการพัฒนาเช่นทุกวันนี้ ที่พึ่งเดียวสำหรับการรอดพ้นวิกฤตของผู้คนที่นี่คือการขอพรเจ้าพ่อและเจ้าแม่

ที่ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ มีการนำยันต์ (ฮู้) ของเจ้าพ่อเทพารักษ์ มาจุดไฟเผา เพื่อนำเถ้ากระดาษามาชงกับน้ำให้ชาวบ้านได้จิบ ด้วยความเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไปได้ ทั้งนี้ ในบันทึกจากเอกสารโบราณระบุว่าผู้คนที่จิบน้ำจากยันต์ดังกล่าวได้รอดพ้นจากโรคระบาดจริง นั่นทำให้คนปากน้ำโพจัดพิธีอัญเชิญเจ้าพ่อ-เจ้าแม่จากทุกศาลในเมืองมาจัดพิธีแห่รอบตลาด เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ พร้อมกับเป็นนัยของการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไปจากเมือง รวมถึงมีการเชิญคนทรงเจ้ามาทำพิธีรักษาโรค ก่อนจะมีการนำศิลปวัฒนธรรมของคนจีนแต่ละเผ่า อาทิ การแห่เสือ สิงโต และมังกร มาร่วมแสดงในขบวนในเวลาต่อมา

นับแต่นั้น ควบคู่ไปกับการแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ทางเรือ คนปากน้ำโพจึงจัดขบวนแห่รอบตลาด เพื่อเป็นสิริมงคล ก่อนที่ราวปี พ.ศ. 2493 จะมีการเปิดใช้สะพานเดชาติวงศ์ บริเวณทิศใต้ของตลาดปากน้ำโพ สะพานแห่งสำคัญที่เชื่อมเมืองเข้ากับภาคกลาง และเป็นสัญลักษณ์อันเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยแห่งท้องถนน ขบวนแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ทางเรือจึงยุติลง เหลือเพียงการแห่บนถนนรอบตลาดอย่างเดียวมาจนถึงปัจจุบัน

ตรุษจีนที่ไม่ใช่แค่ของคนจีน  

แม้นครสวรรค์จะเป็นเมืองที่มีชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยมากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากกรุงเทพฯ และภูเก็ต หากตรุษจีนปากน้ำโพก็เป็นประเพณีที่จัดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยทุกปีจะมีการจัดถึง 12 วัน 12 คืน บริเวณถนนริมน้ำในย่านตลาดปากน้ำโพ (ถนนริมปากแม่น้ำเจ้าพระยา) โดยในวันงานจะมีการอัญเชิญเทพเจ้าจากทุกศาลในตลาดมาประทับอยู่ ณ ศาลเจ้าชั่วคราว 2 ศาลในงาน ได้แก่ ศาลเหนือชั่วคราว ซึ่งอัญเชิญมาจากศาลเจ้าแม่หน้าผา และศาลใต้ชั่วคราว ซึ่งอัญเชิญเจ้าพ่อเทพารักษ์ เจ้าแม่ทับทิม เจ้าพ่อกวนอู และเจ้าแม่สวรรค์ มาจากศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ผู้คนได้สะดวกต่อการสักการะ รวมถึงสะดวกต่อการอัญเชิญเข้าร่วมขบวนแห่ ทั้งนี้ นอกจากศาลเจ้าชั่วคราวแล้ว ภายในงานยังมีโรงงิ้ว การออกร้าน และการแสดงบริเวณชายหาดที่หันหน้าเข้าหาศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา

ไฮไลท์ที่สำคัญของประเพณีนี้คือขบวนแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่รอบตลาดที่จะจัดขึ้น 2 วันสุดท้ายของเทศกาล โดยจะมีการแห่ 2 รอบ นั่นคือรอบกลางคืนในวันชิวซา (วันที่ 3 เดือน 1 ตามปฏิทินของจีน) เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 น. ไปจนถึง เวลา 22.00 น. และรอบกลางวัน ในวันชิวสี่ (วันที่ 4 เดือน 1 ตามปฏิทินของจีน) 

ทั้งนี้ ในขบวนแห่นอกจากจะมีเกี้ยวเจ้าพ่อเจ้าแม่องค์ต่างๆ ยังมีขบวนแห่สิงโต 5 ชาติพันธุ์ ได้แก่ เสือโตไหหลำ สิงโตทองฮากกา สิงโตปักกิ่ง สิงโตกว่องสิว (สิงโตกวางตุ้ง) และสิงโตฮกเกี้ยน ขบวนนางฟ้า ขบวนเด็กรำถ้วย ขบวนเอ็งกอ-พะบู๊ ขบวนองค์สมมติเจ้าแม่กวนอิม ขบวนนักแสดงที่เล่าตำนานปกรณัมของจีน และขบวนแห่มังกรทอง เป็นต้น

โดยผู้ร่วมขบวนก็ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเป็นอาสาสมัคร และได้รับการคัดเลือกจากพิธีเสี่ยงทาย (องค์สมมติเจ้าแม่กวนอิม) รวมถึงเป็นตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ของจังหวัด อาทิ สำนักงานจังหวัด เทศบาล และสถาบันการศึกษา โดยผู้ร่วมขบวนกว่าครึ่ง ก็หาได้เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนทั้งหมดแต่อย่างใด


กล่าวคือในขบวนเชิดสิงโตกว่องสิว ผู้เชิดอาจจะเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ คนแห่มังกรอาจเป็นคนพื้นเพนครสวรรค์มาแต่กำเนิด คณะนักดนตรีในวงดุริยางค์อาจนับถือศาสนาคริสต์ (นอกจากนี้ยังมีรถแห่ที่จัดโดยโรงเรียนคริสต์มาร่วมขบวนด้วย) ไปจนถึงผู้ชมและผู้ร่วมทำบุญเป็นพ่อค้าขายผ้าที่มีบรรพบุรุษมาจากอินเดียหรือปากีสถาน

เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า แม้ประเพณีนี้จะเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวจีน แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากคนทุกเชื้อชาติในจังหวัด เนื่องจากนี่คือประเพณีที่เป็นหน้าเป็นตา และสะท้อนความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของคนนครสวรรค์สืบเนื่องมากว่าศตวรรษ

 

เถ่านั้ง นักบริหารจัดการจากผู้ประกอบการและชาวบ้านในตลาด

แม้ในหลายทศวรรษหลัง ตรุษจีนปากน้ำโพจะกลายเป็นงานประจำจังหวัด ที่ได้รับงบสนับสนุนจากภาครัฐในการดำเนินงาน กระนั้นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการขับเคลื่อน รวมถึงงบประมาณในการจัดงานก็ยังมาจากการรวบรวมเงินของผู้คนในตลาดปากน้ำโพเป็นหลัก

และผู้ที่เป็นเหมือนตัวกลางหรือแม่งานในการจัดงานแต่ละครั้งก็คือคณะบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกมาจากห้างร้านต่างๆ และชาวบ้านในตลาด ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ‘เถ่านั้ง’

คำว่า “เถ่านั้ง” เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว “เถ่า” แปลว่า หัว “นั้ง” แปลว่าคน รวมกันแล้วก็คือ ผู้ที่เป็นหัวหน้าในการจัดงาน โดยในทุกปี จะมีการเสี่ยงทายต่อหน้าองค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ เลือก “คณะกรรมการจัดงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ประจำปี” ชุดใหม่ โดยเสี่ยงทายจากรายชื่อร้านค้าและประชาชนที่ร่วมทำบุญกับเจ้าพ่อ-เจ้าแม่

วิธีการเสี่ยงทายจะเป็นการโยนไม้เสี่ยงทายแบบของจีน 2 อัน หรือไม้ปวย ผู้ใดที่สามารถเสี่ยงทายได้ จะต้องได้คว่ำหงาย 2 ครั้ง และคว่ำทั้งสองอัน 1 ครั้งติดต่อกัน ทุกร้านค้าจะมีสิทธิ์เข้าเสี่ยงทายได้ 1 ชื่อเท่านั้น ไม่ว่าใครคนนั้นจะทำบุญด้วยเงินมากน้อยเพียงใด ก็มีสิทธิ์เสี่ยงทายได้เป็นคณะกรรมการเหมือนกัน

และนั่นทำให้คณะกรรมการฯ ในแต่ละปีผสมผสานไปด้วยผู้คนที่หลายหลายอาชีพ หลายวัย และฐานะทางสังคม ทั้งนี้ ผู้ที่ได้เป็นเถ่านั้งจะมีวาระการทำงานอยู่ที่ 1 ปี โดยจะไม่สามารถรับตำแหน่งนี้ได้อีกตลอด 5 ปีข้างหน้า ทำให้ส่วนผสมของเถ่านั้งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดทุกปี

เถ่านั้ง จะเป็นผู้รับผิดชอบการทำงานหลักในปีนั้นๆ โดยต้องดำเนินการประกอบกิจกรรมประเพณีทั้งหมด 8 งานตลอดปี ได้แก่ งานสมโภชศาลหลักเมือง งานแห่สรงน้ำเจ้าพ่อ เจ้าแม่ งานเฉลิมฉลองวันเกิดเจ้าพ่อกวนอู งานสารทจีนและงานเทกระจาด งานคัดเลือกองค์สมมุติเจ้าแม่กวนอิม งานวันเกิดเจ้าแม่ทับทิม งานแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ สรุปลงด้วยงานฉลองเลี้ยงขอบคุณในช่วงเทศกาลโคมไฟง่วนเซียว

และนี่เป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่งของงานตรุษจีนปากน้ำโพ ยังไม่นับรวมอาสาสมัครจากภาคส่วนต่างๆ ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนให้งานทุกปีลุล่วงไปด้วยดี และเพราะเหตุนี้ ท่ามกลางยุคสมัยที่สังคมเมืองมีความเป็นปัจเจกมากขึ้นทุกขณะ แต่ไม่ใช่กับเมืองปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ที่ทุกภาคส่วนต่างร่วมแรงร่วมใจกันแข็งขัน ซึ่งแน่ล่ะ ในรายละเอียดของงานย่อมมีความขัดแย้งหรือไม่ลงรอยกันบ้างเป็นธรรมดา แต่เมื่อเป้าหมายคือการต้องทำงานระดับเมืองร่วมกันในทุกปีมาตลอดร้อยกว่าปี ปากน้ำโพแห่งนี้จะไม่สามัคคีกันได้อย่างไร?

ข้อมูลประกอบการเขียน

  • ข้อมูลจากคณะกรรมการจัดงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ประจำปี
  • https://www.facebook.com/paknamphochinesenewyear
  • https://www.matichon.co.th/entertainment/arts-culture/news_23180
  • ข้อมูลจากงานวิจัย การพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบกฎบัตรเมืองอัจฉริยะเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางเศรษฐกิจและสังคม สู่นครสวรรค์เมืองแห่งการเรียนรู้ (มิ.ย. 2564 – พ.ค. 2565)

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย