“ถ้าคุณแค่ทำตามทีโออาร์ ด้วยการจัดตั้งตลาดให้ชาวบ้าน พอสิ้นสุดโครงการแล้วคุณก็ไป มันก็ไม่ต่างอะไรกับชวนชาวบ้านมาเล่นขายของ”  

Start
241 views
9 mins read

พี่มีอาชีพหลักเป็นครูโรงเรียนกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีอาชีพเสริมคือขายผ้าพื้นเมืองของชุมชน โดยพี่จะเป็นคนไปหาผ้าทอจากชุมชนต่างๆ เช่น ผ้าขาวม้าและผ้าคลุมไหล่ของตำบลโพนงาม ผ้าทอของอำเภอสามชัย หรือกลุ่มผ้าโทเร เป็นต้น มาขายตามงานต่างๆ ในเมืองกาฬสินธุ์ 

เวลาใครนึกถึงกาฬสินธุ์ จะคิดถึงผ้าไหมแพรวา ซึ่งเป็นของขึ้นชื่อ แต่นั่นล่ะ ผ้าไหมแพรวาไม่ได้เป็นผ้าทอชนิดเดียวที่มีในบ้านเรา และอีกอย่างราคาก็ค่อนข้างสูง ไม่ใช่ทุกคนจะซื้อหามาใช้ได้ พี่จึงเลือกผ้าทอชนิดอื่นๆ ที่มีราคาไม่แรงนัก ซึ่งกลุ่มแม่บ้านในกาฬสินธุ์ทอมาขาย เพื่อให้เห็นว่าบ้านเรามีภูมิปัญญาการทอผ้าที่หลากหลายและรุ่มรวยนะ 

หลักๆ ก็ขายที่ตลาดสร้างสุขตรงหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ทุกวันอังคารและพฤหัสบดี ส่วนงานฟื้นใจเมือง ที่ริมคลองปาวนี้มาขายชั่วคราว เหมือนเป็นการลองตลาดตรงพื้นที่ที่ทางเทศบาลเพิ่งฟื้นฟูใหม่นี้

ถึงจะเป็นคนขายของ และเห็นด้วยว่าเราควรช่วยชาวบ้านให้มีธุรกิจเสริมอย่างการเอาของชุมชนมาขายบนถนนคนเดิน แต่พี่ก็ยังเห็นว่าจะเป็นงานวิจัยเพื่อพัฒนาเมืองก็ดี หรือกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐก็ดี มันไม่ควรเป็นแค่การจัดตลาดแบบชั่วประเดี๋ยวประด๋าว หรือจัดอีเวนท์ขึ้นมา 2-3 วันแล้วก็เลิกกันไป

เพราะมีตัวอย่างหลายครั้งมากที่มีหน่วยงานต่างๆ หรือสถาบันการศึกษาก็ดี มาสนับสนุนให้ชาวบ้านทำนั่นทำนี่ แล้วพอโครงการสิ้นสุด เขาก็ทิ้งชาวบ้านไป ไม่ได้หากลไกมาสานต่อ จากที่เริ่มไว้ดีๆ ชาวบ้านมีความหวัง ก็เหมือนถูกทิ้งไปเสียดื้อๆ ชาวบ้านเขาไม่ได้ลงทุนเพื่อจะได้แต่งตัวสวยๆ เพื่อถ่ายรูปในอีเวนท์ไปวันๆ เพราะหลายคนเขาต้องลงทุนทั้งแรง เวลา และทรัพย์สินเพื่อหาของมาขาย

อย่างตลาดนัดเนี่ย เดี๋ยวหน่วยงานนั้นจัด หน่วยงานนี้ก็จัด กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าก็ตามไปขายในทุกงาน และอย่างที่ทราบกาฬสินธุ์เรามีคนไม่เยอะ คนที่มาเดินก็หมุนวนกัน เขาก็ไม่มีกำลังซื้อในทุกตลาดหรอก ก็ควรต้องคิดกันว่า ถ้ามีงบประมาณมาแล้ว เราจะมีทางเลือกที่ดีกว่าแค่จัดตลาดนัดใหม่อีกหนึ่งตลาด หรือจะทำอย่างไรให้ตลาดมันสามารถไปต่อของมันได้ โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณของโครงการ 

คืออย่างพี่ พี่ไม่กังวลหรอก เพราะมีอาชีพหลักอยู่แล้ว แค่อยากขายผ้าพื้นเมืองเป็นอาชีพเสริม จะได้ช่วยส่งเสริมกลุ่มทอผ้าด้วย แต่พ่อค้าแม่ค้าอีกหลายๆ คน เขาถูกชักชวนมาขาย เขาก็หวังว่ามันจะช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้น ถ้าคุณแค่ทำตามทีโออาร์ มันก็ไม่ต่างอะไรกับชวนเขามาเล่นขายของ

ถึงจะบอกแบบนี้ แต่พี่ไม่ได้แอนตี้อะไรตลาดนัดที่จัดอยู่ทั่วเมืองตอนนี้นะ เพียงแต่ก็อยากให้ภาครัฐหรือผู้มีส่วนขับเคลื่อนโครงการต่างๆ คิดถึงชาวบ้านให้มากๆ คุณมีงบประมาณ มีเครือข่าย และมีอำนาจในเชิงนโยบาย ก็อยากให้คิดถึงความยั่งยืนของคนที่คุณชวนให้เขามาร่วมงานด้วย”  

อุ่นจิต ทิสา
ครูโรงเรียนกมลาไสย และผู้ประกอบการจำหน่ายผ้าทอพื้นเมืองกาฬสินธุ์

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย