/

“ถ้าตลาดไนท์บาซาร์ได้รับการปรับปรุงแล้วเสร็จ ที่นี่จะกลายเป็นจุดขายแห่งใหม่ให้กับเมืองเราได้อย่างดีเยี่ยม”

Start
168 views
15 mins read

“พิษณุโลกเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนล่างมาแต่ไหนแต่ไร และเพราะเหตุนี้ แต่เดิมพื้นที่ย่านใจกลางเมืองที่อยู่ในความดูแลของเทศบาลนครพิษณุโลกจึงมีความคึกคัก ทั้งการเป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอย รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในฐานะที่ตั้งของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร พระราชวังจันทน์ ไปจนถึงวัดเก่าแก่และพิพิธภัณฑ์อื่นๆ

นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการที่มีมากถึง 300 กว่าหน่วย นั่นทำให้แม้ในช่วงโควิดที่ผ่านมา เมืองจะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้า แต่เศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่ภาคบริการการท่องเที่ยวจึงยังพอไปรอด เพราะยังมีการจับจ่ายใช้สอยของพนักงานราชการและพนักงานบริษัทเอกชนหมุนเวียนอยู่

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวมานี้กำลังจะเปลี่ยนไป เพราะอย่างที่ทราบกันว่าปัจจุบันมีการขยายตัวเมืองออกไปรอบนอกกันมากขึ้น ย่านเศรษฐกิจกระจายออกไปนอกเขตเทศบาล รวมถึง แผนการที่จะย้ายศูนย์ราชการออกไปนอกเมือง ซึ่งนั่นจะสร้างผลกระทบแก่เราโดยตรงในอนาคต เพราะผู้คนในย่านใจกลางเมืองจะลดลง เศรษฐกิจก็จะซบเซาตาม

ในฐานะเทศบาลนครพิษณุโลก ควบคู่ไปกับการดูแลสาธารณูปโภคและชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ดิฉันก็พยายามอย่างเต็มที่ในการสร้างแหล่งดึงดูดหรือกิจกรรมที่มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับตัวเมือง ทำให้เมืองยังคงเสน่ห์ของความน่าอยู่ น่าลงทุน และน่าท่องเที่ยว ทั้งนี้ เรากำลังอยู่ระหว่างทำแผนยุทธศาสตร์เตรียมเมืองในอีก 20 ปี โดยประสานกับนักวิชาการจากภาคส่วนต่างๆ มาดูกันว่าเราจะทำให้พิษณุโลกยังคงเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคได้อย่างไร และทำให้มันดีกว่าเดิมได้อย่างไร  

ในเชิงกายภาพ จากเดิมที่ดิฉันเคยปรับปรุงพื้นที่ริมแม่น้ำน่าน บริเวณถนนพุทธบูชา ให้กลายเป็นไนท์บาซาร์จนคึกคักในอดีต แต่ภายหลังที่ดิฉันเว้นวรรคจากการเป็นนายกเทศมนตรีหลายสมัย รวมถึงจากภาวะโควิด-19 ไนท์บาซาร์ในปัจจุบันจึงซบเซาอย่างหนัก อย่างไรก็ดี เมื่อได้กลับมาบริหารเทศบาลต่อ จึงเร่งปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณไนท์บาซาร์ให้กลับมาสวยงามและน่าดึงดูดเช่นเคย

ซึ่งก็สอดรับไปกับโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยนเรศวรเมื่อปีที่แล้ว ที่มีการฟื้นฟูชีวิตชีวาให้กับย่านตลาดใต้ที่อยู่ติดกัน โดยทางเทศบาลก็ต่อยอดโครงการนี้ด้วยการร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรในการทำ ‘ตลาดวัฒนธรรม ย่านตลาดใต้’ จัดเป็นถนนคนเดินทุกเย็นวันอาทิตย์ เป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอยแห่งใหม่ของคนในเมือง ผ่านการชูวัฒนธรรมผสมไทย-จีนที่เป็นอัตลักษณ์ของย่านนี้ให้เป็นจุดขาย นั่นทำให้จากเดิมที่คนจดจำตลาดใต้เฉพาะความเป็นตลาดเช้า ก็จะมีโอกาสได้มาสัมผัสบรรยากาศของตลาดแห่งนี้ด้วยมุมมองใหม่ในตอนเย็น

นอกจากนี้ ทางเทศบาลยังทำถนนคนเดินเย็นวันเสาร์บริเวณวัดจันทร์ตะวันออก (ถนนสังฆบูชา) ให้เป็นที่แหล่งจับจ่ายใช้สอยและพักผ่อนของคนในเมือง เช่นเดียวกับการจัดระเบียบแผงลอยยามค่ำคืนตามย่านต่างๆ อาทิ บริเวณหน้าสถานีรถไฟ รวมไปถึงถนนอาหารสุขภาพหน้าโรงพยาบาลกรุงเทพฯ และอื่นๆ ด้วยความตั้งใจให้พิษณุโลกมีแหล่งดึงดูดสำหรับการพักค้างแรมแก่นักท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนในเมือง 

ทั้งนี้ ดิฉันเชื่อมั่นว่าถ้าตลาดไนท์บาซาร์ได้รับการปรับปรุงแล้วเสร็จ จะกลายเป็นจุดขายแห่งใหม่ให้กับเมืองเราได้อย่างดีเยี่ยม

ที่ผ่านมา เทศบาลนครพิษณุโลกมีจุดยืนอันแน่วแน่ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กับผู้คนในเมือง โดยเฉพาะการจัดอีเวนท์หรือเทศกาลต่างๆ ที่ทางเทศบาลจะเป็นเจ้าภาพเองมาตลอด เพราะเราตระหนักดีว่าการจ้างออร์แกไนเซอร์จากที่อื่นมาทำ โอกาสของผู้ประกอบการในเมืองที่จะเข้าร่วมขายสินค้าในงานต่างๆ ก็จะน้อยลง แต่ถ้าเราจัดเอง เราก็จะสามารถเลือกพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นคนท้องถิ่นของเราเองมาขายสินค้าได้ก่อน

หรือหากมีหน่วยงานจากที่อื่นมาขอจัดงานในพื้นที่เรา เทศบาลก็จะตั้งเงื่อนไขในการแบ่งพื้นที่ให้ผู้ประกอบการในเมืองพิษณุโลกสามารถขายสินค้าของตัวเองด้วย คุณพาคนมาจากที่อื่นได้ไม่เป็นไร แต่ต้องมีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการบ้านเรา

และในฐานะประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก ดิฉันพยายามนำอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเมืองของเรามาเป็นจุดขายในการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นจากโบราณสถานที่ขึ้นชื่ออยู่แล้ว ไปจนถึงการผลักดันให้ย่านหรือชุมชนต่างๆ ชูจุดเด่นของตัวเองมาเสริมไปกับการท่องเที่ยว เพราะพิษณุโลกไม่ได้มีแค่วัดวาอารามหรือโบราณสถาน แต่เรายังมีวิถีชุมชนที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรม และอาหารการกินอร่อยๆ กระจายอยู่เต็มเมือง ก็อยากให้ทุกภาคส่วนช่วยกันขับเคลื่อนด้วยการหาวิธีสื่อสารของดีเหล่านี้ออกมาให้ทุกคนได้รับรู้อย่างทั่วถึงกัน”

ดร.เปรมฤดี ชามพูนท 
นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก และประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย