ป้าเป็นคนตะเคียนเลื่อน (ตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมืองนครสวรรค์) ปลูกผักพื้นบ้านและทำเกษตรตามวิถีธรรมชาติมาหลายสิบปีแล้ว ป้าทำเพราะเห็นว่าเราปลูกอะไร เราก็กินแบบนั้น ก็เลยไม่ใช้เคมี เพราะเราไม่อยากกินเคมีเข้าไป
ใช่แล้ว จะบอกว่าป้าทำมาก่อนที่จะเข้าใจเรื่องเกษตรปลอดภัยหรือเกษตรอินทรีย์ก็ได้ ถึงแม้ตอนหลังป้าอยากทำสวนป้าเป็นออร์แกนิก 100% แต่ก็พบว่ามีเงื่อนไขหลายประการที่ยังทำไม่ได้ ซึ่งก็ไม่เป็นไร เราทำเกษตรปลอดภัยที่เรามั่นใจกับผลผลิตเราได้ไปก่อน แล้วเดี๋ยวค่อยๆ ขยับต่อไป
พอมารู้จักกฎบัตรนครสวรรค์ จะบอกว่าเจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกันก็ได้ เพราะได้รู้จักเครือข่ายเกษตรกรที่ทำอาหารปลอดภัยเหมือนเรา และเขาก็ช่วยหาตลาดให้ พร้อมสร้างแนวร่วมส่งเสริมอาหารปลอดภัยให้คนในเมืองได้กิน
ที่สำคัญคือการได้ร่วมทำพื้นที่การเรียนรู้ด้านการเกษตรที่ ‘ฟาร์มสุขสมใจ’ ในตัวเมือง เหมือนเราได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนรุ่นหลังหรือผู้ที่สนใจ สนับสนุนให้เขาทำการเกษตรเองที่บ้าน หรือชักจูงให้เกษตรรายอื่นๆ หันมาทำเกษตรปลอดภัย หรือถ้าทางกฎบัตรได้องค์ความรู้อะไรใหม่ๆ เขาก็ชวนให้เราไปเรียนรู้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก
ขณะเดียวกัน เราก็ช่วยเหลือผู้ที่เข้ามาเรียนรู้กับเราในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การหาต้นพันธุ์ กิ่งพันธุ์ ปุ๋ย รวมไปถึงหาตลาด และช่องทางการขายออนไลน์อีกด้วย เราก็พยายามขยายเครือข่าย ชี้ให้เห็นว่าทำแบบนี้มันดียังไง ลดต้นทุนการผลิต ผู้ผลิตก็ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่สำคัญคือเราได้บุญ เพราะเราไม่ได้ส่งอาหารที่เป็นพิษให้คนอื่นกิน
ป้ามาทำตรงนี้แล้วมีความสุข วัดค่าเป็นราคาไม่ได้ เพราะเราเห็นทุกคนเป็นเพื่อนที่มีความหวังดีต่อคนอื่นๆ เหมือนกัน แน่นอน ป้าทำฟาร์มป้าก็คิดถึงการทำธุรกิจเพื่อหาเงิน เราก็ทำให้เราอยู่ได้ แต่ในอีกมุม พอมาทำพื้นที่การเรียนรู้ เราคิดว่ามันคือการแบ่งปันประสบการณ์ แบ่งปันความรู้ และแบ่งปันเครือข่าย เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกันเมื่อพวกเราเกษตรกรมีเครือข่าย เราก็สามารถต่อรองกับตลาดและต่อรองกับพ่อค้าคนกลางได้ด้วยเช่นกัน
ถ้าถามว่าเด็กรุ่นใหม่สมัยนี้ควรเรียนรู้อะไรให้มากๆ ป้าคิดว่าคือเรื่องบุญนิยมนะ ไม่ใช่ทุนนิยม เพราะความคิดเรื่องการทำบุญ หรือการแบ่งปันผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนมันค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมสมัยใหม่แล้ว อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักว่าการให้มันมีความสุขไม่ใช่แค่ผู้รับ แต่ผู้ให้ก็มีความสุขที่ได้ให้ ได้แบ่งปันด้วยเช่นกัน”
คำปัน นพพันธ์
เจ้าของไร่บ้านคำปัน และสมาชิกกลุ่มเกษตรและอาหารปลอดภัย กฎบัตรนครสวรรค์