“ผมเกิดลำปาง เรียนกรุงเทพฯ และย้ายมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม สอนที่นี่มาได้ 11 ปีแล้ว โดยซื้อบ้านอยู่กับภรรยาที่สอนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ผมกับภรรยามีลูกแฝด 2 คน ตอนนี้ทั้งคู่เข้าเรียนที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร พวกเขาเกิดและโตที่นี่ จะบอกว่าครอบครัวเราเป็นคนพิษณุโลกแล้วก็ได้
ความที่ผมสอนคณะครุศาสตร์ ผมจึงสนใจด้านการศึกษาและพื้นที่การเรียนรู้เป็นพิเศษ ซึ่งถ้าถามถึงเมืองพิษณุโลก แน่นอน เรามีสถาบันการศึกษาที่พร้อมในทุกระดับ แต่ในแง่มุมของพื้นที่การเรียนรู้ เมืองเรายังขาดอยู่มาก
ถามว่าเมืองมีพื้นที่การเรียนรู้ไหม ตอบว่ามีครับ… แต่มันกลับไม่ใช่พื้นที่ที่ทุกคนจะเข้าถึงได้ เพราะถ้าผู้ปกครองไม่ได้มีทุนทรัพย์พอ ก็ยากที่ลูกๆ ของพวกเขาจะได้ใช้ประโยชน์ อย่างคุณเป็นชนชั้นกลางก็อาจพาลูกไปเล่นสวนสนุกในศูนย์การค้า พาลูกไปเรียนศิลปะหรือเรียนพิเศษเพิ่มเติมตามความสนใจ แต่กับอีกหลายครอบครัว กระทั่งเวลาที่จะพาลูกไปยังไม่มี หรืออย่างเห็นได้ชัดในช่วงโควิด-19 ที่ทุกกิจกรรมการเรียนรู้ไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์ ครอบครัวหลายๆ ครัวเรือนกลับไม่มีกระทั่งอินเทอร์เน็ท ก็เป็นเช่นอีกหลายๆ จังหวัดในประเทศเรา ความเหลื่อมล้ำยังเป็นอุปสรรคอย่างเห็นได้ชัด
หรือถึงจะเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือกิจกรรมสาธารณะจำพวกอีเวนท์ แทบทุกแห่งและทุกงานที่เกิดขึ้นในเมืองพิษณุโลก ก็ล้วนสอดรับไปกับการปลูกฝังประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าเราเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่สอดคล้องกับพระนเรศวร ทั้งนี้ ผมก็ไม่ได้ต่อต้านหรือมีปัญหาอะไรเลยนะ เพียงแต่ถ้าคุณอยากเห็นมิติของความหลากหลายของคนรุ่นใหม่ในเมืองเมืองนี้ ที่เป็นอยู่ตอนนี้อาจไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร
นี่ยังไม่นับว่าการเรียนรู้เมืองหลายๆ องค์ความรู้มันอยู่ในรูปแบบอีเวนท์ หรือกระทั่งกิจกรรมที่เชื่อมร้อยกับงานวิจัย ซึ่งพอช่วงเวลาไหนเมืองมันไม่มีอีเวนท์ หรือกิจกรรมนั้นๆ ไม่มีงบประมาณมาขับเคลื่อนต่อ เมืองก็จะกลับมาอยู่ในโหมดเรียบๆ ปกติ อีเวนท์จึงไม่ตอบโจทย์วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบยั่งยืน พื้นที่จริงๆ สำหรับเด็กทุกระดับจึงไม่เกิด
อธิบายให้เห็นภาพ ครั้งหนึ่งพิษณุโลกเคยได้รับการโปรโมทให้เป็นเมืองจักรยาน มีการทำเส้นทางจักรยาน และนำจักรยานมาตั้งตามจุดต่างๆ เข้าใจว่าเป็นโครงการที่ได้รับงบสนับสนุนมาน่ะ พองบหมด จักรยานที่ตั้งไว้ก็ถูกยกไป บรรยากาศของการปั่นจักรยานที่เคยสร้างไว้ก็หายตาม เหลือแต่เพียงป้ายประชาสัมพันธ์นั่นนี่ที่ไม่สามารถใช้ได้จริง เป็นเศษซากของกาลเวลา พอจบแล้ว ก็แล้วกันไป
ถ้าถามถึงข้อเสนอแนะเรื่องพื้นที่การเรียนรู้… ผมเข้าใจนะ เราจะคาดหวังให้คนในสังคมอยู่ดีๆ มาทำเครือข่ายหรือพื้นที่การเรียนรู้ มันก็เป็นไปได้ยาก เพราะคนส่วนใหญ่ยังอยู่ภายใต้วิถีที่ต้องทำมาหากิน คนพิษณุโลกหลายคนยังต้องทำงานไปถึงอายุเจ็ดสิบ เพราะเราอยู่ใต้เส้นความเหลื่อมล้ำมานาน จนคิดว่าตัวเองจะมีพลังอะไรอีก แล้วทุกครั้งที่มันมีพื้นที่สร้างการเรียนรู้ มันก็เป็นแค่อีเวนท์ชั่วคราว ขณะเดียวกัน หลายๆ องค์กรเอกชนหรือเครือข่ายภาคประชาสังคมก็ทำหน้าที่แทนหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ท้องถิ่นแทบไม่ได้ขับเคลื่อนอะไรไปมากกว่าหน้าที่ปกติ อย่างทำเรื่องถนนหนทาง เสาไฟฟ้า สาธารณูปโภคอะไรแบบนี้ จากหน้าที่ที่รัฐควรต้องช่วยทำเพื่อทำให้เมืองพัฒนา กลับกลายเป็นหน้าที่ของภาคประชาสังคมที่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้มีงบประมาณหรือพลังมากพอจะทำให้เกิดเป็นรูปธรรม
แต่นั่นล่ะ ผมก็ยังเชื่อว่าภาคประชาชนอย่างเราคือส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางของเมือง กำหนดพื้นที่สาธารณะหรือสาธารณูปโภคที่เราอยากได้ มันต้องเริ่มจากประชาชน ขณะที่หน่วยงานท้องถิ่นก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรับฟังเสียงพวกเราเพื่อทำให้เกิดเป็นรูปธรรม ผมจึงเห็นว่าการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีพลังหรือมีงบประมาณพอที่จะทำตามความต้องการของประชาชนของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ หลายๆ โครงการที่ขับเคลื่อนโดยประชาชนหรือสถาบันการศึกษามีข้อเสนอที่ดี แต่หน่วยงานรัฐไม่กล้าทำเพราะกลัวว่าจะผิดระเบียบ หรือเพราะเห็นว่าอยู่เหนือหน้าที่
ซึ่งถ้าหน่วยงานท้องถิ่นมีอำนาจและความเป็นอิสระพอจะจัดการเมืองของตัวเองให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้คน สิ่งนี้จะย้อนกลับมาที่ภาคประชาชน ในการทำให้พวกเขาแอคทีฟกับเมืองของตัวเอง ด้วยความตระหนักว่าเสียงของพวกเขามีความหมายและสามารถขับเคลื่อนเมืองได้จริง และถ้าเป็นเช่นนั้น เมืองเรามันจะไม่ใช่แค่มีพื้นที่การเรียนรู้ให้กับคนทุกช่วงวัยเท่านั้น เราจะยังมีพื้นที่สาธารณะและสวัสดิการดีๆ ที่ตอบโจทย์สำหรับทุกคน”
อาจารย์ ดร. อรรฏชณม์ สัจจะพัฒนกุล
อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลย์สงคราม