“ผมเป็นคนในหมู่บ้าน จริงๆ ดั้งเดิมเป็นชื่อหมู่บ้านโรงไม้ หรือหมู่บ้านปากน้ำเวฬุ ศาลเจ้าตรงนี้เขาเรียกศาลเจ้าปากน้ำเวฬุ พอมีโฮมสเตย์เขาเลยเปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้านไร้แผ่นดิน เพราะว่าบ้าน สะพาน ปลูกในน้ำหมด อยู่กัน 200 กว่าหลังคาเรือน อีกฝั่งแม่น้ำก็เป็นพื้นที่เดียวกัน แต่อยู่บ้านนากุ้ง ฝั่งนี้อยู่หมู่ 2 บ้านโรงไม้ ตำบลบางชัน ประชากรก็มีเป็นพันได้นะครับ ทั้งเด็ก คนแก่ คนโต อยู่กันเหมือนพี่ๆ น้องๆ รู้จักกันหมด บางทีบ้านนู้นบ้านนี้ก็ไปกินข้าวได้
ผมทำอาชีพประมง พอหมู่บ้านทำโฮมสเตย์ ก็มารับจ้างขับเรือเป็นอาชีพเสริม ส่วนใหญ่คนที่ทำโฮมสเตย์ก็เป็นคนในหมู่บ้าน เขาอยากทำ แต่บ้านผมไม่ได้ทำ รับจ้างขับเรือก็เรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับแขกที่มา ตอนนี้ถ้าทำประมงอย่างเดียว ถามว่า อยู่ได้มั้ย ก็อยู่ได้นะ พอกินพอใช้ จริงๆ ก็จับปลากินได้ ไม่ต้องซื้อ การประมงไม่ได้ทำทุกวัน ขึ้นอยู่กับจังหวะของน้ำ น้ำนึงทำประมาณ 7-8 วัน เดือนนึงก็ทำ 10 กว่าวันเอง แล้วก็หยุด มีเวลาว่าง เราก็วิ่งเรือ ถ้าเป็นแต่ก่อนไม่มีโฮมสเตย์ ก็พักผ่อนอยู่บ้าน เวลานักท่องเที่ยวเข้ามาก็ไม่ได้วุ่นวาย กิจกรรมท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน เขามาโฮมสเตย์ไหน ก็พักที่โฮมสเตย์นั้น มากินข้าวกลางวัน ไปเดินเที่ยว อาจจะช่วยชาวบ้านซื้อของฝากอะไรบ้าง บางคนอยากไหว้เจ้าก็มีคนพาไปส่ง พอถึงเวลาเขาก็ลงแพออกไปเล่นน้ำ ดูเหยี่ยว กลับมากินอาหารเย็น เป็นปู อาหารทะเลล้วนๆ ถึงตอนเช้าก็ข้าวต้มทะเล กาแฟ แล้วก็นั่งเรือกลับ
ที่อยู่ตอนนี้ก็ดี แต่ที่คับข้องใจคือเรื่องน้ำ ถ้ามีน้ำประปาเข้าถึงได้ก็ดี แต่ทีนี้มันก็ไม่ได้ง่ายๆ ใช้งบประมาณเยอะ เวลาหมดหน้าฝน ชาวบ้านไปซื้อน้ำแพงมาก เรือไปเอาจากฝั่งมา ช่วงที่แพงๆ แทงก์นึงประมาณ 350 บาท ปกติประมาณ 170 บาท ขึ้นไปเท่าตัว ชาวบ้านก็ใช้น้ำประหยัดๆ ก็เก็บน้ำในโอ่งอยู่ แต่นานๆ ก็ไม่พอ บางบ้านอยู่กัน 6-7 คน เพราะเวลาหน้าแล้ง 3-4 เดือนฝนไม่ตกเลย หลังจากพฤศจิกายน ก็แล้งยาวถึงมีนาคมเลยนะ สภาพสิ่งแวดล้อม การประมงก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาล อย่างกุ้งกุลาดำมีเฉพาะช่วงหน้าหนาว หน้าอื่นก็ไม่มีอยู่แล้ว ก็น้อยลงกว่าเมื่อก่อน สมัยก่อนหาได้เยอะ สมัยนี้หาได้น้อยลงกว่าเก่า แต่ดีที่ได้ราคาเพิ่มขึ้น อย่างเมื่อก่อนเคยขาย สมมติ กิโลละ 100 ตอนนี้อาจจะได้ 150-160 บาท มันทดแทนกัน ที่นี้หมู่บ้านก็จะลำบากเรื่องเดินทาง ต้องใช้เรืออย่างเดียว แล้วน้ำมันก็แพง ค่าครองชีพขึ้น ไปกลับท่าเรือปลายจันท์-ขลุง ก็ประมาณเกือบ 40 กิโลเมตร ไกลนะ ขานึงเกือบ 20 กิโล ดีที่ทุกบ้านมีเรือประมงของตัวเอง แล้วก็มีเรือรับจ้าง คนในหมู่บ้านก็เดินทางกันแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร”
ชยพล สืบวงษ์ชัย
ชาวประมง-คนขับเรือ หมู่บ้านไร้แผ่นดิน