เรียนรู้ราชบุรีผ่านวิถี ประวัติศาสตร์ และความครีเอทีฟ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชวลิต ขาวเขียว
“เวลาพูดถึงราชบุรี คนส่วนมากจะคิดถึงโอ่งมังกรและสวนผึ้ง แต่ถ้ามองลึกลงไป เมืองแห่งนี้คือพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของดินแดนสุวรรณภูมิในอดีต พ่อค้าจากจีนและอินเดียต่างเดินทางมาค้าขาย จนเกิดการแลกเปลี่ยนและสั่งสมทางศิลปวัฒนธรรม ราชบุรีจึงเป็นทั้งพื้นที่การค้าและวัฒนธรรมในระดับโลก เรื่องราวตรงนี้แหละคือบทเรียนสำคัญ ถ้าคนราชบุรีได้เรียนรู้ พวกเขาจะเกิดความภาคภูมิใจ และสิ่งนี้จะกลายมาเป็นแรงขับสำคัญในการพัฒนาเมืองต่อไป”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชวลิต ขาวเขียว หัวหน้าโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ราชบุรี บอกเล่าถึงแนวคิดเบื้องหลังการขับเคลื่อนโครงการ
การพัฒนาเมืองราชบุรีสู่ความเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้บนฐานเศรษฐกิจท้องถิ่นและวัฒนธรรม คือชื่อของโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการในปี พ.ศ. 2564-2565 ที่คณาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ คณะโบราณคดี และคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อยอดมาจากโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าราชบุรีสู่เมืองสร้างสรรค์และน่าอยู่ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเริ่มต้นขับเคลื่อนในปี 2563
โครงการเมืองแห่งการเรียนรู้นี้แบ่งออกเป็นโครงการย่อย 2 โครงการ ได้แก่ หนึ่ง. โครงการพัฒนาคลังข้อมูลสารสนเทศศิลปวัตนธรรมเมืองราชบุรีและการพัฒนาต้นแบบแหล่งเรียนรู้ (Learning City) : เมืองประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม และสอง. การบริหารจัดการองค์ความรู้จากศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นเพื่อพัฒนาสู่แผนการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและเชื่อมแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชนต่อยอดคุณค่าสู่สังคมอย่างยั่งยืน
กล่าวอย่างรวบรัด นี่คือโครงการย่อยที่ทำงานเชื่อมต่อกัน โดยเริ่มจากการทำ local study เกี่ยวกับเมืองราชบุรีเพื่อสร้างฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม ก่อนจะเข้าสู่โครงการที่ 2 คือการนำฐานข้อมูลนี้สร้างแนวทางการบริหารจัดการองค์ความรู้ และสื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับเมืองแก่สถาบันการศึกษาและบุคคลทั่วไป
โดยผลลัพธ์ของโครงการ นอกจากจะได้ฐานข้อมูลเมืองแล้ว ยังได้มาซึ่งกระบวนการทำงาน สื่อการเรียนรู้สนุกๆ อย่างบอร์ดเกมเมืองราชบุรี นิทรรศการย่อยเล่าเรื่องเมืองซึ่งหลอมรวมเข้ากับประติมากรรมและสตรีทอาร์ทอันเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของเมืองบริเวณริมแม่น้ำแม่กลอง งานออกแบบในรูปแบบของที่ระลึกของเมืองซึ่งเกิดจากการสร้างสรรค์ของเยาวชน ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีภาพเสมือนจริงผ่าน HoloLens มาคืนชีพโบราณวัตถุสำคัญคู่เมืองให้ผู้คนได้รับชมกัน โดยจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
WeCitizens สนทนากับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชวลิต ขาวเขียว ถึงเบื้องหลังการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวก่อนจะเปลี่ยนผ่านเป็นสื่อทางการเรียนรู้ที่หลากหลาย รวมถึงความมุ่งหวังให้ผลจากสิ่งที่เขาและทีมงานร่วมกันสร้างสรรค์ทั้งหมด ไปสู่ฟันเฟืองการพัฒนาให้ราชบุรีเป็นเมืองน่าอยู่ที่เปี่ยมไปด้วยบรรยากาศของการเรียนรู้อย่างยั่งยืน
ขอเริ่มต้นตรงที่มาของโครงการนี้ก่อน อาจารย์เข้ามาทำได้อย่างไรครับ
โครงการนี้เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าราชบุรีสู่เมืองสร้างสรรค์และน่าอยู่ ในปี พ.ศ. 2563 มี ศาสตราจารย์ ดร.นันทนิตย์ วานิชาชีวะ (รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการ อว. ส่วนหน้า จังหวัดราชบุรี) เป็นหัวหน้าโครงการ โครงการ ดังกล่าวทางมหาวิทยาลัยศิลปากรได้รับทุนจาก บพท. มาขับเคลื่อน โดยผมก็เป็นหนึ่งในทีมงานด้วย จนมาปี 2564 บพท. ยังสนับสนุนทุนต่อ แต่เปลี่ยนหัวข้อมาเป็นเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้
ความที่ทีมของเราทำงานกับราชบุรีมาหนึ่งปีแล้ว ได้ทั้งฐานข้อมูล เครือข่ายชุมชน และบทเรียนต่างๆ จากการทำงานในปีแรก เราจึงเห็นถึงศักยภาพในการใช้โครงการนี้มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมือง โดยลดขนาดทีมนักวิจัยจากปีแรกลงให้ตอบโจทย์โครงการ เหลืออยู่ 2 ทีมหลักๆ คือทีมคณะโบราณคดีที่เน้นไปทางการศึกษาหาข้อมูลประวัติศาสตร์ และทีมคณะมัณฑนศิลป์ที่เน้นด้านการออกแบบ ซึ่งอาจารย์นันทนิตย์ ก็มอบหมายให้ผมเข้ามาเป็นหัวหน้าโครงการต่อไป
ทำไมมหาวิทยาลัยศิลปากรต้องเลือกพื้นที่เมืองราชบุรีเป็นพื้นที่ทำโครงการด้วยครับ
กล่าวในกรอบของการทำงาน มหาวิทยาลัยศิลปากรเรามีสำนักบริหารการวิจัย นวัตกรรมและการสร้างสรรค์ ซึ่งดูแลโครงการวิจัยของภาคตะวันตกของประเทศอยู่แล้ว และเราก็มีหน่วยปฏิบัติการ อว. ส่วนหน้าประจำจังหวัดราชบุรี ซึ่งมีอาจารย์นันทนิตย์ เป็นหัวหน้าโครงการ จึงเป็นพันธกิจของมหาวิทยาลัยเราในการทำโครงการวิจัยในพื้นที่
อย่างไรก็ดี ในส่วนตัวฐานะที่เป็นอาจารย์ด้านโบราณคดี ผมก็เห็นศักยภาพของเมืองเมืองนี้ในฐานะที่เป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญในระดับภูมิภาค แต่ที่ผ่านมา การศึกษาประวัติศาสตร์ในบ้านเรายังมีแก๊ป (gap) หรือช่องว่างตรงนี้อยู่ จึงคิดว่าถ้าเราขับเคลื่อนโครงการนี้โดยให้คนราชบุรีได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเอง จะมีส่วนสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเมืองได้มาก ทั้งนี้ นอกจากเป็นหัวหน้าโครงการหลัก ผมยังเป็นหัวหน้าโครงการย่อยที่ดูเรื่อง local study เพื่อพัฒนาเป็นคลังข้อมูลด้านศิลปวัตนธรรมเมืองราชบุรี โดยตรงด้วย
อยากให้อาจารย์ช่วยขยายความแก๊ปทางการศึกษาประวัติศาสตร์ที่กล่าวมาให้หน่อยครับ
ทุกวันนี้การเรียนประวัติศาสตร์ในบ้านเรามันยังวนเวียนอยู่แค่กระแสหลัก เราทุกคนรู้ว่าก่อนจะมีประเทศไทย เรามีอาณาจักรชื่อสุโขทัย แล้วก็ย้ายศูนย์กลางมาอยู่ที่อยุธยา แต่จริงๆ การเกิดขึ้นของไทยเรามีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่านั้น และราชบุรีก็เป็นพื้นที่ที่เคยมีบทบาทสำคัญตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงยุคทวารวดี
และพอมาถึงยุคปัจจุบัน กระแสการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หรือ local study กำลังมา ผู้คนในพื้นที่ต่างๆ ก็มีทั้งที่รู้อยู่แล้วและไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับบ้านเมืองของตัวเอง และถึงแม้คนที่รู้อยู่แล้ว เขาก็อาจจะคิดว่าก็ฉันรู้แล้ว แล้วยังไงต่อ เพราะเราไม่มีกระบวนการดึงความรู้ท้องถิ่นมาต่อยอดกับชีวิตปัจจุบันได้ โดยแก๊ปดังกล่าวยังรวมถึงการทำงานของหน่วยงานด้านการศึกษาระดับประเทศและระดับท้องถิ่นที่ขาดการเชื่อมต่อ ผมจึงเห็นว่าโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ ไม่เพียงจะทำให้คนในเมืองรู้เรื่องเมืองตัวเองและต่อยอดได้ แต่ยังช่วยสร้างกลไกเชื่อมการศึกษาในระดับต่างๆ เข้าด้วยกันด้วย
ในฐานะที่อาจารย์ลงพื้นที่เพื่อทำ local study ตั้งแต่ทำโครงการเมืองสร้างสรรค์และน่าอยู่ อาจารย์มองเห็นผลตอบรับด้านความเข้าใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของคนราชบุรีอย่างไรบ้างครับ
ราชบุรีมีกลุ่มที่สนใจในการศึกษาประวัติศาสตร์ของบ้านเกิดตัวเองจริงๆ หลายกลุ่มนะครับ ซึ่งเราก็ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายเหล่านี้อย่างดีเสมอมา อย่างไรก็ตาม ก็เหมือนกับทุกๆ เมืองที่ผมเคยเข้าไปทำการศึกษา ยังมีอีกหลายกลุ่มที่ไม่สนใจเลย เพราะเขาไม่เห็นว่าการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จะมีผลอะไรต่อวิถีชีวิตของพวกเขา เขาก็จะตั้งคำถามว่าแล้วไง รู้ไปแล้วจะทำให้ฉันรวยขึ้นไหม
พอเจอคำถามแบบนี้ อาจารย์ตอบเขาอย่างไร
ก็ต้องทำให้เขาเข้าใจก่อนว่าเศรษฐกิจของราชบุรีส่วนหนึ่งอยู่ได้เพราะที่นี่เป็นเมืองท่องเที่ยว แล้วถ้าคุณจะพัฒนาเมืองให้รองรับกับการท่องเที่ยว เบสิก (basic) หรือความรู้พื้นฐานของคนในเมืองก็ควรต้องมีให้แน่นก่อน โครงการนี้มันคือการสร้างเบสิกเรื่ององค์ความรู้เกี่ยวกับเมืองให้กับคนในเมือง เมืองของคุณมีจุดขายตั้งเยอะแยะที่ไม่ใช่แค่อำเภอสวนผึ้ง ถ้าเรารู้และมาร่วมกันทำ ไม่ใช่แค่เราจะได้เครื่องมือในการดึงดูดเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่องค์ความรู้นี้ยังมีส่วนทำให้คนรุ่นใหม่ในราชบุรีภาคภูมิใจในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในภาพใหญ่ เราจะสร้างแนวร่วมในการดูและและพัฒนาเมืองได้อีกมาก
ในฐานะนักโบราณคดี อาจารย์จะเล่าถึงจุดขายของราชบุรีให้คนอื่นฟังอย่างไร
เวลาผมไปพูดบนเวทีไหนๆ ก็ตาม ผมจะย้ำเสมอว่าราชบุรีไม่ได้มีแค่โอ่งมังกร หรือแหล่งท่องเที่ยวอย่างสวนผึ้ง แต่ที่นี่เป็นเมืองประวัติศาสตร์สำคัญระดับนานาชาติ ถ้ามองลึกๆ แล้วราชบุรีเป็นพื้นที่จุดยุทธศาสตร์ของดินแดนสุวรรณภูมิในอดีต พ่อค้าจากจีนและอินเดียเดินทางมาค้าขายที่นี่ จนเกิดการแลกเปลี่ยนและสั่งสมทางศิลปวัฒนธรรม ราชบุรีจึงเป็นทั้งพื้นที่การค้าและวัฒนธรรมในระดับโลก ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากการค้นพบลูกปัดและโครงกระดูกมากมายตามแหล่งโบราณคดี และมีการพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นอาณาจักรทวารวดีที่บ้านคูบัว ซึ่งเป็นรากฐานของศิลปวัฒนธรรมไทยในยุคต่อๆ มา
คือพวกคุณอยู่ในพื้นที่ที่เจ๋งที่สุดเว้ย คุณมีรากเหง้าที่คนในเมืองอื่นๆ ต้องอิจฉา กระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 1 ก่อนจะปราบดาภิเษกท่านก็เคยรับราชการที่นี่ ตระกูลบุนนาคก็เคยอยู่ที่นี่ ขณะที่ตลอดประวัติศาสตร์หลายร้อยปี ผู้คนจากชาติพันธุ์ต่างๆ ก็มาอาศัยอยู่มากมาย พื้นที่ตรงนี้ถูกหล่อหลอมด้วยความหลากหลายของผู้คน ส่งผ่านถึงภูมิปัญญาและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ส่งต่อมาถึงปัจจุบัน
อันนี้แหละที่ทุกคนควรจะรับรู้ ไม่ใช่แค่คนราชบุรีนะ คนทั้งประเทศ ทั้งโลก ควรจะภูมิใจว่านี่คือพื้นที่ที่มีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมมากๆ แห่งหนึ่ง เพราะเอาเข้าจริงแทบไม่มีจังหวัดไหนในประเทศ ที่คุณมาเที่ยวแค่วันเดียวแต่ได้เรียนรู้รากเหง้าของคนไทยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาถึงปัจจุบันเลยนะ อย่างคุณไปโคกพริก คุณจะได้เห็นว่าแต่ก่อนคนยุคก่อนประวัติศาสตร์เขาอยู่อย่างไร เดินต่อมาอีกหน่อยก็เจอบ้านคูบัวที่เป็นยุคทวารวดี เข้าเมืองมา ก็เจอทั้งเขมร สุโขทัย อยุธยา มาจนถึงรัตนโกสินทร์ ทั้งหมดคุณสามารถย้อนรอยได้ภายในวันเดียว ผมจึงอยากทำตรงนี้เป็น ‘ราชบุรีโมเดล’ ในแง่มุมของแหล่งเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ ให้จุดแข็งทางประวัติศาสตร์มาส่งเสริมด้านเศรษฐกิจของเมือง
อันนี้เป็นรากฐานสำคัญของการขับเคลื่อนโครงการย่อยที่ 1 เลยใช่ไหมครับ
ใช่ครับ เราต้องทำให้ทุกคนรู้ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ ในโครงการย่อยที่ 1 ผมทำงานร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช และ อาจารย์ศศิธร ศิลป์วุฒยา โดยต่อยอดกิจกรรม Culture Learning Lab ที่ทำมาตั้งแต่โครงการในปี 2563 เราเซ็น MOU กับโรงเรียนต่างๆ ในราชบุรี เพื่อจัดอบรมการศึกษาเรียนรู้เมืองจากฐานข้อมูลที่เราทำไว้ ก่อนจะทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ชวนเยาวชนและผู้ที่สนใจมาร่วมกันมองเมือง ช่วยกันพิกัดจุดประวัติศาสตร์ แล้วจัดปฏิบัติการโต๊ะกลม หรือ Desk Project เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาและออกแบบเมือง มีการประกวดการออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวของเมือง และอื่นๆ ขณะเดียวกันเราก็ดึงทางเทศบาลเมืองราชบุรีเข้ามาด้วย ให้เขารับรู้ว่าเยาวชนเขาคิดอย่างไร และเทศบาลจะต่อยอดไอเดียใหม่ๆ นี้จนเกิดเป็นรูปธรรมอย่างไรได้บ้าง
เหมือนโครงการย่อยที่ 1 เป็นการระดมความคิดกันเพื่อหาแนวทางการออกแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ในโครงการย่อยที่ 2
ใช่ครับ พอเรามีฐานข้อมูลที่ชัดเจนแล้ว ก็เข้าสู่โครงการย่อยที่ 2 ซึ่งเราได้อาจารย์จากคณะมัณฑนศิลป์มารับช่วงต่อ เพื่อออกแบบสื่อการเรียนรู้ให้เป็นรูปเป็นร่าง มีการหา key product ของเมือง อย่างผ้าทอ งานเซรามิก บอร์ดเกม และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ร่วมสมัย และสร้างรายได้ให้กับเมืองต่อไปได้
นอกจากนี้ เรายังนำเทคโนโลยีเสมือนจริงผ่านแว่น HoloLens มาใช้กับวัตถุจัดแสดงภายในพื้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ด้วย อย่างถ้าคุณมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ จะพบเศียรพระพุทธรูป ศิลปะทวารวดีที่พบในวัดมหาธาตุ เราก็ใช้เทคโนโลยีนี้มาสร้างภาพโฮโลแกรมให้ผู้ชมเห็นว่าพระพุทธรูปองค์สมบูรณ์เป็นอย่างไร หรือที่ประดิษฐานดั้งเดิมของประติมากรรมคนแคระที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ทำให้ผู้ชมเข้าใจบริบท ที่มา และภาพรวมของประวัติศาสตร์ในยุคทวารวดี เสริมไปกับการจัดแสดงวัตถุนิ่งๆ ภายในพิพิธภัณฑ์
ตอนนี้เรายังไปดูงานโฮโลแกรมที่พิพิธภัณฑ์ได้อยู่ไหมครับ
เราจัดแสดงช่วงเดือนกันยายน (2565) ช่วงเดียวครับ ตอนนี้ไม่มีแล้ว แต่ก็กำลังคุยกับทางไมโครซอฟต์ต่อว่าจะเอาโมเดลนี้ไปใช้กับแหล่งเรียนรู้อื่นๆ รวมถึงนำไปเป็นสื่อการสอนในโรงเรียน ซึ่งทางไมโครซอฟต์ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาอยู่ ก็หวังให้มันเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ เพราะอย่างทุกวันนี้ใครไปดูโบราณสถานคูบัว เขาก็อยากเห็นว่าสภาพที่สมบูรณ์มันจะเป็นอย่างไร เทคโนโลยีตรงนี้จะช่วยดึงดูดการท่องเที่ยวได้อีกมาก
แล้วทางภาครัฐมีแนวทางที่จะต่อยอดโครงการที่อาจารย์ทำทั้งหมดอย่างไรบ้างครับ
โดยเบื้องต้น ทางเทศบาลเขาให้ความสนใจ ก็ให้การสนับสนุนด้านพื้นที่อย่างเต็มที่ แต่ในเชิงนโยบาย เขาก็อยู่ในขั้นตอนการรับฟังและหาแนวทางพัฒนาต่อ ส่วนทางด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ซึ่งเป็นของกรมศิลปากร ก็มาร่วมกับเราในแง่ของการเปิดพื้นที่ ทั้งนี้ ในโครงการย่อยของเรายังมีแนวคิดด้านการสร้างกระบวนการการตลาดพิพิธภัณฑ์ หรือ Museum Market อย่างการใช้โฮโลเลนส์นี่ก็เป็นกิจกรรมหนึ่ง เราอยากร่วมพัฒนาให้พิพิธภัณฑ์ในบ้านเราเป็นมากกว่าสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุอย่างเดียว แต่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ครอบคลุมกับวิถีชีวิตร่วมสมัยของคนในเมือง รวมถึงแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ผู้คนในเมืองร่วมกันออกแบบ
ในด้านการศึกษาล่ะครับ มีแผนจะนำฐานข้อมูลที่เราได้มาไปพัฒนาเป็นหลักสูตรบ้างไหม
เรามองเรื่องการทำหลักสูตรท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่ด้วยกรอบงบประมาณที่จำกัด เราจึงเชื่อมโยงกับโครงการอื่นที่ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ขอทุนจาก บพท. มาเหมือนกัน โดยโครงการนั้นขับเคลื่อนหลักโดยคณะศึกษาศาสตร์ ก็มีแผนจะนำฐานข้อมูลตรงนี้ไปบรรจุในหลักสูตร หรือการนำบอร์ดเกมเมืองราชบุรีที่เราออกแบบมา ไปเป็นกิจกรรมเสริมในสถาบันการศึกษาด้วย
ทราบมาว่าอาจารย์ไม่ได้รับทุนจาก บพท. ต่อ แล้วคิดว่าเราจะนำงานวิจัยที่เราทำทั้งหมดนี้ไปต่อยอดอย่างไร
เรามองถึงเรื่องการฝังกลไกเมืองแห่งการเรียนรู้ให้อยู่ในแนวทางการพัฒนาเมืองของรัฐ ต้องเล่าก่อนว่า pain point ของงานวิจัยส่วนใหญ่ก็คือการที่แต่ละโครงการมีเวลาที่จำกัด นักวิจัยลงพื้นที่มาทำงาน เสร็จสิ้นตามช่วงเวลาแล้วก็จากไป ข้อมูลที่ได้มาก็ไม่ถูกนำไปต่อยอดจริงๆ เสียที เหมือนจุดพลุให้ชาวบ้านเห็นว่าสวยดี แล้วพลุก็ค่อยๆ จางหายไป ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือเราจำเป็นต้องทำ MOU กับหน่วยงานรัฐในทุกระดับให้ได้ จะเทศบาล อบจ. หรือระดับจังหวัดก็แล้วแต่ เพื่อกระตุ้นให้เขารับรู้ว่าเขามีต้นทุนที่ดีอยู่แล้วนะ
ขณะเดียวกัน การสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายชุมชนและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้เล่นหลักจริงๆ ก็สำคัญ เพราะในขณะที่หน่วยงานรัฐ ถ้าเปลี่ยนผู้บริหาร นโยบายก็อาจเปลี่ยนได้ แต่ถ้าทำให้ทั้งรัฐและชุมชนเห็นภาพตรงกัน ตรงนี้ก็จะช่วยรับประกันว่าสิ่งที่เราได้ทำร่วมกันจะไม่สูญเปล่า
นอกจากนี้ เรามีแผนนำงานวิจัยนี้โดยโฟกัสที่ฐานข้อมูลเมืองโบราณคูบัวซึ่งเป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับดินแดนสุวรรณภูมิส่งมอบให้กับสถาบันธัชชา (วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย) ของกระทรวง อว. เพื่อนำไปพัฒนาต่อ เพราะในการนำงานวิชาการไปใช้เป็นรูปธรรม ก็ต้องฝากให้ภาครัฐ สถานศึกษา และเครือข่ายชุมชน นำไปต่อยอด ส่วนเราก็ต้องต่อยอดการศึกษาที่ได้มาให้เข้าไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนรู้ระดับประเทศต่อไป
แล้วภาพฝันของโครงการนี้ที่อาจารย์อยากเห็นล่ะครับ
ก็อย่างที่บอก ผมอยากเห็นฐานรากของเมืองแข็งแรง เครือข่ายชาวบ้านเข้มแข็ง มันไม่ใช่แค่กับเมืองราชบุรีหรอก แต่อยากให้ผู้คนในท้องถิ่นทุกที่ไม่ดูถูกบ้านเกิดตัวเอง อยากให้ทุกคนภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นพลเมืองของเมืองนั้นๆ
สำหรับการคาดหวังให้ราชบุรีเป็นเมืองท่องเที่ยว ผมว่านั่นไม่ใช่ปลายทางหลัก แต่เป็นผลกำไรที่มันจะตามมาเองมากกว่า เพราะถ้าเราตั้งต้นว่าราชบุรีต้องเป็นแหล่งท่องเที่ยว ไม่มีทางสำเร็จหรอกครับ คนราชบุรีจำเป็นต้องเห็นความสำคัญของตัวเขาเองและเมืองเพื่อให้เกิดความรัก ความหวงแหน และการเป็นเจ้าของร่วมกันก่อน ถ้าพวกเขาอินกับเมืองที่เขาอยู่ จะพัฒนาหรืออนุรักษ์อะไรมันก็ง่าย