/

“บางครั้งผมรู้สึกเหมือนตลาดแก่งคอยมีรูปแบบเหมือนกรุงเทพฯ ตรงที่หาที่จอดรถยากมาก และถ้าคุณมาทำธุระในเมือง คุณต้องใช้วิธีวนรถ ให้เพื่อนลงไปทำธุระ และคุณขับไปหาที่จอดที่อื่นรอก่อน”

Start
128 views
12 mins read

“ผมเป็นผู้รับเหมามาก่อน ทำได้พักใหญ่ๆ ก็กลับมาสานต่อธุรกิจของแม่ที่แก่งคอย เป็นรุ่นสอง ร้านทองร้านนี้เริ่มโดยคุณแม่ แม่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่เกิดในแก่งคอย ตอนเด็กๆ แกเคยเล่าให้ฟังว่ายังวิ่งหนีลูกระเบิดอยู่เลย หลังสงครามโลกสิ้นสุด ผู้คนที่รอดชีวิตในสมัยนั้นก็มาเริ่มธุรกิจจากศูนย์กันใหม่ๆ แม่ก็เริ่มทำงานหลากหลายจนได้มาเปิดร้านทอง ลูกค้าหลักๆ คือคนแก่งคอยและอำเภอใกล้เคียง ทั้งผู้ประกอบการในตลาด ข้าราชการ รวมถึงคนทำงานโรงงานรอบๆ ผมก็จะไปเลือกทองคำรูปพรรณจากร้านขายส่งที่เยาวราช พิจารณาจากความนิยมของคนที่นี่ และนำมาวางขายที่ร้าน

ข้อได้เปรียบของการขายทองคือต่อให้เศรษฐกิจแย่ยังไง ถึงกำลังซื้อลดลง แต่มันก็ยังคงเป็นที่ต้องการ ถ้าช่วงไหนเศรษฐกิจแย่ คนก็จะซื้อน้อยลงและเลือกมาขายกับร้านมากขึ้นเพื่อเอาเงินสดไปหมุนเวียน หรือบางคนถูกล็อตเตอรี่ เขาก็จะเลือกซื้อทองเพื่อสะสมหรือมองว่าเป็นการลงทุน ราคาทองจะขึ้น-ลงตามราคาตลาดโลก และมันไม่ได้ซื้อขายกันแค่ในท้องถิ่น อย่างช่วงไหนทองมีราคาถูกลง ต่างประเทศเขาก็มารับซื้อที่ร้านขายส่ง ซื้อ-ขายทองก็เหมือนน้ำที่เทกันไปเทกันมา

ช่วงที่ขายดีที่สุดน่าจะเป็นช่วงสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหวัณ หรือก่อนฟองสบู่แตกครับ ตอนนั้นราคาทองไม่แพง บาทละหกถึงเจ็ดพันบาทได้ แล้วเศรษฐกิจโดยรวมดี โรงงานในสระบุรีดีมากๆ ร้านเราได้ลูกค้ากลุ่มโรงงานเยอะ หรือก่อนที่ผมจะมาทำร้านนี้ แม่เล่าว่าสมัยที่ผู้คนนิยมเดินทางด้วยรถไฟ และเขายังขนส่งพืชไร่ทางเรือมาลงท่าน้ำแก่งคอยอยู่ ทองที่ร้านก็ขายดี เพราะผู้ประกอบการหลายครอบครัว เขาเอาพืชไร่มาส่งหรือมาขายที่นี่ ได้เงินสดกลับไป เขาก็จะเอาบางส่วนไปซื้อทองเพื่อสะสมหรือเก็งกำไร และร้านเราอยู่บนถนนหน้าสถานีรถไฟที่เชื่อมไปยังท่าน้ำด้วย เลยได้ขายไปด้วย

ส่วนช่วงนี้เงียบลงเยอะครับ เข้าใจว่าเศรษฐกิจไม่ดี และพอเมืองมันขยาย ก็มีร้านทองใหม่ๆ มาเปิดรอบนอก ดักคนทำงานโรงงานไว้ แต่เราดีหน่อยที่มีลูกค้าประจำ ก็พอได้อยู่

ถามว่าปัญหาของเมืองคืออะไร ถ้ามองแค่ในเขตเทศบาลแก่งคอยที่ผมอยู่ หลักๆ ก็เรื่องเศรษฐกิจซบเซา ทั้งจากเศรษฐกิจภาพรวมและผู้คนย้ายออกไปอยู่ที่อื่นเสียเยอะ หรือเลือกที่จะไปจับจ่ายใช้สอยในตลาดหรือศูนย์การค้าใหม่ๆ รอบนอก

ถ้าใกล้ตัวลงมาหน่อยก็เรื่องที่จอดรถ เพราะแก่งคอยมันเป็นเมืองที่โตมาในยุคที่คนยังไม่มีรถส่วนตัวกันเยอะเหมือนทุกวันนี้ ย่านตลาดและย่านการค้าจึงมีที่จอดรถไม่เพียงพอ แถมเราก็ยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนด้วย อันนี้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ชาวแก่งคอยนอกเขตเทศบาลหลายคน ตัดสินใจไม่เข้ามาซื้อของในตลาดถ้าไม่จำเป็น เพราะเขามีทางเลือกอยู่รอบนอกหมดแล้ว และพอเข้ามาหาที่จอดรถไม่ได้อีก เขาก็เซ็งกัน

ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของตึกในย่านเขาก็เลือกที่จะจอดรถส่วนตัวไว้ริมถนนหน้าบ้านตัวเอง ลูกค้ามาก็หาที่จอดรถไม่ได้อีก บางครั้งผมรู้สึกเหมือนที่นี่เป็นกรุงเทพฯ ในแง่ที่ว่า ถ้าคุณจะขับรถมาซื้อของหรือทำธุระในเมือง พอหาที่จอดรถไม่ได้ คุณก็จะส่งคนที่มาด้วยลงไปทำธุระ และคนขับก็วิ่งวนไปหาที่จอดที่อื่นไกลๆ เพื่อรอให้อีกคนทำธุระเสร็จ ค่อยวนกลับมาเข้ามารับในตลาด

อันนี้ส่วนหนึ่งก็ต้องโทษผู้ประกอบการเราเองด้วย หลายบ้านเขาก็จอดรถตายไว้ในตลาดเลย ลูกค้ามา เขาก็หาที่จอดไม่ได้ เรื่องนี้เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน เทศบาลก็เคยชวนชาวบ้านมาคุยกันเรื่องการจัดสรรที่จอดรถ แต่ก็ยังไม่เห็นผลอะไร

แต่ก็เข้าใจได้ บางคนมีบ้านหลังเดียวในตลาด เขาก็ไม่รู้จะไปจอดไว้ตรงไหน ผมดีหน่อยที่มีบ้านอีกหลังที่มีที่จอดรถ ปกติก็จะใช้มอเตอร์ไซค์ขี่มากับภรรยามาเปิดร้าน ไปไหนมาไหนก็ใช้มอเตอร์ไซค์ ถ้าจำเป็นต้องใช้รถ ก็ขี่มอเตอร์ไซค์ไปเปลี่ยนที่บ้านหลังนั้น แต่นั่นล่ะ หลายคนไม่ได้มีทางเลือกแบบนี้ ผมจึงคิดว่าถ้าเทศบาลคิดถึงการทำที่จอดรถกลางและมีรถรับ-ส่ง ก็อาจช่วยบรรเทาปัญหานี้ไปได้เยอะ”

จงรักษ์ แสงพัธสีมา
เจ้าของร้านทอง ‘ห้างทองปราณี

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย