“ปากช่องเป็นเมืองน่าอยู่ อากาศดี
รถไม่ติด เป็นเมืองที่ถ้าคนไม่ขี้เกียจ
ไม่มีตกงาน”

Start
308 views
17 mins read

“เดิมเปิดร้านข้าวต้มกับธุรกิจอีกแบบควบคู่กันที่จังหวัดตาก เราไม่มีแบ็กกราวด์ทำอาหารมาก่อน แต่รู้สึกว่าอยากทำ แรกๆ ก็ลองผิดลองถูก ซักปีกว่าๆ ก็เริ่มประสบความสำเร็จ แต่ทำร้านอยู่ประมาณ 5 ปี อยากกลับมาอยู่บ้าน เราเป็นคนปากช่อง แต่ไม่ค่อยได้อยู่ปากช่อง ก็กลับมาเริ่มจากเล็กๆ ต่อเติมไปเรื่อยๆ คนเริ่มรู้จัก อาจจะด้วยราคาที่ไม่แพง จริงๆ ถนนเส้นธนะรัชต์ อาหารแต่ละร้านราคาสูง ราคานักท่องเที่ยว แต่เรารู้สึกว่านักท่องเที่ยวอย่างเดียว ก็จะได้แค่ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ แต่ถ้าขายราคาที่ลดลงมา จะได้พนักงานในโซนนี้ที่ทำงาน ทำโรงแรม แล้วคนปากช่องก็เข้าถึง คนในพื้นที่สามารถมากินได้

เมนูของร้านข้าวต้ม กม.9 ที่ลูกค้าชอบ คือ ปลาช่อนลุยสวน ไส้พะโล้ทอด สามชั้นทอดน้ำปลา ถ้านั่งกินที่ร้าน เราก็ให้ข้าวต้มฟรี เป็นข้าวต้มใบเตย เมื่อก่อนที่อยู่ตาก มีปัญหามากเรื่องพ่อครัวเปลี่ยนรสชาติเปลี่ยน พอเขาไม่อยากมา เขาก็ไม่มา มีที่ใหม่ เขาก็ไป พอมาทำร้านที่ปากช่องเลยให้พี่สาวกับพี่เขยของพี่สาวอีกคนมาช่วยเป็นพ่อครัวแม่ครัว เขาอยู่กรุงเทพฯ อยากกลับมาอยู่บ้าน ดูแลพ่อแม่ ก็พอดี เขาทำอาหารเป็นอยู่แล้ว ก็มาปรับสูตรปรับรสชาติกัน จ้างเป็นเงินเดือน แต่เราอยู่ด้วยกันแบบครอบครัว ญาติพี่น้อง พนักงานในร้านก็มีที่เป็นลูกหลาน เลิกเรียน 4 โมงเย็นก็มาทำงานที่ร้าน 2-3 ชั่วโมง ได้รายได้พิเศษ ไม่ต้องรบกวนพ่อแม่ กับข้าวพนักงานทำมาก็นั่งกินด้วยกันหมด ร้านเปิดทุกวัน เทศกาลก็ไม่ได้หยุดเลย มีหยุดสามวันหลังตรุษจีน พนักงานในครัวไปเที่ยวทะเลกัน แต่ก็มีปิดประมาณ 2 เดือนช่วงโควิดที่ไม่ให้ลูกค้านั่งกินที่ร้าน คือถ้ายังนั่งกินที่ร้านได้ ลูกค้าก็ยังมี พอให้ซื้อกลับอย่างเดียว เงียบ ไม่คุ้มกับการที่เราต้องจ้างพนักงาน เพราะร้านข้าวต้มเปิดตอนเย็น take-away ก็มีน้อย เราพยายามเปิดตั้งแต่เที่ยงเหมือนกัน แต่ด้วยความติดแบรนด์ข้าวต้ม กม.9 ใครจะมากินข้าวต้มตอนกลางวัน มันก็ยากเหมือนกัน บางวันขายของ เงินจ่ายพนักงานยังไม่พอ กำไรไม่ต้องพูดถึง ก็ต้องดึงให้อยู่ให้ได้ พนักงานเราก็ยังคงอยู่ พอประคับประคองได้

หลังจากโควิดผ่านไป ร้านเปิดได้ตามปกติ เราก็เพิ่มการแสดงดนตรีสด เพื่อดึงดูดคน และเราก็ชอบอยู่แล้ว กินข้าว นั่งฟังดนตรี มีดื่มบ้าง มันเพลิน อีกอย่าง ไม่ได้ชาร์จค่าอาหารเพิ่ม ไม่ได้ชาร์จค่าเครื่องดื่ม ค่าเซอร์วิส เพียงแต่เอาตรงนี้เหมือนเป็นกำไรให้ลูกค้า เรามีดนตรีเล่นสดทุกวัน นักดนตรี 3 คนสลับกัน เล่นสองทุ่มถึงสี่ทุ่มครึ่ง เราออดิชันนักดนตรี คนที่มีงานเยอะๆ ดังๆ จะไม่เรียกมา เขามีงานอยู่แล้ว เราให้คนที่ไม่มีงานเล่นที่ไหนดีกว่า ให้มาลองเล่น ค่าตัวเท่านี้นะ รับไหวก็มา เขาก็ดีตรงที่ถ้ายังมีลูกค้าเขาเล่นให้เกินเวลาก็มี บางคนก็ได้ทิปเยอะนะ ช่วงหลังโควิด ร้านก็โอเคขึ้น ถึงไม่ได้กำไรเยอะ แต่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ถ้าเทียบกับสมัยก่อนดีขึ้นนะ อาจจะเป็นด้วยลูกค้ารู้จักมากขึ้น ทางเฟซบุ๊กเพจร้านข้าวต้ม กม.9 ลูกค้ามากินก็เช็คอิน คนมากินแล้วก็แนะนำกันมา

เราซื้อไข่อารมณ์ดีกับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์โครงการเขาใหญ่ ปากช่อง เมืองอาหารอินทรีย์ ก่อนนี้เราซื้อไข่จากร้านที่สั่งประจำที่ตลาด เปลี่ยนมาซื้อกับเครือข่ายฯ ราคาต่างกัน 10-15 บาท ถือว่าไม่ต่างมาก แต่ความต่างคือสี สีสวย ปรุงอาหารสวยขึ้น สมมติไชโป๊ผัดไข่ ถ้าใช้ไข่จากตลาด จะไม่ค่อยแดงเท่าไหร่ แต่พอเป็นไข่อินทรีย์ มันจะแดง น่ากิน ไข่เจียวก็น่ากิน เวลาผัดใส่ข้าวผัดก็สีสวย ลูกค้าสังเกตได้ บางคนบอกว่าวันนี้ไข่สวย ในแง่เราเป็นผู้ประกอบการ ถ้าทำให้ราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์ใกล้เคียงกับราคาตลาดได้ คนก็จะเลือกอาหารอินทรีย์มากกว่า ทุกวันนี้เราบริโภค ก็ต้องดูว่าปลอดสารมั้ย อย่างไข่ บางฟาร์มก็ยังมีสารปนเปื้อน เรามองว่าโครงการเขาใหญ่ ปากช่อง เมืองอาหารอินทรีย์ เป็นไปได้นะ คือถ้าเป็นอินทรีย์ทั้งอำเภอได้ จะโอเคเลย

ปากช่องเป็นเมืองน่าอยู่ อากาศดี รถไม่ติด เราไปอยู่จังหวัดตากเกือบสิบปี รถไม่ติด แต่เป็นจังหวัดที่ร้อนปานกลางกับร้อนที่สุด ไม่มีร้อนน้อย หน้าฝนก็ร้อน แต่ที่นี่ ตกบ่ายมา อากาศเริ่มโอเค บ้านเราเปิดโล่ง ไม่ต้องติดแอร์ก็อยู่ได้ คนปากช่องก็โอเค ใจดี ก็มีทั้งดีไม่ดีนะคนเราไม่ว่าที่ไหน คุณภาพชีวิตก็ดีพอสมควร เศรษฐกิจหมุนเวียนดี เป็นเมืองที่ถ้าคนไม่ขี้เกียจไม่มีตกงาน อยู่ที่ว่าคุณจะทำมั้ย มีงานตลอด มีทั้งรีสอร์ต โรงแรม ฟาร์มโคนม ฟาร์มไก่ โรงนมก็มีมาตั้งแต่สมัยเราเป็นเด็ก แล้วปากช่องพัฒนาเร็วมาก เราไปที่อื่นนะ พูดถึงตากแล้วกัน เรากลับมาอยู่นี่ 5 ปี กลับไปที่ตาก ยังเหมือนเดิม มีเซเว่นอีเลฟเว่น แต่ก็ยังอยู่แค่นั้น แต่ปากช่องมีร้านใหม่ผุดขึ้นเรื่อยๆ เพราะนักลงทุนมองเห็น เป็นอำเภอที่คนมาเที่ยวเยอะที่สุดของจังหวัด นี่คือยังดรอปช่วงโควิดนะ เพราะหลายๆ ร้านอยู่ไม่ไหว ต้องปิดไป แต่พอเปิดมา ก็เริ่มมีร้านใหม่ๆ

ร้านเราอยู่กิโลเมตรที่ 9 ถนนธนะรัชต์ ก็มองเห็นความเปลี่ยนแปลงนะ ความเจริญไปถึงไหน ถนนก็จะดีไปเรื่อยๆ อย่างตอนนี้มีก่อสร้างที่กั้นแบร์ริเออร์ตรงเกาะกลางถนน เราเข้าใจว่ามันป้องกันอุบัติเหตุได้ แต่การใช้ชีวิตของคนแถวนี้ก็จะยากนิดนึง ด้วยความเจริญที่เข้ามา ก็ต้องมีสิ่งพวกนี้ตามมาอยู่ละ เพียงแต่ต้องใช้เวลาปรับตัว ก่อนหน้านี้ถ้ามาจากถนนใหญ่เส้นมิตรภาพเข้ามา ก็เลี้ยวเข้าร้านได้เลย ตอนนี้ต้องไปยูเทิร์น ลูกค้าต้องเพิ่มความพยายามมาร้านเรา บางคนก็อาจไม่เลี้ยวละ เลยไป ก็มีผลเหมือนกัน ช่วงนี้ยังไม่ชิน พออยู่ไป มันก็ค่อยชิน ค่อยคุ้น เพราะเราอยู่กับมันทุกวัน”

ณิชานันทน์ โชติธนัชชัย
ร้านข้าวต้ม กม.9

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย